สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อยาวนาน ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกที่เข้มข้นกว่าที่หลายคนคาด ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ นอกจากราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่หายากที่ถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว อีกหนึ่งสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างคือ ‘ข้าวสาลี’ เนื่องจากประเทศยูเครนและรัสเซียต่างเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับต้นๆ ของโลก
นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดทำโดย Thomson Reuters ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับผลกระทบด้านอุปทานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน
ต่อให้ไทยจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ แต่ผลกระทบก็เริ่มปรากฏทั้งในด้านราคาอาหาร พลังงาน และอีกไม่นานคงจะเริ่มสะท้อนในสารพัดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิดที่ต้องใช้แร่หายากที่ผลิตในรัสเซีย โดยเสียงบ่นระงมที่ดังฟังชัดที่สุดทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ก็หนีไม่พ้น ‘ราคาน้ำมัน’
ราคาอาจแตะ ‘200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล’
ตลาดน้ำมันตั้งแต่ต้นปีก็ถือว่าค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้ว เพราะความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นมากจากกำลังซื้อหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ในทางกลับกัน กำลังการผลิตน้ำมันก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม เพราะการหยุดเดินเครื่องนั้นง่ายกว่าการกลับมาเดินเครื่องใหม่ ปัจจุบันโรงงานกลางทะเล เช่น โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งที่หยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่ตัดสินใจเปิดดำเนินการต่อ เพราะยังเจ็บหนักจากราคาน้ำมัน ‘ติดลบ’ ในช่วงการระบาด ส่งผลให้เกิดภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทานน้ำมัน
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อรัสเซียส่งทหารบุกยูเครนแบบไม่มีใครคาดคิด ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก เนื่องจากรัสเซียถือเป็นมหาอำนาจทางน้ำมันที่มีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา (16.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และซาอุดีอาระเบีย (11 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยรัสเซียจะส่งออกน้ำมันราววันละ 5 ล้านบาร์เรล ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป
สงครามดังกล่าวทำให้หลายคนกังวลว่า น้ำมันดิบอูราล (Urals Crude Oil) จากรัสเซียที่เคยป้อนเข้าสู่ตลาดโลกอาจหายวับไปในพริบตา เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของพันธมิตรโลกตะวันตก และการประกาศยุติการส่งออกน้ำมันของรัสเซียเพื่อตอบโต้มาตรการดังกล่าว หรือโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งน้ำมันที่อาจเสียหายหรือติดขัดจากไฟสงคราม
แต่ต่อให้สถานการณ์ข้างต้นไม่เกิดขึ้นจริง อนาคตของน้ำมันดิบอูราลก็ดูไม่สดใสนัก ถึงแม้น้ำมันดิบจากรัสเซียจะยังคงเดินทางสู่ตลาดโลกได้ในปัจจุบัน แต่น้ำมันเหล่านั้นเป็นการซื้อขายที่ตกลงไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดสงคราม ส่วนน้ำมันที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่ กลับหาผู้ซื้อได้ยากเย็นเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างไม่ต้องการเสี่ยงที่จะผิดกฎเกณฑ์การคว่ำบาตรของนานาประเทศ อีกทั้งยังเกรงที่จะถูกถล่มจากสื่อและสาธารณชน หากทำการซื้อขายกับรัสเซียอีกด้วย
แม้กลุ่มสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศจะยังไม่คว่ำบาตรการซื้อขายน้ำมันกับรัสเซีย แต่การทำธุรกิจก็ไม่ได้ราบรื่นเช่นในอดีต การค้าขายระหว่างประเทศต้องอาศัยตัวกลางจำนวนมาก เช่น ธนาคารในการออกตราสารเครดิต (letter of credit) สำหรับชำระค่าสินค้า บริษัทประกันสินค้าขณะขนส่งและบริษัทเดินเรือเพื่อขนย้ายสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีน้อยบริษัทที่จะยินดีให้บริการ หากรับรู้ว่ากำลังจะไปข้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศรัสเซีย
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยอาจมองว่า ทางแก้ไขปัญหาคือการที่รัสเซียขายน้ำมันให้กับประเทศพันธมิตรอย่างจีน เพื่อให้จีนลดการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศลง ซึ่งจะช่วยลดความตึงตัวของอุปทานในตลาดโลก แนวคิดดังกล่าวเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยากเพราะข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งน้ำมันหรือรถไฟที่มีศักยภาพจำกัด ส่วนการขนส่งทางเรือก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 30 วันหากเทียบกับการจำหน่ายน้ำมันให้ประเทศในสหภาพยุโรป
หากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดและไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ใคร น้ำมันดิบอูราลก็อาจสาบสูญไปจากตลาดโลกอย่างที่หลายคนกังวล แดร์เนียล เยอร์กิน (Daniel Yergin) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Economist ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งจนแตะระดับ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ราว 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลซึ่งก็นับว่าแพงมหาโหดอยู่แล้ว
น้ำมันจะแพงไปถึงเมื่อไหร่?
