ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้คำมั่นกับประชาชนชาวอเมริกันว่า เขาจะนำพาสหรัฐฯ เข้าสู่ ‘ยุคสมัยใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ’ หากอ่านระหว่างบรรทัด ยุคสมัยนั้นย่อมมีเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative Artificial Intelligence) เป็นดาวเด่น และเป็นกำลังหลักที่จะยกระดับผลิตภาพของแรงงาน และเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยังครองอันดับ 1 ของโลก

หนึ่งวันหลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ก็ประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนโครงการสตาร์เกต (Stargate) โปรเจกต์ร่วมระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ OpenAI และ Oracle ที่มีแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ นั่นก็คือศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์สำหรับการประมวลผล

ราวกับจงใจแสดงแสนยานุภาพในวันแห่งความหวังของสหรัฐฯ ที่หมายมั่นจะยึดหัวหาดเจ้าแห่งไอเอ DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติจีนที่น้อยคนจะรู้จัก ก็เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลโมเดล R1 เรียกได้ว่า เทียบเท่ากับโมเดลรุ่นล่าสุดอย่าง o3 ของ OpenAI หรือ Gemini Flash Thinking ของ Google โดยโมเดลที่ว่านี้จะ ‘คุยกับตัวเอง’ ก่อนตอบคำถาม ซึ่งกระบวนการคิดดังกล่าวมักจะทำให้ได้คำตอบที่ดีกว่าเดิม

สาเหตุที่ DeepSeek สั่นสะเทือนวงการปัญญาประดิษฐ์ เพราะการพัฒนาโมเดลดังกล่าวใช้ต้นทุนต่ำกว่ามาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันของฝั่งอเมริกา เนื่องจากสหรัฐฯ พยายาม ‘เตะตัดขา’ อุตสาหกรรมเอไอของจีนด้วยการสั่งห้ามส่งออกชิปล้ำสมัยที่สร้างขึ้น เพื่อประมวลผลสำหรับปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ รวมถึงเครื่องจักรที่จำเป็นในการผลิตชิปด้วยความหวังว่า อุตสาหกรรมเอไอของสหรัฐฯ จะทิ้งห่างจีนแบบไม่เห็นฝุ่นด้วยฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่า

แต่การปรากฏตัวของ DeepSeek พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า จีนมีศักยภาพในการคิดค้นหนทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ความพยายามกีดกันทางการค้าบีบให้อุตสาหกรรมชิปในจีนเติบโตยิ่งขึ้น โดยมีหัวเรือใหญ่คือ Huawei ที่โดนสหรัฐฯ คว่ำบาตร แต่ปัจจุบันสามารถออกแบบชิปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องง้อสหรัฐฯ แม้ว่าฮาร์ดแวร์เหล่านั้นจะนับเป็น ‘เกรดรอง’ โดยไม่อาจเทียบได้กับเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Nvidia แต่ ‘ต้นทุน’ ก็ยังเป็นจุดแข็งของประเทศจีนที่ยังไม่มีใครโค่นลงได้

ถึงแม้วันนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามเอไอระหว่าง 2 มหาอำนาจของโลก แต่เราก็พอจะบอกได้คร่าวๆ แล้วว่า หากสงครามนี้ดำเนินไป ไม่ว่าใครชนะ ผู้บริโภคก็มีแต่ได้

แรงกระเพื่อมจาก DeepSeek ต่อยักษ์ใหญ่ในวงการเอไอ

โมเดล R1 ของ DeepSeek นับเป็นตัวแปรใหม่ที่สะเทือนวงการเอไอ ด้วยศักยภาพที่ แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ผู้บริหารบริษัท OpenAI ยังกล่าวชื่นชม ในขณะที่โมเดลดังกล่าวใช้งบประมาณในการฝึกฝนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้สำหรับฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ของฝั่งตะวันตก แถมยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ผู้บริโภค โดยขึ้นแท่นแอปพลิเคชันอันดับ 1 ที่ยอดดาวน์โหลดสูงสุดบนไอโฟน

ไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นจะตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะความเข้าใจใหม่ที่ว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างขึ้นได้ในราคาประหยัด โดยไม่ต้องอาศัยชิปล้ำสมัยราคาแพง สั่นสะเทือนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างเช่น Nvidia ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เจ้าใหญ่สำหรับใช้ในศูนย์ข้อมูล เพื่อการประมวลผลของเอไอ Amazon, Microsoft และ Google ที่ให้บริการระบบคลาวด์ OpenAI และ Anthropic บริษัทผู้ฝึกฝนและพัฒนาโมเดลเอไอบนระบบคลาวด์และ Salesforce รวมถึง SAP ที่ใช้เอไอสร้างแอปพลิเคชัน เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดจาก DeepSeek คือ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สำหรับเอไอ ในเมื่อการฝึกฝนโมเดลเอไออาจไม่ต้องใช้กำลังการประมวลผลมากมายอย่างที่เคยเข้าใจในอดีต ผู้ผลิตชิปสำหรับเอไอเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Nvidia ดูจะเสี่ยงที่สุด เนื่องจากบริษัทรายงานว่า ชิปล้ำสมัยที่ใช้สำหรับพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ทำกำไรขั้นต้นให้บริษัทสูงถึง 90% หากความต้องการชิปดังกล่าวลดลง ย่อมกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่บริษัทคู่แข่งอย่าง AMD หรือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกอย่าง TSMC เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

