ดราม่านี่ก็เหมือนไทยมุงว่าไหมคะ เพียงแค่เปลี่ยนจากสถานที่จริงไปสู่โซเชียลมีเดียตามเพจต่างๆ ทั้งเพจต้นตอของข่าวไป ไปจนถึงเพจที่ได้รับความนิยมที่แชร์ข่าวนั้นไป แล้วก็จะมีอินเซ็ปชั่นดราม่าเกิดขึ้นอีกครั้งในช่องคอมเมนต์ บางทีคนก็ไม่ได้อยากเข้าไปอ่านข่าวดราม่าหรอกนะคะ แต่อยากเข้าไปอ่านคอมเมนต์ซึ่งสร้างดราม่าอีกทีมากกว่า
ที่เล่ามานี่ จะบอกว่าฉันก็เพิ่งไปทำตัวเป็นไทยมุงดราม่าน้องแก้ว BNK48 มาเหมือนกัน
คุณเอ๊ยยย…ช่องคอมเมนต์นี่แหละ คือสีสันของดราม่าจริงแท้ เต็มไปด้วยความคิดที่หลากหลาย ทั้งสุภาพ หยาบคาย เกรียน ด่าทอ เล่นมุก ฯลฯ ในขณะเดียวกัน กลไกของโซเชียลมีเดียมันก็จะจัดการตัวมันเอง เช่น ความคิดเห็นที่ได้รับความนิยมชมชอบก็จะมีคนกดไลก์กดเลิฟมากที่สุด ก็จะถูกดันไปอยู่ช่องบนสุด ซึ่งก็จะทำให้เราเห็น ‘ทิศทาง’ (ไม่ว่าจะถูกหรือผิด–ในสายตาเรา) ของกระแสในเรื่องนั้นๆ หรือแม้แต่หากมีความคิดเห็นใดที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะด้วยความคิด การใช้ภาษา หรืออื่นใด ก็จะมีคอมเมนต์อื่นๆ มา ‘จัดการ’ ในช่องรีพลาย ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลมาหักล้าง แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง ฯลฯ
การอ่านคอมเมนต์ก็เหมือนกับการดูรายการโต้คารมมัธยมศึกษาดีๆ นี่เอง (เด็กสมัยนี้คงไม่รู้จักหรอก)
จากดราม่าดังกล่าว และการตามติดความคิดเห็นของผู้คนในโลกโซเชียลฯ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะมาจาก ‘ติ่ง’ หรือมาจากคนทั่วไป ก็จะเห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่ง แต่ก็หลายทีเดียวแหละ ยังมีแนวความคิดต่อของปลอมหรือของละเมิดลิขสิทธิ์ไปในทางที่เห็นว่า “มันไม่ผิดอะไรนี่” ทั้งการมองว่าของละเมิดลิขสิทธิ์เป็นทางเลือกของคนไม่มีเงินซื้อของจริงที่มีราคาสูง หรืออื่นๆ ดังต่อไปนี้
“ใส่ของปลอมหรือของจริงมันขัดต่อวงยังไง”
“ใส่ของปลอม ก็ประหยัดไง ทำไมต้องใส่ของจริง”
“จริงๆ การใช้ของปลอมหรือของก๊อปมันก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกนะครับ แต่ที่ผิดก็ตรงที่โพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ”
“ครูแก้วใส่ของปลอมยังเรียนจบปริญญา เดี๋ยวก็หาเงินได้ ลิซ่าใส่ของแท้แต่เรียนไม่จบ ใช้เงินไปสุดท้ายเดี๋ยวก็หมด ใครโง่กว่ากันว่ะ”
“จ่ายแพงกว่าไปทำไม ของแท้กับของปลอมคนทั่วไปดูไม่ออกหรอก”
“ก็ซื้อมาใช้ไม่ใช่เหรอ ถ้าซื้อมาใช้ ก็ไม่เห็นเป็นไร”
“ใครบอกของแท้มันแพงเองง่ะ”
“ครูแก้วจะใส่ของอะไรก็สิทธิ์ของครูแก้วมั้ย ทำไมเอาแต่จับผิด ตลกมากมั้ย”
“ก้แค่ของปลอมป่ะ?”
“นักร้องเขาขายเสียง ไม่ได้ขายแบรนด์เนม”
“ใส่ของปลอมผิดด้วยหรอวะ”
*ใช้การสะกดตามคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย
ฯลฯ
บอกเลยค่ะ ว่ายิ่งอ่านคอมเมนต์ไปเรื่อยๆ คีย์บอร์ดนี่สั่นเลยค่ะ แต่สิ่งที่สั่นกว่าคีย์บอร์ดคือศีรษะ เพราะอ่านไปก็ได้แต่ส่ายหัวไป ไม่น่าเชื่อว่าความรับรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย (จำนวนหนึ่ง) จะเป็นเช่นนี้ ว่าแต่เป็นเพราะอะไร?