หากใครยังไม่อยากปักใจเชื่อการคาดการณ์โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการ ผู้เขียนขอชวนมาดูราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดฟิวเจอร์ ซึ่งหมายถึงการทำสัญญาโดยตกลงราคาซื้อขายน้ำมันในปัจจุบัน แต่จะมีการส่งมอบหรือชำระราคากันในเดือนตามที่ระบุในสัญญา
ราคาดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่ยอดเยี่ยมว่าเหล่านักลงทุนและนักเก็งกำไร ‘คิดเห็น’ อย่างไรกับราคาน้ำมันในอนาคต เพราะตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการ ‘พูดลอยๆ’ แต่เป็นการวางเดิมพันกำไร-ขาดทุนโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือ
หลายคนอาจแปลกใจหากพบว่า ยิ่งระยะเวลาส่งมอบนาน ราคาน้ำมันดิบในตลาดฟิวเจอร์ก็ยิ่งมีแนวโน้มลดลง โดยราคาฟิวเจอร์น้ำมันดิบที่จะส่งมอบในเดือนเมษายนอยู่ที่ 108 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เดือนตุลาคมอยู่ที่ 92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เราเรียกสภาวะตลาดเช่นนี้ว่า ‘Backwardation’ สะท้อนว่านักลงทุนมองการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงการ ‘ช็อก’ ระยะสั้น และคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวจะค่อยๆ คลี่คลาย และส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในอนาคต
สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนมองว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิ่งลงเหวถึงขั้นติดลบเพราะการระบาดของโควิด-19 (ฟื้นความทรงจำได้ที่ น้ำมันร่วงแล้วยังไง และเกิดอะไรในตลาดน้ำมันโลก?) มีบริษัทจำนวนหนึ่งช้อนซื้อและกักตุนน้ำมันปริมาณมหาศาลเอาไว้ และพร้อมจะปล่อยน้ำมันออกขายเมื่อราคาพุ่งสูงจนเป็นที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับกลุ่มโอเปกที่อาจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันได้อย่างไม่ยากเย็น ประกอบกับความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจกลับมาแผลงฤทธิ์จนทำลายความต้องการใช้พลังงานอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ภาวะตลาดฟิวเจอร์แบบ Backwardation ยังทำให้ปัญหาราคาน้ำมันแพงยืดเยื้อยาวนาน เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและโอกาส หากจะลงทุนเปิดแท่นน้ำมันแห่งใหม่หรือเดินเครื่องโรงกลั่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศที่เร่งเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอาจทำกำไรได้เพียงระยะสั้น แต่ไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียในระยะยาว
ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหรือราคาในตลาดฟิวเจอร์ ต่างก็ยืนยันว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันคือ ‘ความปกติใหม่’ ซึ่งภาครัฐต้องงัดทุกเครื่องมือการเงินและการคลังเพื่อจัดการปัญหาและป้องกันไม่ให้ประเทศหลุดเข้าสู่วงจร ‘Stagflation’ ซึ่งหมายถึงภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และสภาพเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอยอย่างที่ประเทศไทยเคยเจอมาแล้วเมื่อราว 40 ปีก่อนจากเหตุการณ์วิกฤตราคาน้ำมันเช่นกัน
รัฐบาลทุกประเทศควรระลึกไว้อยู่เสมอว่า ปัญหาปากท้องคือเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับประชาชน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าใช้จ่ายส่วนมากหมดไปกับค่าอาหารและพลังงาน ประวัติศาสตร์บอกเราหลายต่อหลายครั้งว่า ความทุกข์ยากของประชาชนจะนำพามาซึ่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง คงไม่น่าแปลกใจนักหากความไม่พอใจของประชาชนจากวาทะคมคายแต่ไร้นโยบายแก้ไขปัญหาของภาครัฐจะลุกลามไปสู่การประท้วง หรือสงครามกลางเมือง
เอกสารประกอบการเขียน
War and sanctions have caused commodities chaos
How oil shocks have become less shocking
Can the world cope without Russia’s huge commodity stash?
How a wrinkle in the oil futures market has clogged America’s oil pump
Tags: ราคาน้ำมัน, ยูเครน, Economic Crunch, น้ำมันแพง, ราคาน้ำมันโลก, เศรษฐกิจไทย, รัสเซีย