ผมอยากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักองค์กรปล่อยสินเชื่อองค์กรหนึ่งที่หากปล่อยกู้ 100 คน ลูกหนี้ 64 คนจะไม่จ่ายเงินคืน จนดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นไปไกล เช่น ถ้าปล่อยเงินกู้ 10,000 บาท ตอนนี้ภาระหนี้ก็งอกเงยเป็นราว 32,400 บาท ผมชวนคิดต่อว่าสาเหตุที่ทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงลิ่วคืออะไร?

เศรษฐกิจตกต่ำ? ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะอัตราผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 คนจาก 100 คนเท่านั้น

ลูกหนี้นิสัยไม่ดี ไม่มีวินัยทางการเงิน? เป็นไปได้ แต่ไม่น่าใช่เหตุผลหลัก เพราะอัตราผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวสูงจนผิดปกติ โดยมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เสียด้วยซ้ำ

เป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อไม่สมเหตุสมผล? ประเด็นนี้น่าสนใจ ผมขอใบ้ให้หน่อยแล้วกันว่าองค์กรนี้ปล่อยสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งแทบทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ

คงเดากันได้ใช่ไหมครับว่า สถิติข้างต้นคืออัตราการผิดนัดชำระหนี้และตัวเลขยอดหนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่เราคุ้นหูกันดีกว่า กยศ. กองทุนที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับชีวิตเด็กๆ จากครอบครัวรายได้ต่ำให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

แต่ผ่านไป 25 ปี กยศ. กลับกลายร่างเป็นองค์กรที่งานหลักคือไล่ตามฟ้องร้องดำเนินคดีกับเหล่านักศึกษาให้กลับมาใช้หนี้ แถมยังเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงลิ่วจนมูลหนี้งอกเงยเป็น 3 เท่าตัว นำไปสู่กระแส #ล้างหนี้กยศ. และการเรียกร้องมหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม

หนี้ กยศ. เป็นปัญหาตั้งแต่การออกแบบ

ปัญหาหนี้ กยศ. ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘การออกแบบ’ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงซึ่ง ดร.ขจร ธนะแพสย์ ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าไว้อย่างละเอียดในบทความเรื่อง ‘​ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.’

ประเด็นแรกคือวิธีการชำระหนี้ที่กำหนดให้จ่ายคืนได้แบบเดียวคือปีละ 1 ครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตทั่วไปที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน กลายเป็นความคาดหวังแบบแปลกประหลาดว่านักศึกษาที่จบมาใหม่หมาดจะต้องมีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างดีเยี่ยม โดยวางแผนเก็บออมในแต่ละเดือนสำหรับเป็นเงินก้อนจ่ายคืนหนี้ กยศ.

อย่างไรก็ตาม กยศ. มีการออกแบบให้สัดส่วนเงินงวดจะค่อยๆ ปรับเพิ่ม เช่นในปีแรกจะจ่ายคืนเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ของภาระหนี้ทั้งหมด ส่วนปีสุดท้ายจะต้องจ่ายราว 15 เปอร์เซ็นต์ของภาระหนี้ แต่การจ่ายเงินก้อนใหญ่ปีละครั้งย่อมสร้างปัญหาสำหรับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายของ กยศ. ที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน) โดยลูกหนี้จะประสบปัญหาจ่ายคืนอย่างชัดเจนตั้งแต่ราวปีที่ 6 ซึ่งยอดชำระเงินงวดมากกว่า 5,000 บาท

ประเด็นที่ 2 คืออัตราดอกเบี้ย แม้ว่า กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น แต่ในอดีตคิดอัตราดอกเบี้ยปรับสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สูงกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปัจจุบันด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าการหยุดชำระไปไม่กี่งวดก็จะส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มพูนในเวลาไม่นาน โดยจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียงราว 4 ปี  

ซ้ำร้าย การชำระเงินกู้ของ กยศ. ยังไม่ได้เป็นแบบลดต้นลดดอก แต่ลูกหนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้หมดเสียก่อน จึงจะค่อยตัดลดจากเงินต้น ดอกเบี้ยผิดนัดที่สูงลิ่วทำให้ลูกหนี้จ่ายเท่าไรก็ไปลดแต่ดอกเบี้ย ขณะที่เงินต้นไม่ลดลงสักที จนสุดท้ายลูกหนี้จึงถอดใจที่จะจ่ายเพราะดูไม่มีอนาคต

เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างนายป้อม ลูกหนี้ กยศ. ที่ประสบปัญหาทางการเงินจนตัดสินใจหยุดชำระหนี้จนตอนนี้มีดอกเบี้ย 100,000 บาทและเงินต้น 100,000 บาท หากชีวิตนายป้อมกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้งและต้องการกลับมาชำระหนี้ จะต้องจ่ายหนี้ดอกเบี้ย 100,000 บาทให้หมดเสียก่อนเงินต้นจึงจะลดลง และในขณะนั้น ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มพูนทุกเดือน เดือนละ 1,500 บาท (คำนวณจาก 18 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้นค้างชำระ)

ประเด็นที่ 3 คือกระบวนการผ่อนปรนที่ยังไม่ตอบโจทย์ กยศ. เองก็ตระหนักถึงปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลงเหลือ 7.5 เปอร์เซ็นต์ และจัดโปรโมชันลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งจะยกดอกเบี้ยผิดนัดให้แบบฟรีๆ แต่มีเงื่อนไขสุดโหดว่าลูกหนี้จะต้องจ่ายเงินต้นทั้งหมดในครั้งเดียวซึ่งมีลูกหนี้เพียงหยิบมือที่ทำได้

