นับแต่หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสิ้นสุดลง มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยได้กลับเข้าสู่วังวนของการแบ่งขั้วทางการเมืองและการกระพือความเกลียดชังในพื้นที่ออนไลน์ หลังจากพักยกมาช่วงหนึ่ง
ปรากฏการณ์ที่ว่าเห็นได้ชัดในแพลตฟอร์มยอดนิยมคือ ไลน์และเฟซบุ๊ก ที่มีแนวโน้มของการจับกลุ่มตามขั้วความคิดและค่านิยมที่ใกล้เคียงกันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ขณะที่แพลตฟอร์มอย่าง ทวิตเตอร์และอินสตาแกรมก็สะท้อนความแรงในแนวทางเดียวกัน ด้วยจุดเด่นของการส่งข้อความสั้นๆ หรือคลิปสั้นๆ เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนที่เห็นคล้ายๆ กัน
ที่น่ากลัวคือ ข่าวกุข่าวลวง (Fake news) ทางการเมืองกลับขยายวงและส่งผลกระทบเข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากถูกเผยแพร่หรือแชร์ผ่านเครือข่ายของผู้ใช้ออนไลน์ในบริบทหลังเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความไม่ลงรอยและอคติต่อคนที่คิดต่างเห็นต่าง ทำให้ละเลยหรือไม่ฉุกคิดที่จะตรวจสอบความถูกต้องของข่าวเหล่านั้น หลายคนเชื่อข่าวลวงเพียงเพราะมันถูกส่งต่อจากคนในวงจรใกล้ตัวหรือบางครั้งก็เผยแพร่โดยสื่อกระแสหลักที่ไม่รอบคอบพอ
นักวิชาการจำนวนหนึ่งพิจารณาปัญหาเหล่านี้ในกรอบของการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ซึ่งเป็นแนวคิดในยุคของสื่อดั้งเดิมในศตวรรษที่ 20 ที่มุ่งให้ผู้เปิดรับสื่ออย่าง หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ สามารถประเมิน วิเคราะห์ และแม้แต่สร้างเนื้อหาได้อย่างพินิจพิจารณ์
แต่ด้วยคุณลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์และนิเวศวิทยาแห่งสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉมในศตวรรษที่ 21 นักวิชาการอีกกลุ่มกลับมองว่า ณ จุดนี้ เรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ของปรากฏการณ์ทางข้อมูลข่าวสารซึ่งกำลังเป็นที่จับตาและศึกษากันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” หรือ Echo chamber ซึ่งผู้รู้หลายคนมองว่าเป็นภาวะที่คุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเซ็นเซอร์ การกุข่าว หรือการบิดเบือนข้อมูล
โดยภาพรวม “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” หมายถึง ภาวะที่ผู้ใช้ประกอบกับระบบทางเทคโนโลยีทำการกลั่นกรองเนื้อหาที่เปิดรับตลอดจนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในวงล้อมของคนที่คิดเหมือนกัน นำไปสู่การตอกย้ำของความคิดตลอดจนอคติใดๆ ที่มีร่วมกับคนในกลุ่ม การสร้างกลุ่มแบ่งขั้วที่สามารถพัฒนาไปสู่พฤติกรรมสุดโต่ง จนถึงการแตกแยกของคนในสังคม
แม้ก่อนหน้ายุคสื่อสังคมออนไลน์ ผู้คนอาจคุ้นชินกับสื่อเลือกข้างที่ปลุกเร้าความรู้สึกแบบแบ่งขั้วทางการเมืองและอคติตามขั้วความคิดนั้นๆ แต่การรวมกลุ่มกันและระดมสรรพกำลังเพื่อกระพือหรือขยายผลในระดับสังคมต้องใช้ความพยายามมากกว่าในยุคสื่อสังคมออนไลน์มากมายนัก
อัลกอริธึม และห้องแห่งเสียงสะท้อน
