หากต้องการคาดคะเนผลการเลือกตั้ง เราควรจะเดินไปถามใครดี?
บางคนอาจนึกถึงสารพัดสำนักโพลที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปัจจุบัน ส่วนบางคนอาจฟังความเห็นจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง แต่หากเราไปถามนักเศรษฐศาสตร์ พวกเขาจะบอกว่าให้ลองถาม ‘ผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐาน’ พร้อมกับอ้างถึงทฤษฎีผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐาน (Median Voter Theorem) ทำนายว่า ถ้าเราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งจะเท่ากับตัวเลือกที่ผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานลงคะแนนให้
แต่ก่อนจะไปพูดถึงทฤษฎี ผู้เขียนขอใช้พื้นที่สั้นๆ เพื่ออธิบายว่าค่ามัธยฐานคืออะไร
มัธยฐาน (Median) ที่ว่า คือค่ากลางในทางสถิติ ความโดดเด่นของค่ามัธยฐานคือการสะท้อน ‘ค่ากลาง’ ที่แม่นยำกว่าในกรณีที่กลุ่มข้อมูลมีค่าสุดโต่ง ทั้งค่ากลางที่ได้ยังเป็นตัวเลขจริงที่ปรากฏในกลุ่มข้อมูลอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น นาย ก. และผองเพื่อน 4 คนทำงานได้เงินเดือน 7,000/ 8,000/ 10,000/ 14,000/ 90,000 บาท หากคำนวณแบบค่าเฉลี่ยธรรมดา เราจะสรุปว่านาย ก. และผองเพื่อนมีเงินเดือนรวมกันเท่ากับ 25,800 บาท แต่จะเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวแทบไม่บอกอะไรเลย เป็นตัวเลขที่ลอยมาจากฟ้าและแทนค่าใครก็ไม่รู้ สาเหตุของความผิดเพี้ยนนี้เกิดจากเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มที่มีเงินเดือนสูงลิ่วจนดึงค่าเฉลี่ยผิดเพี้ยน
แต่ถ้าเราเลือกใช้ค่ามัธยฐาน ซึ่งเป็นการเรียงลำดับจากน้อยไปหามากแล้วหยิบ ‘ค่าตรงกลาง’ มาเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่าง เราก็จะสรุปว่า ค่าแทนของรายได้นาย ก. และผองเพื่อนเท่ากับ 1 หมื่นบาท ซึ่งสะท้อนภาพ ‘คนส่วนใหญ่’ ได้ดีกว่า
ว่าด้วยทฤษฎีผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐาน
ผมอยากให้ทุกท่านจินตนาการการกระจายตัวของรสนิยมทางการเมืองของประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงมีหน้าตาเหมือนชามที่คว่ำไว้ โดยมีกลุ่มหนึ่งเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้ายและอีกกลุ่มเอนเอียงไปทางฝ่ายขวา แต่คนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวกันอยู่ตรงกลาง ที่หมายถึงค่ามัธยฐานของกลุ่มประชากร
นั่นหมายความว่า เหล่าพรรคการเมืองอาจเปิดตัวอย่างชัดเจนว่า ยึดฝั่งซ้ายแบบสุดตัวหรือฝักใฝ่ฝ่ายขวาแบบสุดโต่ง แต่นานวันเข้าเราก็จะเห็นการขยับปรับเปลี่ยนนโยบายให้ ‘กลาง’ มากขึ้นเพื่อเอาใจผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ยึดถือแนวคิดสุดโต่งและไม่ยอมปรับตัว ก็แทบจะไม่มีโอกาสชนะในสนามเลือกตั้ง
ภาพข้างต้นคือพื้นฐานของทฤษฎีผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐาน ที่คิดค้นโดย ฮาโรลด์ โฮเตลลิ่ง (Harold Hotelling) นักสถิติชาวอเมริกัน และดันแคน แบล็ก (Duncan Black) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ ที่ต่อมาได้รับการพัฒนาคำอธิบายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดย แอนโธนี ดาวน์ส (Anthony Downs)
ดาวน์สพบว่า การคาดคะเนผลการเลือกตั้งด้วยสมมติฐานข้างต้น และพฤติกรรมของพรรคการเมืองค่อนข้างสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยสามารถทำนายผลการเลือกตั้งได้แม่นยำอย่างยิ่งหากเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคการเมืองและใช้วิธีนับคะแนนแบบเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแข่งขันของหลายพรรคการเมือง หรือระบบการนับคะแนนแบบสัดส่วน (เหมือนกับการคิดโควตา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของไทย) ผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาก็จะมีรสนิยมทางการเมืองที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย
ทฤษฎีข้างต้นยังมีข้อจำกัดสำคัญ 2 ข้อ คือ
1. แนวคิดทางการเมืองจะแบ่งออกเป็น 2 ฝักฝ่าย เช่น สังคมนิยมเอียงซ้ายหรืออนุรักษนิยมเอียงขวา ทั้งนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องระบุได้อย่างชัดเจนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรควางตัวเองอยู่ตำแหน่งใด
2. สมมติฐานว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นคนที่มีเหตุมีผล คนเหล่านี้จะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับตนเอง แต่เท่าที่เราทราบกันดีว่า คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทางการเมืองด้วยอารมณ์ โดยเฉพาะในยุคที่กระแสความเกลียดชังเกิดขึ้นได้ง่ายดายบนโลกออนไลน์
ถึงจะมีข้อจำกัดมากมายแต่ทฤษฎีดังกล่าวก็น่ารับฟัง เพราะบทบาทของ ‘ผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐาน’ สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านสารพัดนโยบายของพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ที่มีบางส่วนคล้ายกันราวกับลอกกันมา
ใครคือผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานของไทย
ภารกิจตามหาผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานของไทยไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องปะติดปะต่อตัวเลขสถิติต่างๆ ที่กระจัดกระจายจากหลากแหล่ง ต่างวิธี และสำรวจคนละปี แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะตกหล่นไปบ้าง แต่ก็คงจะสะท้อนภาพคนไทย ‘โดยเฉลี่ย’ ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการของใครหลายคน
ผมขอเริ่มจากลักษณะเชิงประชากรศาสตร์ แม้จะได้ยินได้ฟังคำว่าสังคมสูงอายุมายาวนาน แต่พอได้ลองสร้างแผนภาพประชากรไทยแบ่งตามช่วงอายุก็น่าตกใจไม่น้อย เพราะคนกลุ่มใหญ่อยู่ในวัย 40–59 ปี โดยมีประชากรร่วม 20 ล้านคน ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมีเพียงราว 15 ล้านคนเท่านั้น จากแผนภาพด้านล่างเราก็สรุปได้ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานของไทยคือคนวัย 40–49 ปี และเป็นผู้หญิงซึ่งมีประชากรมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย
ในแง่ของการประกอบอาชีพ ประชากรไทยที่มีงานทำกว่า 1 ใน 4 อยู่ในภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมง รองลงมาคือพนักงานบริการและจำหน่ายสินค้า และผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน เช่น ทำความสะอาด ก่อสร้าง หรือส่งของ เป็นต้น ถึงกระนั้น มีแรงงานเพียง 11.6 ล้านคน ที่เป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคมภาคบังคับ โดยมีประชาชนอีกราว 13 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมภาคสมัครใจ ขณะที่เหล่าผู้ได้รับสวัสดิการข้าราชการมีอยู่ราว 1 ล้านคนเท่านั้น คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ แต่ได้รับการดูแลภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
ขณะที่ในด้านการศึกษา คนไทยอายุมากกว่า 6 ปี 9 ใน 10 คนสามารถอ่านออกเขียนได้ โดยค่าเฉลี่ยของจำนวนปีที่อยู่ในระบบการศึกษาของคนอายุ 15–39 ปี อยู่ที่ 11 ปี หรือเทียบเท่ากับการสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะที่คนกลุ่มอายุ 40–59 ปี จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.8 ปี หรือเทียบเท่ากับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยผู้ที่มีงานทำส่วนใหญ่จบการศึกษาที่ระดับประถมศึกษา รองลงมาเล็กน้อยคือระดับอุดมศึกษา
ส่วนเรื่องของรายได้ หากใช้ตัวเลขแบบหารเฉลี่ยเท่ากันอย่างจีดีพีต่อหัว เราจะได้ผลลัพธ์ที่แปลกประหลาดว่า คนไทยโดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้สูงถึง 2.7 แสนบาทต่อปี หรือร่วมเดือนละ 2.25 หมื่นบาท แต่หากพิจารณาจากรายได้มัธยฐานจะพบว่า คนส่วนใหญ่มีรายได้เพียงราว 7,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับภาพที่ได้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า รายได้ต่อครัวเรือนจากการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน แต่หากรวมรายได้จากช่องทางอื่น อาทิ สวัสดิการต่างๆ จากรัฐจะได้รวมกันเท่ากับ 2.7 หมื่นบาทต่อเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 2.1 หมื่นบาทต่อเดือน และครัวเรือนเหล่านี้จะมีหนี้สินราว 2 แสนบาท
หากนำข้อมูลทั้งหมดมาปะติดปะต่อกัน เราจะได้ภาพผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานคือผู้หญิงวัยกลางคน ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ได้รับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีรายได้เฉลี่ยราว 7,000–9,000 บาทต่อเดือน และครัวเรือนมีหนี้สินต้องรับผิดชอบรวม 2 แสนบาท
ดังนั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงมัธยฐานจึงไม่ใช่เหล่าพนักงานออฟฟิศที่อาศัยในเมืองใหญ่ หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กรุ่นใหม่ แต่เป็นเกษตรกรวัยกลางคนที่รายได้แทบไม่พอค่าใช้จ่าย และแบกหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้โดยแทบไม่มีความหวังว่าจะใช้หมด หากพวกเขาตัดสินใจเลือกใคร เราก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าพรรคนั้นจะได้เป็นรัฐบาลในทางทฤษฎี แต่การเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ดันมีเงื่อนไขพิเศษอย่างสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงที่ทุกคนรู้ว่าจะลงคะแนนให้ใคร ทำให้ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ยากจะตอบว่าใครจะชนะ
อ้างอิง
The Relevance of the Median Voter Theorem
The Median Voter Theorem: Why politicians move to the center
Tags: เลือกตั้ง 66, Democracy Strikes Back, Median Voter Theorem, Economic Crunch