‘น้ำมัน’ ทรัพยากรที่ใครๆ ก็รู้จักและทุกประเทศจำเป็นต้องจัดหา แต่ว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่จะโชคดีบุญหล่นทับได้ครอบครองบ่อน้ำมัน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่น้ำมันจะเป็นสินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ความแตกต่างของน้ำมันกับสินค้าอย่าง คอมพิวเตอร์ รถยนต์ หรืออากาศยาน คือหน้าตาของมันจะคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะผลิตจากมุมไหนของโลก นักเศรษฐศาสตร์จะเรียกสินค้าประเภทนี้ว่า ‘สินค้าโภคภัณฑ์’

สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงมีตลาดราคากลางสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงสารพัดผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงราคากับสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคซื้อหาเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากไม่นับรวมภาษีในแต่ละท้องที่ ราคาดังกล่าวจะใกล้เคียงกับราคาท้องถิ่นที่ซื้อขายทั่วโลก เพราะหากราคาผิดแผกจากราคาตลาดโลกไปมาก สิ่งที่ตามมาคือตลาดมืดที่นำเข้าหรือส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างผิดกฎหมายเพื่อแสวงหากำไรจากส่วนต่าง

หากจะกล่าวว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์คือตลาดแข่งขันสมบูรณ์คงไม่ผิดนัก เพราะมีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมาก และผลิตภัณฑ์ยังแทบไม่แตกต่างกัน ในสภาวะดังกล่าวการกำหนดราคาผ่านกลไกตลาดควรจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

แต่ตลาดน้ำมันอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะมีกลุ่ม ‘เจ้าพ่อ’ ผู้ควบคุมบ่อน้ำมันมีศักยภาพในการควบคุมราคา โดยการตัดสินใจเพียงหนึ่งครั้งอาจทำให้ราคาน้ำมันผันผวนขึ้นลงได้ดังใจนึก นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทิศทางราคาน้ำมันก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 2563 ราคาน้ำมันก็ร่วงฮวบลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเสี้ยววินาทีเมื่อเปิดตลาด ภายหลังซาอุดิอาระเบียประกาศสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย ส่วนในวันที่ 2 เมษายน 2563 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความโดยคาดว่าทั้งสองประเทศจะลดกำลังการผลิตน้ำมัน ข้อความไม่กี่ตัวอักษรที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์

กราฟแสดงราคาน้ำมันดิบ (ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ย้อนหลัง 1 ปี อ้างอิงจากตลาด West Texas Intermediate ภาพจาก Macrotrends

ทำไมตลาดที่ควรจะมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ กลับเผชิญภาวะผันผวนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน?

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมารู้จักภูมิทัศน์ ‘เจ้าพ่อ’ ผู้กำหนดราคาน้ำมันในปัจจุบัน รวมถึงเหรียญสองด้านของราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

‘สามก๊ก’ มหาอำนาจผู้ครอบครองแหล่งน้ำมัน

ราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือความต้องการซื้อและปริมาณที่มีจำหน่ายในตลาด การระบาดของโควิด-19 ที่หยุดชีพจรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เครื่องบินถูกจอดทิ้งนิ่งสนิท ประชากรโลกส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำหรือบังคับให้เก็บตัวอยู่กับบ้านย่อมทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงฮวบ ส่วนในฝั่งอุปทานการผลิตน้ำมันปัจจุบันมีสามประเทศมหาอำนาจเป็นผู้กุมบังเหียน

ขั้วแรกคือกลุ่มผู้ผูกขาดตลาดน้ำมันดั้งเดิมที่หลายคนคุ้นหูกันดีชื่อว่าโอเปก หรือองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออก น้ำมัน (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) ซึ่งปัจจุบันนำโดยซาอุดิอาระเบีย และประเทศสมาชิกรวม 14 ประเทศ ส่วนขั้วที่สองคือรัสเซีย มหาอำนาจทางพลังงานที่มีแหล่งสำรองน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และถ่านหินปริมาณมหาศาลที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มโอเปก และขั้วสุดท้ายคือสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางน้ำมันกำเนิดใหม่ในช่วงที่น้ำมันราคาพุ่งสูงจนคุ้มค่าที่จะลงทุนใช้นวัตกรรมขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตทั่วไป