ในระดับหนึ่ง ห้องแห่งเสียงสะท้อนเกิดขึ้นจากระบบกลั่นกรองและคัดเลือกเนื้อหาของสื่อสังคมออนไลน์ อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กออกแบบให้เนื้อหาที่ระบบป้อนให้ผู้ใช้แต่ละคนอย่าง นิวส์ฟีด (News Feed) มาจาก 1) การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบแผนการใช้เฟซบุ๊ก และ 3) การเชื่อมโยงจากลักษณะร่วมระหว่างผู้ใช้ในเครือข่าย ด้วยเหตุนี้สิ่งที่จะได้พบเห็นบนนิวส์ฟีดก็คือสิ่งที่คัดสรรแล้วว่าน่าจะถูกจริตของผู้ใช้ เรื่องทั่วไปที่อาจจะมีประโยชน์แต่ไม่เข้าข่ายตามอัลกอริธึมกำหนดจะไม่มีทางปรากฏต่อสายตาของผู้ใช้คนหนึ่งๆ
ในอีกระดับหนึ่ง ห้องแห่งเสียงสะท้อนยังเป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์สามารถเลือกที่จะคัดสรรและกลั่นกรองทั้งแหล่งข้อมูล คนที่อยู่ในเครือข่ายและเนื้อหาที่ต้องการเปิดรับได้ ผ่านฟีเจอร์ในเฟซบุ๊กเช่น การ follow/unfollow (ติดตาม/เลิกติดตาม) unfriend (เป็นเพื่อน/เลิกความเป็นเพื่อน) การ block (ปิดกั้น) การ hide (ซ่อนเนื้อหา) หรือแม้แต่การกดรายงาน (report) เนื้อหาที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความคิดตนเอง เป็นต้น
ในทวิตเตอร์ฟีด นอกจากข้อมูลที่มาจากการกดติดตาม (follow) แล้ว ข้อมูลที่เข้ามาสู่ผู้ใช้อีกส่วนหนึ่งจะมาจากแฮชแท็ก (Hashtag) ซึ่งเป็นเหมือนรหัสร่วมของคลื่นข้อมูลที่สื่อสารในเครือข่าย ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงถึงสิ่งเดียวกันที่อยู่ในกระแสได้ และแน่นอนว่าคนที่สนใจเรื่องตามแฮชแท็กเดียวกันก็จะได้รับเนื้อหาป้อนเข้ามาเหมือนๆ กัน
เพราะฉะนั้น ในทั้งสองแพลตฟอร์มคือเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ต่างก็มีแนวโน้มการออกแบบที่จะฟีดให้เฉพาะข้อมูลที่ตรงและตอกย้ำความคิดความเชื่อที่มีอยู่เดิม สิ่งที่ตรงจริตจะถูกฟีดเข้ามาหาเรามากกว่าสิ่งที่แตกต่างหรือขัดแย้งออกไป จึงเสมือนว่าได้สร้างกระโจมตัวกลั่นกรอง (Filter bubbles) ให้ผู้ใช้ไปโดยปริยาย
สิ่งที่ตรงจริตจะถูกฟีดเข้ามาหาเรามากกว่าสิ่งที่แตกต่างหรือขัดแย้งออกไป
Filter bubbles
คำว่า Filter Bubbles ในที่นี้มาจากอุปลักษณ์ที่ถูกทำให้แพร่หลายในกระแสวัฒนธรรมนิยมจากภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “The Boy in the Plastic Bubble” (เด็กชายในกระโจมพลาสติก) ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ.1974 เป็นเรื่องราวที่สร้างจากชีวิตจริงของเด็กชายชาวอเมริกันชื่อเดวิด เวตเตอร์ (1971-1984) ซึ่งป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากพันธุกรรมและต้องใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดเชื้อโรค พ่อแม่ของเดวิดต้องสร้างกระโจมพลาสติกให้เขาอาศัยอยู่ข้างในเพื่อป้องกันและกลั่นกรองเชื้อโรค ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ จอห์น ทราโวลต้าซึ่งรับบทเป็น เด็กชายในกระโจม (Bubble Boy) ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ได้แสดงให้เห็นภาพว่าเขาต้องใส่ชุดเหมือนมนุษย์อวกาศเวลาจะออกจากกระโจมพลาสติกที่ปลอดเชื้อไปใช้ชีวิตข้างนอก
แนวคิดเรื่องกระโจมตัวกรอง หรือ Filter Bubbles (มีการแปลว่า ฟองสบู่ตัวกรอง หรือสุญญากาศตัวกรอง) ในสื่อสังคมออนไลน์เริ่มต้นมาจากหนังสือขายดีระดับโลกของ Eli Pariser เรื่อง The Filter Bubbles ซึ่งออกมาในสองเวอร์ชั่นในปี 2009 และปี 2012 โดยทั้งสองเล่มมีข้อสรุปร่วมตรงกันคือ ระบบอัลกอริธึมของผู้ให้บริการด้านเนื้อหายอดนิยมอย่าง กูเกิล และ เฟซบุ๊ก ต่างก็ทำการกลั่นกรองและคัดสรรข้อมูลเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้ระบบการตลาดออนไลน์ และยังเป็นเสมือนกระจกสะท้อนด้านเดียวให้ผู้ใช้ได้ปะทะสังสรรค์กับเฉพาะข้อมูลที่ชอบและสนใจหรือแม้แต่ช่วยตอกย้ำอคติใดๆ ที่มีด้วยการเชื่อมโยงกับเพจหรือผู้ใช้อื่นที่มีอคติแบบเดียวกัน
เมื่อผนวกกับฟีเจอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เลือกเนื้อหาและคนที่จะเป็น “เพื่อน” ได้ก็นำไปสู่ภาวะที่ผู้ใช้จะได้ยิน ได้ฟัง ได้แลกเปลี่ยนเฉพาะกับเสียงหรือผู้คนที่มีจุดยืนทางความคิด ความเชื่อ หรือแม้แต่ความเกลียดชังที่สอดคล้องกับตนเท่านั้น ยิ่งเสียงที่กลับมาเป็นเสียงแบบเดิม สะท้อนไปมาก็จะยิ่งทำให้เสียงนั้นดังยิ่งขึ้นจนกลบเสียงที่แตกต่างออกไปหรือในอีกแง่ก็คือไม่เปิดพื้นที่ให้เสียงที่ไม่เห็นตรงกันสามารถหลุดรอดเข้ามาได้เลย
การกลั่นกรองที่ระบบประมวลจากโปรไฟล์ส่วนบุคคลและการคัดสรรที่กำหนดโดยผู้ใช้เองจึงถูกมองว่าเป็นการบ่อนทำลายเจตนารมณ์ดั้งเดิมของอินเทอร์เน็ตในฐานะแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสำหรับการกระจายความคิดใดๆ เพราะรังแต่จะนำไปสู่โลกที่เป็นห้องแห่งเสียงสะท้อนขนาดใหญ่ที่ผู้คนขาดความเข้าใจและการเชื่อมโยงกันบนความหลากหลายอย่างมีความหมาย
ยิ่งเสียงที่กลับมาเป็นเสียงแบบเดิม สะท้อนไปมาก็จะยิ่งทำให้เสียงนั้นดังยิ่งขึ้นจนกลบเสียงที่แตกต่างออกไป
สองมุมมองทางวิชาการเกี่ยวกับห้องแห่งเสียงสะท้อน
ในทัศนะของนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและการสื่อสารในบริบทออนไลน์ ปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนเป็นภาวะคุกคามที่สำคัญมากสำหรับเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตย เนื่องจากสามารถนำไปสู่ผลในภาพรวมของการสื่อสารที่กระแสของเนื้อหาขาดความสมดุลและเที่ยงธรรม เมื่อผู้ใช้เปิดรับและมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดอคติในการรับรู้และกระบวนการคิดโดยจะเลือกเชื่อและประมวลผลเฉพาะข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อดั้งเดิมของตนเอง
เมื่อสาธารณชนไม่สามารถเป็นพลเมืองที่รู้แจ้งทางข้อมูลข่าวสาร การตัดสินใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองก็จะกระทบไปด้วยเพราะไม่อยู่บนฐานของการเปิดกว้างและความหลากหลายทางความคิด ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกประนีประนอม เพราะพลเมืองจะไม่อดทนอดกลั้นกับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง
อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าห้องแห่งเสียงสะท้อนอาจเป็นเพียงมายาคติ และสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้กำลังสร้างนิเวศวิทยาทางข่าวสารในลักษณะที่นักวิชาการกลุ่มแรกตั้งข้อสังเกตเสมอไป นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่า ภาวะของการคัดสรรและกลั่นกรองข่าวสารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมีข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาลบนพื้นที่ออนไลน์ ผู้ใช้คนหนึ่งๆ ย่อมไม่สามารถบริโภคทุกอย่างได้ทั้งหมด