ห้าปีก่อน หรือถ้าจะกล่าวถึงให้แม่นยำคือวันที่ 23 เมษายน 2014 ชีวิตที่เปี่ยมล้นด้วยจินตภาพผ่านถ้อยคำได้ถูกพรากจากแสงตะวันและแสงจันทร์ด้วยกระสุนปืน เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีประโยคหนึ่งอิงแอบมาด้วยเสมอ

It doesn’t matter how smart you are, when reason comes up against force, force always win.

เพราะสำหรับคนบางกลุ่มแล้ว การลบเหตุผลทิ้งง่ายดายกว่าการต่อสู้กับมัน

ไม้หนึ่ง ก. กุนทีจากไปเมื่ออายุ 45 ปี จากไปในช่วงอายุที่หลายคนมีความเชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นความหมายที่แท้จริงของการใช้ชีวิต เพราะเป็นวัยที่ผ่านร้อนรู้ลมหนาวจนนิ่งพอจะรับมือกับความเป็นไปในใจตนและโลกภายนอก อาจเป็นเพราะเขารู้ทันเกินไป รู้ดีเกินไป ใครบางคนจึงไม่ยอมให้เขาได้ใช้ชีวิต

ถึงแม้เขาจะจากไปแล้ว แต่ความคิดของเขายังคงอยู่ และเพื่อระลึกถึงเขา จะมีอะไรดีไปกว่าการอ่านและทำความเข้าใจ

กวีราษฎร เป็นหนังสือรวบรวมบทกวีของไม้หนึ่ง ก. กุนที ที่จัดพิมพ์ขึ้นในวาระครบรอบการจากไปครบห้าปี ทางครอบครัวและเพื่อนฝูงที่สนิทชิดเชื้อของไม้หนึ่งได้รวบรวมบทกวีที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่แล้วและต้นฉบับลายมือเขียนที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่จากสมุดบันทึกมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน

หากบทกวีคือชีวิตของไม้หนึ่ง การรวบรวมผลงานทั้งหมดไว้ด้วยกันครั้งนี้คือการตีแผ่ให้เห็นการดำเนินไปของท่วงทำนองการใช้ชีวิตของชายคนหนึ่ง ชายที่มีรสของถ้อยคำเป็นความหมายของชีวิต

บทตอนของชีวิตกวีได้ถูกแบ่งเป็นหกภาค เริ่มต้นด้วย ‘จากสมุดบันทึก’ ที่ส่วนหนึ่งทำหน้าที่เหมือนสนามฝึกซ้อมทางความคิด บทกวีหลากหลายประเด็นทั้งแบบมีชื่อเรียกและไร้ชื่อเสียงเรียงนามได้ถูกนำมารวบรวมไว้ เพื่อให้เห็นว่าในความคิดที่ไม่เคยถูกเปิดเผยนั้นกวีคิดอะไร และคิดแบบไหน ก่อนที่จะขึ้นเวที

การคิดเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก

วิธีการออกสู่คำพูด อักษร

และวิธีปฏิบัติ

โดยคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดต่างหากละ

ที่พิเศษ.

‘บางเราในนคร’ เป็นชื่อของผลงานเล่มแรกที่ได้รับการรวมเล่ม และเป็นภาพของไม้หนึ่งบนเวที เรื่องราวในส่วนนี้จะเวียนวนอยู่กับการตั้งข้อสงสัยและค้นหาความหมายของวัยหนุ่ม สำเนียงที่เห็นได้ชัดในน้ำเสียงเจือไปด้วยความรัก ความโดดเดี่ยว และความทรนงในศักดิ์ของอาชีพค้าขายเลี้ยงตนที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของกวี เมื่อความแตกต่างของลักษณ์ในงานได้ถูกหลอมรวมกันเข้ากับความคิด เอกลักษณ์อันพิสดารก็ปรากฎ

ปังตอหนักแปดขีด

ข้าพเจ้ากรีดไปมาบนตัวเป็ด

ไร้กฎเกณฑ์และไร้กลเม็ด

เคล็ดลับเคยมี เป็นอดีต

แทบมิมีใดกำหนดในทรงจำ

ผลักกระทำตามภาวะของคมมีด

ซ้ายกระชาก ขณะขวาสับ กรายกรีด

มีช่องขีดระยะหว่างสองมือ

ซ้ายไม่กระทบขวา ขวาไม่กระทบซ้าย

สองฝ่ายประสานประคองถือ

ล้วนได้จากการกระทำและฝึกปรือ

นักทฤษฎีเพียงเห็นหรือจะเข้าใจ

ปังตอข้าพเจ้าหนักแปดขีด

เป็ดย่างทุกตัวสยบใต้

หลอมรุนแรงเข้ากับละมุนละไม

ปรากฎในทุกสับกรีด คมปังตอ.