กลุ่มบริษัทเช่น HPE และ Dell ที่จำหน่ายฮาร์ดแวร์สำหรับศูนย์ข้อมูลเองก็หนีไม่พ้นผลกระทบ โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงเฉียดๆ 10% เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทพลังงานที่นักลงทุนมองว่า อาจไม่ได้เติบโตอย่างที่คิด เพราะ DeepSeek พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เอไอล้ำสมัยอาจไม่ได้ต้องการไฟฟ้ามากนัก รวมถึงบริษัทแนวหน้าอย่าง OpenAI และ Anthropic ที่คงรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เพราะจวบจนปัจจุบันยังต้องอาศัยเงินจากนักลงทุน เพื่อความอยู่รอดและยังไม่สามารถทำกำไรได้

อย่างไรก็ตามภาพที่ฉายในตลาดหุ้นก็เป็นเพียงความตื่นตระหนกในระยะสั้น เพราะโมเดลของ DeepSeek ที่สามารถผลิตปัญญาประดิษฐ์ได้ในราคาประหยัด อาจนำไปสู่การเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของอุปสงค์ ดังที่ วิลเลียม สแตนลีย์ เจวอนส์ (William Stanley Jevons) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพอาจนำไปสู่การเร่งการใช้งาน ที่ผ่านมาบริษัทที่ต้องการใช้ปัญญาประดิษฐ์อาจเผชิญกำแพงสำคัญเนื่องจากราคา แต่ถ้า DeepSeek สามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 1 ใน 15 เมื่อเทียบกับเอไอจากโลกตะวันตก การใช้งานที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นย่อมทำให้ความต้องการชิป ศูนย์ข้อมูล และพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ใครได้ประโยชน์จากเอไอราคาประหยัด?

แน่นอนว่า มีผู้เสียประโยชน์ก็ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์ DeepSeek ย่อมสร้างคลื่นลูกใหม่ราคาประหยัดที่ช่วยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเขียนแอปพลิเคชันโดยใช้เอไอ เช่น Salesforce และ SAP สามารถลดต้นทุนได้มโหฬาร ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้จึงพากันขยับขึ้น เช่นเดียวกับ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งที่ตัดสินใจไม่ทุ่มเงิน เพื่อขี่คลื่นปัญญาประดิษฐ์ ก็อาจได้รับประโยชน์ด้วยเพราะในสภาพตลาดเอไอที่ดุเดือด Apple สามารถนั่งเฉยๆ แล้วเลือกโมเดลที่ดีที่สุด เหมาะที่สุด และราคาประหยัดที่สุดเพื่อนำมาใช้งาน

บริษัทและเหล่าห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกเองก็ได้ผลพลอยได้ไปด้วย เนื่องจาก DeepSeek เปิด Open Source เท่ากับว่า เหล่านักพัฒนาทั่วโลกที่กำลังกระเสือกกระสนทำงาน เพื่อสร้างไอเอในท้องถิ่นที่รอบรู้ในบริบทของภาษาและประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Mistral เอไอสัญชาติฝรั่งเศส, Falcon 3 ที่พัฒนาโดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี (Technology Innovation Institute) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึง AI for Thai ที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

และแน่นอนว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการแข่งขันอันดุเดือดนี้ก็หนีไม่พ้นผู้บริโภค หากปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเปลี่ยนสังคมได้จริง ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ เอไอต้องราคาประหยัด เข้าถึงง่าย และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทหรือประเทศใดๆ DeepSeek เปิดโอกาสให้เห็นทางเส้นนั้น และการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นก็ทำให้เหล่าบริษัทนักพัฒนาเอไอเจ้าตลาดที่เคยคิดว่า ตัวเองไร้คู่แข่งต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่

แม้ว่าหลายคนและหลายบริษัทอาจมองไม่เห็นว่า จะประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการทำงานในปัจจุบันอย่างไร แต่อีกไม่นานผู้เขียนเชื่อว่า กรณีศึกษาและเครื่องมืออำนวยความสะดวกจำนวนมากจะช่วยให้เราเข้าถึงและใช้งานเอไอได้ง่ายยิ่งขึ้น อย่าลืมว่า เจ้าปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างยุคใหม่อย่าง ChatGPT เพิ่งเปิดตัวมาเมื่อปลายปี 2022 เท่านั้น ยังมีเวลาอีกมากมายที่เราจะค่อยๆ หาหนทางใช้งานเอไอเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ประตูบานนั้นก็เปิดกว้างยิ่งขึ้น เมื่อ DeepSeek พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เอไอไม่จำเป็นต้องราคาแพง

เอกสารประกอบการเขียน

DeepSeek poses a challenge to Beijing as much as to Silicon Valley

The real meaning of the DeepSeek drama

DeepSeek sends a shockwave through markets

Why Chinese AI has stunned the world

Chinese AI is catching up, posing a dilemma for Donald Trump

How DeepSeek ripped up the AI playbook—and why everyone’s going to follow its lead

Tags: , , , , , , , , ,