แม้ กยศ. จะประกาศตนเองว่าต้องการ ‘ให้โอกาส ให้อนาคต’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กยศ. คือเจ้าหนี้ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุด โดยแต่ละปีจะมีลูกหนี้ขึ้นศาลกว่า 1 แสนราย กลายเป็นภาระในระยะยาวของเหล่าลูกหนี้ที่ต้องมีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวไปเพราะดอกเบี้ยผิดนัดอัตรามหาโหด

การล้างหนี้การศึกษาคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากเป้าหมายของ กยศ. คือการให้โอกาสและให้อนาคตจริงๆ อย่างน้อยก็ควรพิจารณายกเลิกดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่สมเหตุสมผล พร้อมกับปรับวิธีการทำงานเสียใหม่ ไม่ใช่เน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือไล่ติดตามฟ้องร้องเพื่อทวงเงินกลับคืนสู่กองทุน แต่เป็นการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกหนี้ มีการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่น และกำหนดเงื่อนไขให้พักชำระหนี้หากไม่มีงานทำหรือเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนขาดรายได้

เมื่อมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบ

         ‘การศึกษาจะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต’ นี่คือความเข้าใจที่แฝงฝังอยู่ในสามัญสำนึก และกลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยกระเสือกกระสนเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ด้วยความหวังว่าปริญญาจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ 64 เปอร์เซ็นต์ของ กยศ. ก็ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่าประโยคดังกล่าวเป็นความจริงหรือแค่ความเชื่อกันแน่

         หากลองคิดดูอย่างถี่ถ้วน เราก็อาจเริ่มเห็นเค้าลางว่าความจริงแล้วการกู้ยืมเพื่อมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้นมีความเสี่ยงสูงลิ่ว

         ลองนึกตามนะครับ การเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างจากการลงทุนทั้งเงินหลายแสนบาทและเวลา 4 ปีเต็ม โดยที่ไม่รู้ว่าผลตอบแทนหลังจากเรียนจบจะมีมูลค่าเท่าไร เราจะหางานทำได้หรือไม่ และรายได้จะเพิ่มจากวุฒิ ม.6 มากน้อยขนาดไหน นี่คือความเสี่ยงที่ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยมองข้ามอาจเพราะขาดข้อมูลหรือคาดหวังจากมหาวิทยาลัยสูงเกินไป

เมื่อผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ เช่น เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ ได้งานไม่ตรงตามสาขา หรือเงินเดือนไม่ได้สูงอย่างที่คาดไว้ หนี้ก้อนใหญ่จึงกลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ดิ้นไม่หลุดสักที

         ก่อนที่จะเรียกร้องนโยบายมหาวิทยาลัยฟรี เราจึงควรตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ให้กับนิสิตนักศึกษามากน้อยเพียงใดหรือเป็นเพียงค่านิยมเท่านั้น เพราะในฝั่งตลาดแรงงานก็ต้องการพนักงานในสายงานขาย งานบริการ และงานธุรการซึ่งการมีปริญญาตรีอาจเป็นเพียง ‘โบนัส’ ที่ไม่จำเป็นก็ได้

         หากเปิดงบประมาณประจำปี 2565 จะพบว่าปัจจุบันรัฐบาลทุ่มเงินอุดหนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาร่วม 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับกระทรวงสำคัญอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบประมาณก้อนนี้คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย

แม้งบประมาณอุดหนุนระดับอุดมศึกษาจะน้อยกว่า แต่นักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่กระทรวงศึกษาธิการต้องดูแลมีจำนวนถึง 9.7 ล้านคน ขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐมีเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น นั่นหมายความว่างบประมาณต่อหัวที่รัฐจ่ายอุดหนุนให้กับนิสิตนักศึกษาก็ยังมากกว่าเกือบสองเท่าตัว

คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่ารัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสนับสนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่แล้ว การผลักดันให้ทุกคนสามารถเรียนมหาวิทยาลัยได้ฟรีก็จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซึ่งเงินก้อนนั้นจะต้องจัดหามาจากการเก็บภาษีเพิ่มเติมหรือปันส่วนมาจากเป้าหมายอื่นๆ ของรัฐบาลที่อาจสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

         เราทุกคนเรียกร้องรัฐสวัสดิการก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น แต่ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะกังขาว่าการเรียกร้องนโยบายมหาวิทยาลัยฟรีจะตอบโจทย์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะอัตราผิดนัดชำระของลูกหนี้ กยศ. ก็บอกเป็นนัยๆ ว่าปริญญาอาจไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างที่หลายคนเข้าใจ

         การมีประชาชนที่เรียนจบปริญญาตรีจำนวนมากย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่สามารถ ‘คืนทุน’ ได้ แม้ว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็นการผิดนัดชำระหนี้ถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลนับล้านราย เราอาจต้องหันไปกลับพิจารณาแล้วว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุเพราะคุณภาพการศึกษา การออกแบบสินเชื่อ กยศ. หรือว่าเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ฟรี

 

เอกสารประกอบการเขียน

The promise of free college (and its potential pitfalls)

Should the federal government subsidise students, or make college free?

Biden spends hundreds of billions on reducing student-loan debt

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กระทรวงการคลัง

ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.

 

Tags: , , ,