หลังจากผ่านช่วงเวลาเร่าร้อนของวัยหนุ่ม การครุ่นคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกก็ก่อรูปขึ้นในบทกวี สำเนียงของการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นจากภาวะที่พ้นจากสมัยใหม่ แนวคิดต่างๆ ที่ไม้หนึ่งศึกษาและตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นพุทธทางเลือกและสาขา วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เต๋า เพลง ภาพยนตร์ ได้รับการรวมเล่มในชื่อของ ‘รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก’ ภาพที่เห็นในตอนนี้คือการใคร่ครวญอย่างจริงจัง และจริงใจกับสิ่งที่สนใจด้วยรอยยิ้มของคนขี้เล่นที่รู้ว่าตัวเองกำลังทดลองทำอะไรอยู่

ไม่มีอักษรจีนสีเหลือง

ไม่มีธงสามเหลี่ยม

ไม่มีกระดาษตะกั่ว-

พับเตรียมไว้ลอยกระทง

ไม่จุดธูปให้ควันความดีฟุ้งขจาย

ไม่ได้ลงรายชื่อที่ศาลเจ้า

ไม่มีหมูป่า J

ไม่มีหูฉลาม J

ไม่มีขบวนการเมนู J

อธิษฐานนิดหน่อยกับตัวเอง

หายใจสบายๆ อย่างช้าๆ

ชุดที่ใส่ก็ไม่ใช่ขาวเนี้ยบๆ

ข้าวกล้องต้มแกล้มกับเต้าเจี้ยว,

เต้าหู้ยี้ก้อนเดียว, ลูกหนำเลี๊ยบ,

ถั่วยี่สงคีบติดปลายตะเกียบ

บริโภคในความเงียบสงบ.

เมื่อไม้หนึ่งมีลูก ความรับผิดชอบและสายตาของพ่อได้เข้ามามีอิทธิพลในบทกวี ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูประคบประหงม ทำความเข้าใจกับอนาคตได้ถูกรวบรวมไว้ในชุดกวีที่ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มชื่อ ‘ลูกชาย’

กระโจ๊ของใครนี่เผลี่ยว

ผุดช่องเตี่ยวออกมาแผล่มๆ

เหมือนดอกจำปีไม่แย้ม

เฉิดแฉล้มมีชีวิตชีวา

กระแจ๊มของใครนี่เหลียว

ผู้ใด๋เหลาแหลมเปี๊ยบราวแหลนคมกล้า

จะเป็นเนื้อหนังมังสา

โจนหมุนปฏิจจสมุปบาท

กระจ๊วยของใครนี่เสียว

จะขยายและเหี่ยว วนมรณะเวียนชาติ

สงบ หรือ อาละวาด ?

ใน สกปรกและสะอาด ของโลกียะ

ตอนนี้มันยังกระจึ๋ง

จึงโผล่และผึ่งอย่างอิสระ

ธรรมยังไม่วัฒนะ

รอปรุงแต่งสัจจะจากวัฒนธรรม.

ใน ‘บางใคร’ ซึ่งเป็นส่วนที่สั้นที่สุดในภาคกวีทั้งหก บทกวีของไม้หนึ่งเริ่มมีทิศทางไปในการพูดถึงชีวิตคนกลุ่มต่างๆ ในหลายแง่มุม ทั้งชนกลุ่มน้อย ชนชั้นล่าง ผู้หญิงในวรรณกรรม อาจกล่าวได้ว่าในภาคนี้เป็นการรวมบทกวีที่ว่าด้วยลักษณะชีวิตของผู้คน

สามสิบสี่หนาว รวดร้าวรึ ?

มิใช่โฉมสะคราญคร่ำครึในหอห้อง

มณฑาป่าเป็นที่ปรารถนาปอง

ไยนางต้องยินยอมอยู่เดียวดาย

สามสิบสี่หนาว ราวไร้รัก

รูปเงาใครจำหลักมิรู้หาย

ก้นบึ้งใจนางโจรกลับงมงาย

อยู่กับมันคนใกล้ที่ไกลเกิน

จับอิดนึ้ง เอย เซียวจับอิดนึ้ง

สนิทสนมกันจนไร้ความเคอะเขิน

คำ ตั่วเจ้ เซี่ยวตี๋ ยามหยอกเอิน

ยั่วล้อเพียงผิวเผินแต่เสียดลึก

ที่ผ่านมาสนใจรักแต่ผู้อื่น

คนรอคอยนางทุกคืนไม่รู้สึก

เมาน้ำตากี่ร้อยลิตรค่อยคิดนึก

ว่าการถูกผู้อื่นรักสุขกว่าเยอะ.

จากการมีช่วงชีวิตที่ได้เรียนรู้ถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้เห็นความทุกข์ยากของผู้ยากไร้ ทำให้ไม้หนึ่งเลือกเดินทางไม่สยบยอมต่ออำนาจที่เห็นคนไม่เท่ากัน เขาเลือกที่จะเป็นคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กับระบบที่ลิดรอนระบอบประชาธิปไตย บทกวีใน ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ จึงมีท่าทีของการปลุกเร้าให้ลุกขึ้นสู้และไม่สยบยอมต่อชนชั้นที่ลวงตาลวงใจ

เราอยู่ที่นี่

ซุ่มซ่อนตัวอย่างเปิดเผย

โดยไม่เคยจากไปไหน

ในบึ้งใจ ของผู้ถูกกดขี่

เราอยู่ที่นี่

กินนอนท่ามกลางความ เป็น, ตาย

มีเซ็กซ์กับคนที่เรารัก

สืบลูกหลานรุ่นสู่รุ่น

เราไม่เคยสูญสลาย.