แนวโน้มที่จะเปิดรับหรือเข้าถึงเนื้อหาแบบเอียงไปขั้วใดขั้วหนึ่งเป็นไปได้สูงแต่ก็ไม่ได้แปลว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะไม่เปิดรับเนื้อหาจากแหล่งที่มีความคิดเห็นในขั้วตรงข้ามเลย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพิวในสหรัฐอเมริกาที่เก็บข้อมูลจากผู้ใช้ออนไลน์ที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ.2016 สนับสนุนข้อสังเกตนี้ ด้วยข้อค้นพบที่ว่า ผู้ใช้ออนไลน์ส่วนใหญ่ได้พบเห็นความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมองทางการเมืองในฟีดของสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ และจากงานวิจัยที่คล้ายคลึงกันซึ่งเก็บข้อมูลในอังกฤษก็พบว่ามีเพียงร้อยละ 8 ของผู้ใช้ออนไลน์ที่ขาดความหลากหลายในแหล่งข้อมูลทางการเมืองและเป็นกลุ่มเสี่ยงของการสร้างห้องแห่งเสียงสะท้อน
แม้จะไม่มีคำตอบตายตัวว่า สังคมใดที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อนมากกว่ากัน เนื่องจากยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย แต่การแบ่งขั้วและความขัดแย้งไม่ลงรอยอันสืบเนื่องยาวนานก็นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากทีเดียว
อันตรายของ ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ ทางการเมือง
แม้การเลือกตั้งที่จัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะผ่านไปแล้ว แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของกระบวนการนับและคิดคำนวณคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผลสืบเนื่องของอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการเมืองหลังเลือกตั้ง การปรากฏโฉมของสมาชิกวุฒิสภาที่ผู้คนมีข้อกังขาถึงกระบวนการได้มาและบทบาทที่จะทำต่อไป ตลอดจนความอึมครึมในเรื่องของการฟอร์มรัฐบาลกับผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ดูเสมือนว่ามีห้องแห่งเสียงสะท้อนหลายๆ ห้องที่อึงอลไปด้วยการพูดคุย การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ตอกย้ำความคิดต่างขั้วที่แยกจากกันจนไม่เห็นหนทางที่จะมาบรรจบกันได้ปรากฏอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ของไทย
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเครือญาติ การรวมกลุ่มคนในตระกูลหรือกลุ่มญาติหนึ่งๆ จึงเป็นเรื่องปกติของการจัดตั้งกลุ่มไลน์ แต่ด้วยการแบ่งขั้วทางความคิดที่แตกต่างกันไปตามอุดมการณ์หรือแม้แต่เจเนอเรชั่นก็ทำให้การสื่อสารในกลุ่มเหล่านี้ถูกครอบงำด้วยเสียงที่ดูเหมือนจะเป็นเสียงหลักซึ่งดังกว่าหรือเสียงที่มีอาวุโสสูงกว่า สมาชิกที่เป็นเสียงข้างน้อยหรืออ่อนอาวุโสกว่าก็ต้องเงียบเสียงไม่แสดงออก เพราะไม่อยากถูกมองไม่ดีหรือไม่อยากมีเรื่องกับผู้ใหญ่ ทว่าการต้องเก็บกดความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงมีและพึงนำเสนอได้ก็อาจจะทำให้เกิดการร้าวลึกในความรู้สึกและกัดกร่อนความสัมพันธ์ในชีวิตจริงขึ้นมาได้ หลายครอบครัวต้องเกิดความร้าวฉานเพราะทัศนะทางการเมืองที่ขัดแย้งกันและการปะทะกันผ่านปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มหรือพื้นที่ออนไลน์
สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับการสื่อสารในห้องแห่งเสียงสะท้อนเหล่านี้ก็คือ การปรากฏของประทุษวาจาหรือถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (hate speech) ต่อผู้ที่เป็นตัวแทนของการเมืองต่างขั้วหรือผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองที่อยู่ต่างขั้ว อาจเป็นเพราะมีการคัดกรองคนที่มีพื้นเพหรือคิดเห็นเหมือนๆ กันไว้ระดับหนึ่งแล้ว ผู้คนจึงเกิดความสบายใจในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ เลยแสดงออกถึงความเกลียดชังแบบไม่ต้องปิดเม้มอะไร เรียกว่าเผยธาตุแท้เพราะบรรยากาศพาไปก็น่าจะไม่ผิดนัก
การต้องเก็บกดความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงมีและพึงนำเสนอได้ก็อาจจะทำให้เกิดการร้าวลึกในความรู้สึกและกัดกร่อนความสัมพันธ์ในชีวิตจริง
ยิ่งอยู่ในหน้าวอลบนเฟซบุ๊ก หรือในกลุ่มไลน์ของญาติและเพื่อนฝูงซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ที่คุ้นเคย ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งก็จะยิ่งแสดงตัวตนในแง่มุมที่สะท้อนการแบ่งแยกคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างขั้ว ทั้งในลักษณะดูหมิ่น ลดรวบคุณค่า หรือแม้แต่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การเปรียบคนเป็นควายเพราะเห็นว่าโง่นักหนาที่ไปสนับสนุนบางกลุ่มการเมืองอย่างที่เราเคยได้ยินกันจนเจนหูในยุคสงครามเสื้อสี ก็ได้ย้อนกลับมาแล้วอีกวาระหนึ่ง หากครั้งนี้ควายไม่ได้สีแดงอีกต่อไปแต่เปลี่ยนเป็นสีส้มแทน ในทำนองเดียวกัน ความหมายของ ‘คนดี’ ตามทัศนะของคนอีกกลุ่มก็กลายมาเป็นวาทะอันเสียดสีและแฝงนัยแบ่งแยกผู้ที่สนับสนุน คสช.ด้วยความเดียดฉันท์ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
บ่อยครั้งที่ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังหรือข้อมูลซึ่งอาจนำไปสู่การยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองหนึ่งๆ ปรากฏอยู่ในข่าวกุข่าวลวงที่แชร์กันแพร่หลายในห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์ แม้จะเป็นข้อมูลเท็จซึ่งมักถูกตีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ผู้นำเข้าสู่ระบบหรือทำให้แพร่หลายมีความผิด แต่ในพื้นที่เหล่านี้ ข่าวกุหรือข่าวลวงที่สืบค้นไม่ได้จากกูเกิลเพราะต้องเลี่ยงกฎหมายกลับแพร่สะพัดเต็มไปหมด และผู้ใช้จำนวนมากก็ไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าสิ่งที่ตนกำลังแชร์และต่อยอดอคติให้ขยายวงกว้างออกไปนั้นเป็นข้อมูลเท็จ
หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปอย่างที่เป็นอยู่ ก็อาจจะเปรียบได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายมาเป็นอาวุธที่เราเลือกใช้เพื่อตอกย้ำความแตกต่างทางความคิดและขยายความขัดแย้งในสังคมให้บาดลึกมากขึ้น ในนิเวศวิทยาการสื่อสารที่ผู้คนย้ายฐานสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ การมีส่วนร่วมทางการเมืองสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่กดไลก์กดแชร์หรือโพสต์เนื้อหาบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีเวทีชุมนุมหรือการปราศรัยที่ปลุกเร้าความเกลียดชังทางการเมืองด้วยวาทะแบ่งแยกหรือถ้อยคำอันตรายอีกต่อไป เพราะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้รับเอาอาวุธและบทบาทเหล่านั้นมาไว้ในมือตนเองพร้อมมือถือ แทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว
Tags: สื่อ, โซเชียลมีเดีย, เฟซบุ๊ก, อินเทอร์เน็ต, เลือกตั้ง62, เลือกข้าง, อัลกอริทึม