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในภาวะของการระบาดความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงราว 25 เปอร์เซ็นต์ ซาอุดิอาระเบียจึงยื่นข้อเสนอให้รัสเซีย มิตรนอกสมาคมซึ่งเคยร่วมจับมือกีดกันการถือกำเนิดของอุตสาหกรรมน้ำมันจากหินดินดานในสหรัฐอเมริกา ร่วมด้วยช่วยกันลดกำลังการผลิตเพื่อคงราคาน้ำมันไว้ดังเดิม แต่คำตอบที่ได้จากรัสเซียคือ ‘ไม่’ จนนำไปสู่สงครามที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงฮวบ โดยซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรพร้อมใจเสนอส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้า และยังมีรายงานว่ากลุ่มประเทศนี้ยังคงมีกำลังการผลิตเหลือเฟือที่พร้อมจะทุ่มตลาดโดยการเพิ่มการผลิตน้ำมัน

นี่คือสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 8 มีนาคม 2563

แต่คนที่เดือดเนื้อร้อนใจที่สุดกลับไม่ใช่ซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศพันธมิตรที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อบาร์เรลต่ำที่สุดในโลก หรือรัสเซียที่มีสายป่านยาวและพร้อมจะนำมาใช้เพื่อสู้สงครามราคา แต่กลับเป็นอีกขั้วมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาที่เจ็บหนัก เพราะโครงสร้างในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ นั้นเต็มไปด้วยบริษัทน้ำมันขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจมีสายป่านไม่ยาวนัก อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าหากเทียบกับซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ภาวะราคาน้ำมันตกต่ำอาจทำให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งถึงขั้นล้มละลาย

คงไม่มีใครคาดคิดว่าราคาน้ำมันที่เมื่อ 6 ปีก่อนพุ่งสูงไปเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะสามารถตกมาแตะจุดต่ำสุดที่ราว 20 – 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่น่าแปลกใจนักที่ประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ซึ่งรังเกียจโอเปกและชื่นชอบน้ำมันราคาถูกจะประกาศ ‘ล็อบบี้’ ทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียผ่านสื่อออนไลน์ในวันที่ 2 เมษายน 2563 ว่าต้องการให้ร่วมกันลดการผลิตน้ำมันเพื่อดึงให้ราคาสูงขึ้นกว่านี้เพื่อปกป้องลูกจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมของอุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนกว่าสิบล้านคน

หลังจากทวีตของทรัมป์ราวสัปดาห์ โอเปกและรัสเซียก็ประกาศว่าสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนโดยคิดเป็นราว 23 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยอาจเห็นว่าสงครามราคาน้ำมันทำให้เจ็บตัวทั้งสามฝ่ายโดยไม่มีใครได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี การประกาศลดกำลังการผลิตก็ยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันกระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะน้ำมันที่แข่งกันผลิตในช่วงเดือนที่ผ่านมาเต็มล้นคลังจนทั่วโลกแทบเหลือที่เก็บ รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำลายความต้องการซื้อน้ำมันในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ประเทศ 10 อันดับแรกที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก (หน่วย: ล้านตัน) สถิติปี พ.ศ. 2560 ภาพจาก Statista

หากต้องการขยับราคาน้ำมันให้สูงขึ้นทั้งสามก๊กคงต้องร่วมมือร่วมใจลดกำลังการผลิตให้มากกว่านี้ รวมถึงนั่งโต๊ะหาวิธีสร้างเสถียรภาพทางราคาให้สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน แทนที่จะปล่อยให้เหวี่ยงขึ้นลงหวือหวาตามใจเหล่ามหาอำนาจเมื่อไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