หากมองย้อนระลึกไปถึงประเด็น อะไรคือเอกลักษณ์ คือความภูมิใจ คือสิ่งที่คนไทยเชิดหน้าชูตาเอาไปแนะนำกับฝรั่ง หรือแม้แต่เอาไปแสดง เอาไปขาย หรือพาฝรั่งมาดู เรามักจะพบว่า ในทางเศรษฐกิจ เราก็มักจะนึกถึงข้าว เราส่งออกข้าว (แม้จะไม่ได้เป็นสินค้าอันดับหนึ่งในการส่งออกอีกต่อไปแล้ว) หรือแม้กระทั่งเราเป็นประเทศเกษตรกรรม (ซึ่งก็ขัดแย้งกับข้อมูลการส่งออก) ในขณะที่ด้านอุตสาหกรรม แม้จะเป็นสิ่งที่ส่งออกอันดับหนึ่งและติดในอีกหลายอันดับท็อปเท็นในหมวดอุตสาหกรรม เราก็มักเป็นเพียงฮับ (Hub) เป็นโรงงานผลิตตามแบบ ตามสั่ง มากกว่าจะเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้สร้างนวัตกรรม ที่ยังไม่นับสำนึกในแบบประเทศเกษตรกรรมดังที่กล่าวมา
หันมาดูอีกด้าน เวลาเราจะอวดใครเขา เราก็มักจะอวดในเรื่อง ‘วัฒนธรรม’ การไหว้ พาไปดูรำไทย โขน พาไปวัด อะไรที่มีคำสร้อยต่อท้ายว่าโบราณ อยุธยา สุโขทัยได้ยิ่งดี วัฒนธรรมคือตัวแทนของเอกลักษณ์ไทย คือสิ่งเชิดหน้าชูตา คือสิ่งที่เรายกขึ้นมาเพื่อสร้างความทัดเทียมกับนานาชาติ แม้ว่าจะเปรียบเทียบกันคนละประเภทก็ตาม แต่เราก็มักจะนำเอา ‘วัฒนธรรม’ ไปสู้ และเหมือนจะ (คิดเอาเองว่า) เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่มีพลังสูงสุด ใครก็เทียบไม่ได้
และสิ่งหนึ่งที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาและหาเงินเข้าไปประเทศได้อย่างมากมาย นั่นก็คือ ‘การท่องเที่ยว’ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือทางธรรมชาติ ซึ่งทางธรรมชาติมันก็คือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่สรรค์สร้างไว้ให้เรา
ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึง ‘สำนึก’ ที่ติดตัวเรามา ซึ่งเกิดมาจากการหล่อหลอมทางการศึกษา สิ่งที่ปรากฏในแบบเรียน สื่อ นโยบายของรัฐบาล การถูกผลิตซ้ำไม่ว่าทางใดเพื่อสร้างและตอกย้ำสำนึกนั้นเพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งเรื่อยมา
และสำนึกนี้เองที่ทำให้เรามองข้ามที่จะทำความเข้าใจสำนึกแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนทั้งด้านกฎหมายและวิธีคิดอย่างลิขสิทธิ์ จนอาจจะทำให้ไร้ไปซึ่งสำนึกและความเข้าใจหรือความอยากจะเข้าใจ เพราะทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม การออกแบบ เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ (ถูกสร้างให้) เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ของดีของชาติ ไม่ใช่ความเชิดหน้าชูตาของคนไทย ที่พอจะเอาไปสู้กับต่างชาติ เอาไว้อวด เอาไว้เคลม เอาไว้บลัฟกับใคร และเมื่อมันไม่ได้เป็น ‘อาวุธ’ ในการต่อสู้ทั้งในเชิงอุดมคติหรือในเชิงเศรษฐกิจแล้ว มันจึงถูกปล่อยปละละเลยในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องหรือแม้กระทั่งเพิกเฉยที่จะรับรู้หรือทำความเข้าใจ ยังไม่นับว่าเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องใหม่ในสังคมอีกด้วย
การกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนไทยไม่เก่ง คนไทยไม่มีนวัตกรรม คนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ (ออกตัวไว้ก่อน เดี๋ยวดราม่าซ้ำซ้อนอีก!) เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้มันไม่ถูกบรรจุอยู่ในสำนึกของเรา เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราหยิบยกนำมาเป็นเอกลักษณ์หรือเชิดชูเพื่อให้เป็นหน้าเป็นตาของชาติเพื่อแข่งขันกับนานาชาติ
และเราแข่งขันกับนานาชาติในเรื่องนี้อย่างไร?
ที่น่าเศร้าก็คือ เราไม่ได้แข่งขันในเชิงการสร้างสิ่งใหม่ การเป็นผู้นำ การเป็นเจ้าของนวัตกรรม งานออกแบบสร้างสรรค์หรือเทคโนโลยี แต่เรากลับสู้ด้วยแนวความคิดการสร้างความทัดเทียมด้วยการ ‘ทำให้มีเหมือนเขา’ จากการลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการสถาปัตยกรรม วงการเพลง วงการแฟชั่น วงการการออกแบบ ฯลฯ หลากหลายวงการที่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ ซึ่งอย่าให้ยกตัวอย่างเลยค่ะ เดี๋ยวจะโดนฟ้อง!
และเมื่อการลอกเลียนแบบมันเป็นวิถีในการสร้างความทัดเทียมของเราในด้านนั้น จึงไม่แปลกใจที่เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากกรณีดราม่าของปลอมของแก้ว BNK48 จะเป็นไปในทางนั้น ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ไม่เคารพซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา เพราะสังคมไทยไม่ได้หล่อหลอมเรามาให้มีสำนึกเหล่านั้น และยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าก๊อปปี้แล้วไม่ถูกจับได้ก็แล้วไป หรือแม้แต่ได้ดีมีชื่อเสียง ร่ำรวย เพราะก๊อปปี้เขามาก็มีถมถืดไป
คนไทยน่ะ ถ้าจะโวยวายหรือมีสำนึกในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา ก็คงมีเรื่องเดียว ก็คือต่างชาติจะมาจดทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งที่เรียกว่าเป็นของคนไทยไป ซึ่งเป็นสำนึกชาตินิยมมากกว่าจะเป็นสำนึกในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยซ้ำไป!
Tags: ทรัพย์สินทางปัญญา, BNK48