เมื่อพิจารณาจากภาพทั้งหกภาค ห้าภาคแรกของกวีคือภาพของปัจเจกบุคคลที่พบได้ทั่วไปในสังคม ภาพที่เป็นตัวแทนของประสบการณ์ร่วมของใครต่อใครที่เข้าถึงความรู้สึกของกวีได้จากประสบการณ์ส่วนบุคคล แต่ภาคสุดท้ายเป็นภาคของภาพใหญ่ในเชิงสังคม ภาพของการไม่ยินดีสยบยอม และเป็นภาคของการเรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลรวมตัวกันขึ้นเป็นขบวนการ

จากเรื่องราวและความแตกต่างในหกภาคกวี สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากในถ้อยเสียงสำเนียงคำของไม้หนึ่งคือความเจนจัดในชั้นเชิงกวี ไม้หนึ่งสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นจากการเข้าใจฉันทลักษณ์ที่เป็นโครงสร้างของบทกวีเป็นอย่างดี ก่อนจะทลายมันลงเพื่อสร้างทางของตัวเอง หลายครั้งเขาแสดงให้เห็นว่าเขียนอยู่ในกรอบเกณฑ์ได้อย่างดี แต่จะป่วยการอยู่ในกรอบไปใย ถ้าฉันทลักษณ์ไม่พอรับใช้ความรู้สึก

ไม่เพียงแต่ฉันทลักษณ์เท่านั้นที่ไม้หนึ่งหยิบฉวยมาปั่นหัวแล้ววางทิ้ง สัญลักษณ์ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของกวีก็ถูกนำมาใช้และเลิกใช้อย่างเหนือชั้น ในห้าภาคแรกเราจะเห็นสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างเด่นชัดในบทกวี ไม่ว่าจะเป็นปังตอ นก สุรา พ่อค้า หรือหญิงสาว แต่ในภาคสุดท้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ปรากฏลดน้อยลง บทกวีกลับสู่ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่ภาคสุดท้ายควรจะเป็นภาคที่ต้องใช้สัญลักษณ์ให้ซับซ้อนที่สุด เพราะสัญลักษณ์คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเปิดเผยอย่างปกปิดเพื่อต่อสู้กับอำนาจไม่ชอบธรรมที่จะเข้ามาเบียดเบียนเสียงประท้วงที่เปล่งออกมาจากบทกวี

เป็นไปได้ว่าที่ไม้หนึ่งละทิ้งสัญลักษณ์มาใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาและกลับไปเน้นที่เสียง สำเนียง จังหวะเพราะเขาต้องการสื่อสารกับผู้คนส่วนใหญ่หมู่มาก เขาไม่อยากให้ใครถูกกันออกไปจากการต่อสู้จากชั้นเชิงทางภาษาที่ต้องเข้าถึงผ่านประสบการณ์ความรู้ เพราะเขารู้ว่าภาษาคือเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนสังคม สร้างชนชั้น และเป็นเครื่องมือของการบิดเบือนความหมาย (มาถึงตรงนี้แล้วอดคิดถึงถ้อยคำทุเรศความรู้สึกและปกปิดความหมายอย่าง ‘น้ำรอระบาย’ ‘บัตรเขย่ง’ ‘กระชับพื้นที่’ ฯลฯ ไม่ได้) เขาจึงเลือกใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นสัญลักษณ์โดยรวมของปรารถนาในการทำลายโครงสร้างทางชนชั้น และเพื่อให้ความธรรมดาเป็นเครื่องมือในการส่งต่อความหมายเรียบง่ายทรงพลังสืบไป

ซึ่งนี่อาจเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เหตุผลของเขาถูกพรากไป

หากเทียบบทกวีของไม้หนึ่งกับบทกวีของกวีอื่นในไทยที่ได้รับการยกย่อง (ไม่ว่าใครทั้งนั้น) เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาไม่ด้อยกว่าใครคนไหน เพียงเพราะทางที่เขาเลือกเดินไม่เยินยอมือที่มอบรางวัล ทำให้ผลงานของเขาถูกพูดถึงเพียงในวงจำกัด เพราะในประเทศนี้การได้รับรางวัลคือการการันตีถึงการถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง การถูกพูดถึงซ้ำๆ เป็นเส้นทางที่มาของรายได้ และการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำราเรียน ซึ่งหมายถึงการสร้างความทรงจำร่วมของสังคม

ชีวิตไม้หนึ่งถูกความรุนแรงลบออกไปแล้ว เราเรียกร้องเอาเขากลับคืนมาไม่ได้ ทางเดียวที่เราทำได้คือการเปล่งเสียงความคิดของเขาซ้ำๆ เพื่อทำให้เขาไม่ถูกลืม

Please, don’t let his poetic soul fade away…

Tags: , , , ,