วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ SCBX NEXT TECH ในงาน Drive the Momentum เฉลิมฉลองวาระ 8 ปีของสื่อออนไลน์ The Momentum นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และรองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ขึ้นปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Deconstruct Thai Soft Power โดยเริ่มต้นผ่านข้อสรุปว่า ประเทศไทยต้องเริ่มต้นจากการ ‘สร้างอนาคต’ และสร้างเกมขึ้นมาใหม่ มากกว่าจะเดินตามเกมที่คนอื่นกำหนด
“ถ้าเดินตามเกมคนอื่น ต่อให้แข่งเรื่องค่าแรง 400 บาท 600 บาท ใช้ค่าแรงถูกๆ นั้นไม่มีทางสำเร็จ”
เช่นเดียวกับคำพูดยอดนิยมของยุคสมัยอย่าง Upskill Reskill ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ ต้องสร้าง ‘ทักษะ’ อะไรขึ้นมาตอบสนองให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยโจทย์สำคัญคือ ‘ระบบราชการ’ จะต้องมีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ แต่ระบบราชการไทยในปัจจุบันยากที่จะทำได้
“ผมเคยทํางานในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กลับมาครั้งนี้รู้เลยว่า ระบบราชการไม่เหมือนเดิม ระบบราชการที่ผมคุ้นเคยคือ ระบบราชการที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ระบบราชการที่ตื่นเต้น พยายามที่จะขับเคลื่อนตลอดเวลา ระบบราชการที่ไม่มีข้อจํากัด ไม่มีเพดานอะไร พร้อมอยากจะทําก็ลุยเลย
“อย่างตอนที่เราทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราเริ่มต้นตอนประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ภายใน 1 ตุลาคม 2544 เราทำสำเร็จ เราใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น ในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ถามว่าวันนี้ ทำได้ไหม ผมฟันธงเลยว่า ไม่ได้ เพราะระบบราชการเราไม่ได้ถูกทำให้เป็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แล้วเราอยู่อย่างนี้กันมา 20 กว่าปี”
เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างเกมของตัวเองขึ้นมาผ่านซอฟต์พาวเวอร์ โดยวิธีสร้างคือ การต่อยอดจากจุดแข็งที่มีอยู่แล้วให้แข็งแรงขึ้นไปอีก อย่างการต่อยอดจาก ‘อาหารไทย’ หรือจาก ‘ยิม’ มวยไทย ที่วันนี้ทั่วโลกมียิมฝึกสอนมวยไทยมากกว่า 4 หมื่นแห่ง แต่ยังแทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อเชื่อมโยงกัน
“จุดแข็งของเราคือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องทักษะ เรื่องงานฝีมือที่สสร้างสรรค์ เมื่อก่อนเราอาจจะมีเครื่องเบญจรงค์ แต่วันนี้เรามีพวงมาลัยดอกมะลิที่เกิดจากการถักโครเชต์ สามารถจำหน่ายได้ 4,000-5,000 บาท หรือยังขายได้มากกว่านั้นอีก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของคนรุ่นใหม่
“หรืองานของคุณกรกต อารมย์ดี ก็สร้างงานหัตถกรรมไทยจากไม้ไผ่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น จนเป็นที่รู้จักในเวทีโลก ไปอยู่หน้าร้านของ Hermes ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย แต่ยังอยู่ที่เกาหลีใต้ อยู่ที่ฝรั่งเศส และอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก”
ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติบอกว่า นี่คือ ‘เกมใหม่’ ที่คนไทยสร้างขึ้นเอง ในโจทย์ใหม่ ทว่าข้อท้าทายคือ ต้องทำให้เกมนี้ไม่ได้มีผู้ได้ประโยชน์เพียงคนบนยอดพีระมิด แต่คือคนไทยและระบบเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
ขณะเดียวกันต้องเลิกการทำงานแบบต่างคนต่างทำ รัฐก็ของรัฐ เอกชนก็ของเอกชน ก่อนหน้านี้เอกชนเล่นจริงเจ็บจริงมาโดยตลอด แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องช่วยขับเคลื่อน
ฉะนั้นส่วนสำคัญคือ การ Upskill Reskill ผ่านโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power) ให้ได้ตามเป้าหมายคือ 20 ล้านคน หรืออย่างน้อย 1 คนในทุกครอบครัว มีโอกาสฝึกทักษะที่ตนเองชื่นชอบ หรือการเวิร์กช็อปโดยคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์สามารถเวิร์กช็อปเรื่องการเขียนบทและโปรดักชันได้
หรือเรื่องของ ‘อาหารไทย’ ซึ่ง เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็ก ตั้งเป้าสอนให้คนไทย 7 หมื่นคน สามารถเป็นเชฟที่มีฝีมือ ทำงานทั้งในภัตตาคารไทยและภัตตาคารระดับโลกได้ โดยหากการ Upskill Reskill เสร็จสิ้น รัฐบาลจะจัดฐานข้อมูลเหมือน LinkedIn เพื่อรวมคนที่มีทักษะต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน หากต้องการคนทำงานในทักษะใด ก็สามารถค้นหาได้ผ่านฐานข้อมูลนี้
ขณะที่ระยะกลาง นายแพทย์สุรพงษ์บอกว่า มีโครงการต่างๆ เช่น การจัดงาน Soft Power Forum ระดับโลก หรือการจัดระบบนิเวศให้กับตลาดนัดจตุจักรใหม่ ให้ทุกคนที่มาประเทศไทยต้องเดินทางเยือนตลาดนัดจตุจักรทุกครั้ง เป็นพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้หากซอฟต์พาวเวอร์ยังอยู่เพียงในประเทศไทยก็จะไปได้เพียงแค่นี้ ฉะนั้นจึงต้องส่ง เอกอัครราชทูตไปสื่อสารวัฒนธรรม เป็นแนวหน้าในการส่งออกวัฒนธรรมไทย และส่งเสน่ห์ของประเทศไทยให้ทั่วโลกรับทราบได้
ส่วนระยะยาว โจทย์ใหญ่ก็คือ ต้องมีกฎหมายและมีหน่วยงานอย่าง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางประสานงาน ดึงสภาภาพยนตร์ สภาศิลปะ สถาบันแฟชั่น สภาการทำงานด้านดนตรี สถาบันหนังสือ หรือสถาบันอาหารอยู่ด้วยกัน เพราะหากปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้หน่วยงานระดับกระทรวงจะไม่มีทางขับเคลื่อนได้เลย เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็จำเป็นต้องมีการตั้งหน่วยงานอย่าง ‘สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ เป็นตัวกลาง เพราะหากให้ทุกหน่วยงานรับผิดชอบด้วยตัวเอง ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น
“เราจะมี THACCA เราจะมีการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ครั้งใหญ่ของประเทศไทย หากมีคนตั้งคำถามว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไร การทำนายอนาคตที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างอนาคตของเราขึ้นมาเอง ไม่รอโชคชะตา” นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวสรุป
Tags: Soft Power, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, หมอเลี๊ยบ, ซอฟต์พาวเวอร์, Drive The Momentum