เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขึ้นกล่าวบนเวทีงานครบรอบ 8 ปี Drive the Momentum ที่ SCBX NEXT STAGE ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในหัวข้อ ‘Bangkok: Friendly Neighborhood’ โดยกล่าวว่า เมืองจะเป็นมิตรไม่ได้ ตราบใดที่เมืองไม่ฟังเสียงของคน ซึ่งเมืองเป็นมิตรในมุมมองของตนจะต้องประกอบด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการขับเคลื่อนให้เมืองเป็น People-Centric
โดยในมิติแรก ‘การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’ ศานนท์กล่าวว่า การตัดสินใจทำให้เมืองเป็นมิตรนั้น จะไม่สามารถทำได้ หากไร้ซึ่งข้อมูลในการทำนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น ระบบการบริหารน้ำ ในเดือนกันยายน ปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ 801.5 มิลลิเมตร ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถเก็บข้อมูลว่า มีพื้นที่กว่า 737 จุดเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และสามารถลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ระบบไฟแสงสว่างของเมือง ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีหลอดไฟทั้งสิ้นกว่า 4 แสนดวง โดยอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) ทำให้สามารถรับรู้ได้ว่าไฟดวงใดชำรุด
“หากใช้ข้อมูลมาตัดสินใจทำให้เมืองมีประสิทธิภาพก็จะทำให้เมืองเป็นมิตรมากขึ้น”
ในมิติที่สอง ‘การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน’ รองผู้ว่า กทม.ระบุว่า หัวใจสำคัญของความเป็นมิตรคือ ‘การรับฟัง’ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้
1. ‘ช่วยสอดส่อง แจ้งปัญหา’ เช่น ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่สามารถรับฟังข้อร้องเรียนของประชาชน และประชาชนก็สามารถให้คะแนนกับหน่วยงานประจำเขตที่อาศัยอยู่ว่า มีการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนหรือไม่ หรือการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ให้ประชาชนเห็นว่าภาครัฐมีการดำเนินการพัฒนาหรือจัดสรรงบประมาณอย่างไรได้
2. ร่วมทำ นำเสนอ’ เช่น การทำให้บริการของ กทม.เป็นระบบออนไลน์ การเปิดเวทีการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ผ่านสภาเมืองคนรุ่นใหม่ การจัดงานแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับ กทม.หรือโครงการอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน (อสท.) ให้ชุมชนจัดทำข้อมูลภายในชุมชนเพื่อการบริหารจัดการภายในได้
ศานนท์เปรยว่า ในอนาคต กทม.มีแผนที่จะเปิดแพลตฟอร์มให้ประชาชนสามารถจองพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกเสนอมาจากภาคประชาชน คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปลายปีนี้
3. ‘ประชาชนตัดสินใจได้เอง’ เมืองจะเป็นมิตรได้ ประชาชนต้องสามารถตัดสินใจได้เอง โดยการนำเสนอโครงการที่ชุมชนต้องการผ่านแพลตฟอร์มงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Partcipatory Budgeting) ซึ่งคาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
ในมิติสุดท้าย People-Centric ศานนท์กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็นเมือง Car-Oriented นับเป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องเปลี่ยนให้เป็น People-Oriented ให้ได้ เพราะการมีเป้าหมายเช่นนั้น ต้องอาศัยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในการเข้ามาช่วยดำเนินการ
รองผู้ว่าฯ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทม.มีการทดลองทำกิจกรรม Bangkok Car-Free ในย่านสตรีตฟู๊ดชื่อดังอย่างบรรทัดทอง เพื่อเปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน คล้ายกับที่มหานครนิวยอร์ก (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโครงการที่ชื่อว่า Open Street เพื่อปิดถนนให้คนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น
นอกจากนั้น กทม.ยังมีความร่วมมือกับเครือข่ายจักรยานในการปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่นำร่องทั้งหมด 4 แห่ง ตามสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ สถานีสามยอด สถานีพร้อมพงษ์ สถานีลาดพร้าว 71 และสถานีท่าพระ โดยวิธีการ กทม.ได้ทำการศึกษาอัตราการไหลของรถ พบว่าถนนบางเส้นสามารถลดเลนสำหรับยานยนต์ เพื่อนำไปปรับปรุงเป็นทางจักรยานและทางเท้า ให้ประชาชนสามารถเดินได้อย่างสะดวกมากขึ้น
“ทั้ง 3 มิติที่กล่าวมา ผมคิดว่าจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรมากขึ้น ด้วยการตัดสินใจผ่านข้อมูล ด้วยการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเปลี่ยนเมืองให้เป็นเมืองที่เห็นคนมากขึ้น ลด Car-Centric ให้น้อยลง” ศานนท์กล่าว
Tags: กรุงเทพมหานคร, กทม., Drive The Momentum, ศานนท์, Bangkok Friendly Neighborhood