เหรียญสองด้านของน้ำมันราคาถูก

แน่นอนว่าผู้ที่เจ็บหนักที่สุดเมื่อน้ำมันราคาถูกคือเหล่าบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมัน เพราะราคาที่แตะราว 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้นแทบไม่แตกต่างจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐ แต่น้ำมันที่ร่วงฮวบก็ไม่สวยนักสำหรับผลกำไรของบริษัทซาอุดิอารัมโค เพชรเม็ดงามที่มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ตั้งอกตั้งใจเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้เพื่อต้องการระดมเงินทุนกระจายความเสี่ยงในพอร์ตฟอร์ลิโอของประเทศซาอุดิอาระเบียให้ครอบคลุมมากกว่าอุตสาหกรรมน้ำมัน

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือประเทศซึ่งพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันเช่นอิรักและเวเนซุเอลา ประเทศเหล่านี้ต้องรับศึกสองด้านทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน ในขณะเดียวกันรายได้ของรัฐบาลก็ดันลดฮวบจนยากที่จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน ผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือเหล่าผู้บริโภคที่อยู่ดีๆ ราคาน้ำมันก็ลดราวกับรัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจกันดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพโดยไม่ได้นัดหมาย ส่วนอีกฝ่ายที่ยิ้มหวานไม่แพ้กันคือเหล่านักอนุรักษ์ที่มองว่าวิกฤตโควิด-19 และสงครามราคาในครั้งนี้จะฉุดอุตสาหกรรมให้ลงเหวแบบไม่มีวันฟื้นตัว โดยประกาศว่าปี พ.ศ. 2562 อาจเป็น ‘จุดยอดของน้ำมัน (Peak Oil)’ และหลังจากนี้การบริโภคน้ำมันจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมนักอนุรักษ์ถึงมั่นอกมั่นใจขนาดนั้น?

คำตอบก็คือ ราคาน้ำมันที่ดิ่งเหวนอกจากจะทำให้หลายบริษัทไม่รอดก่อนจบวิกฤต ยังทำให้นักลงทุนชะลอเงินลงทุนที่จะทุ่มลงสู่อุตสาหกรรมน้ำมันเนื่องจากโครงการสำรวจและผลิตน้ำมันในอนาคตอันใกล้สามารถทำกำไรได้เพียงน้อยนิด หรือกระทั่งไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ผนวกกับความกังวลในระยะยาวเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทางเลือกการลงทุนในภาคธุรกิจอื่นน่าสนใจมากกว่า 

เมื่อไม่มีเงินลงทุน อุตสาหกรรมน้ำมันก็จะค่อยๆ ตายลงอย่างช้าๆ และเงียบๆ พร้อมกับเปลี่ยนมุมมองที่ว่า ‘น้ำมัน’ เป็นสินค้าจำเป็น สู่นวัตกรรมอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ นี่คือโอกาสในวิกฤต ที่หากกลุ่มประเทศมหาอำนาจเหนือบ่อน้ำมันทั้งสามก๊กยังไม่สามารถตกลงกันได้ สุดท้ายผู้มีชัยอาจเป็นนักอนุรักษ์และประชาชนทั่วโลก

เอกสารประกอบการเขียน

What Causes Oil Prices to Fluctuate?

How a Saudi-Russian Standoff Sent Oil Markets Into a Frenzy

Oil Markets Are a Mess. Can World Leaders Straighten Them Out?

OPEC and Russia Agree to Cut Oil Production

Saudi Oil Price Cut Is a Market Shock With Wide Tremors

Oil Companies on Tumbling Prices: ‘Disastrous, Devastating’

As Russia and Saudi Arabia Retreat, U.S. Oil Industry Avoids the Worst

The World Is Running Out of Places to Store Its Oil

Will the coronavirus kill the oil industry and help save the climate?

Tags: ,