เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลกำชัยเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่นักลงทุนไทยหลายคนอาจแปลกใจที่เราไม่เห็นสัญญาณบวกจากตลาดหุ้นไทยอย่างที่คาด โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หลังประกาศผลเลือกตั้งแล้วตลาดหุ้นไทยขยับไปในแดนลบ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีบรรยากาศค่อนข้างอึมครึมมาหลายเดือน แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน ราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเองก็ไม่ได้สูงเฉกเช่นในอดีต แต่แรงเทขายจากต่างชาติก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจวบจวนประกาศผลการเลือกตั้ง

บางคนอ่านสัญญาณดังกล่าวแล้วจึงสรุปทันทีว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ‘ไม่เป็นมิตร’ กับภาคธุรกิจ สะท้อนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงอย่างน่าใจหาย โดยเน้นไปที่นายทุนใหญ่หลายบริษัทซึ่งอาจได้อานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลเก่า และอาจเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการรื้อโครงสร้างตามนโยบายของพรรคก้าวไกล

แน่นอนว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจมีส่วนอยู่บ้าง แต่หลายคนอาจลืมมองอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ผมจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาจึงทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างไร 

ปัจจัยที่ว่าคือ ‘เสถียรภาพทางการเมือง’

เสถียรภาพทางการเมืองกับตลาดหุ้น

นักลงทุนไม่ว่าชาวไทยหรือต่างชาติต่างก็ชื่นชอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ

หากเปิดตำราเศรษฐศาสตร์จะพบว่า เครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีอยู่ 4 ประการ คือการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้ากับต่างประเทศ หลังรัฐบาลหมดวาระและรอผลเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงเปรียบเสมือน ‘สุญญากาศ’ ที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญหนึ่งตัวหยุดทำงาน รวมถึงความไม่แน่นอนทางนโยบาย เพราะไม่มีใครตอบได้ว่า พรรคใดจะได้รับเลือกตั้งในครั้งหน้า

ทั้งสองปัจจัยทำให้บรรยากาศของตลาดหุ้นก่อนการเลือกตั้งค่อนข้างอึมครึม เพราะเป็นช่วงที่ความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง หลังประกาศผลเลือกตั้งจึงเปรียบเสมือนการฉายภาพอนาคต อย่างน้อยก็ในอีก 4 ปีข้างหน้าที่ค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งการสตาร์ทเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยปลดล็อกเงินในคลังของรัฐบาลเพื่อให้สามารถนำมาใช้จ่ายอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจแตกต่างจากในอดีตเพราะมี ‘เงื่อนไขพิเศษ’ จากผลการทำประชามติที่ชวนงุนงงสับสนสมัยรัฐบาลเผด็จการ นั่นคือการที่สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่คัดสรรโดยฝั่งอนุรักษนิยมมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีของประชาชนคนไทยได้เช่นกัน กล่าวคือจากเงื่อนไขเดิมในการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคการเมืองต้องรวมเสียงให้ครบอย่างน้อย 251 เสียงหรือมากกว่า เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ กลับกลายเป็นต้องรวบรวมเสียงจากทั้งสภาบนและสภาล่างให้เกิน 376 เสียงจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

นั่นหมายความว่า ถึงแม้มติของประชาชนคนไทยจะบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้ก้าวไกลเป็นผู้นำรัฐบาล เงื่อนไขเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภากลับสร้างความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง คือเสียงคุณภาพที่ผ่านการคัดสรรโดยฝั่งอนุรักษนิยมผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ความไม่แน่นอนนี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกไม่สบายใจ ยิ่งท่าทีไม่ยอมรับมติของประชาชนของสมาชิกวุฒิสภาก็ยิ่งทำให้นักลงทุนมองว่าเสี่ยงอย่างยิ่งที่การเมืองไทยอาจจะ ‘ติดล็อก’ จนเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองยังส่อแววว่า อาจมีการชุมนุมประท้วงและการใช้ความรุนแรงซึ่งจะยิ่งส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ปฏิกิริยาของหุ้นจากเรื่องการเมือง

การศึกษาในแวดวงการเงินที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นของบริษัทมหาชนกับความผันผวนทางการเมืองไว้สองรูปแบบ อย่างแรกคือมูลค่าที่เกิดจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง และอย่างที่สองคือมูลค่าที่เกิดจากนโยบายของรัฐที่สนับสนุนในระดับอุตสาหกรรม

บริษัทที่ได้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์ทางการเมือง คือกลุ่มธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง โดยอาจมีสมาชิกในตระกูลนั่งเก้าอี้ฝ่ายบริหารของรัฐบาล หรือมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายบริหารซึ่งนักลงทุนมองว่า อาจเปิดโอกาสให้เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันผ่านการให้สัมปทาน ออกใบอนุญาต งดเว้นภาษี หรืออำนวยความสะดวกในการประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ

ผลการศึกษาสุดคลาสสิกที่พิจารณาบริษัท ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงสร้างธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลไม่เข้มข้น ทีมวิจัยพบว่าบริษัทกลุ่มนี้จะแตกต่างจากบริษัททั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า อัตราก่อหนี้สูงกว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า จ่ายภาษีเฉลี่ยในอัตราที่ต่ำกว่า ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งในตลาด และมีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือเมื่อธุรกิจประสบปัญหา

เมื่อนักลงทุนคาดว่า การมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองจะสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงสะท้อนกลับมาปรากฏอยู่ในราคาหุ้น แต่ถ้าวันหนึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าวสูญหายไป เช่น จากฝ่ายบริหารตกเก้าอี้กลายเป็นฝ่ายค้าน ความสูญเสียก็จะสะท้อนในราคาหุ้นเช่นเดียวกัน

กลุ่มหุ้นการเมืองที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอย่างชัดเจนกับนักการเมืองในปัจจุบัน เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่อดีตประธานกรรมการบริหารปรากฏชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่ก่อตั้งโดย อนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย

ผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลกำชัยเหนือพรรคเพื่อไทย และเดินหน้าจับมือจัดตั้งรัฐบาลปรากฏอยู่ราคาหุ้นทั้งสองตัวที่ร่วงแรงกว่าดัชนีของตลาดหลักทรัพย์หลายเท่า สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนทั้งผิดคาดและผิดหวังจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว และบริษัทได้สูญเสียมูลค่าสายสัมพันธ์ทางการเมืองไปแล้วนั่นเอง

ส่วนผลกระทบต่อการเลือกตั้งรูปแบบที่สองคือ ความคาดหวังในเชิงนโยบายของพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลชูประเด็นเรื่องการลดราคาพลังงาน ทลายทุนผูกขาด และสวัสดิการถ้วนหน้าที่นักวิเคราะห์คาดว่า จะส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจที่กลุ่มลูกค้าหลักคือลูกค้ารายย่อย ทั้งกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิง (Leasing)

ผมลองหยิบหุ้นบางตัวที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลังประกาศผลการเลือกตั้ง กลุ่มแรกคือกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่ถูกจับตามองหลังจากที่ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE หนึ่งในรายใหญ่ด้านโทรคมนาคมซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันเพียงสองรายเท่านั้น จะเห็นว่าราคาของหุ้นทั้งสองบริษัทปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนีตลาด สะท้อนความคิดของนักลงทุนว่ารัฐบาลใหม่ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง จะมีนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับสองอุตสาหกรรมเหล่านี้

หันมาดูที่ธุรกิจซึ่งลูกค้าหลักคือรายย่อยอย่างบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เครือห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ราคาของ CPN ไม่มีการปรับตัวท่ามกลางภาวะตลาดขาลง และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR บริษัทสินเชื่อที่เน้นกลุ่มลูกค้าบุคคลที่อาจมีรายได้ไม่สูงมากนักหากเปรียบเทียบกับลูกค้าสินเชื่อของกลุ่มธนาคาร ราคาของ TIDLOR กลับขยับขึ้นด้วยซ้ำสวนกับทิศทางตลาด

เราจึงพอจะเห็นภาพว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลอาจเป็นโทษต่อบางกลุ่มธุรกิจ แต่ก็เป็นคุณต่อบางกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้นการสรุปว่า ภาวะตลาดขาลงในปัจจุบันเกิดจากนโยบายที่ ‘ไม่เป็นมิตร’ ต่อภาคธุรกิจเพียงลำพังคงไม่ถูกต้องนัก แต่ภาวะตลาดที่อึมครึมอาจเกิดจากการไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า

การขยับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม หลังจากพรรคก้าวไกลประกาศอย่างชัดเจนเรื่องการจับมือตั้งรัฐบาลจึงสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาคาใจของนักลงทุนคือเสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นหากจะให้ประเทศเดินหน้าไปต่อได้คงต้องอาศัย ‘น้ำใจนักกีฬา’ ของผู้แพ้การเลือกตั้ง และสามัญสำนึกที่จะเคารพการลงมติประชาชนของสมาชิกวุฒิสภา

การเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับทุกฝ่าย แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะนี่เจตจำนงของประชาชนคนไทยที่ตะโกนบอกผ่านรอยกากบาทบนบัตรเลือกตั้ง

อ้างอิง

Politically Connected Firms

Relationship Among Political Instability, Stock Market Returns and Stock Market Volatility

Tags: , , , , ,