ผู้เขียนเคยได้ยินแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือจีเอ็นเอช (Gross National Happiness: GNH) สมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ตามสไตล์นักศึกษาเอียงซ้ายไร้ประสบการณ์ เราเห็นดีเห็นงามถึงขนาดไปค้นคว้าหาหนังสือ “ในดินแดนแห่งความสุข (Realm of Happiness)” ว่าด้วยชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวภูฏาน ดินแดนมังกรสายฟ้าหลังม่านหมอก
ไม่ว่าใครที่หลงใหลจีเอ็นเอช ก็ย่อมตั้งตัวเป็นศัตรูกับดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจยอดนิยมอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products: GDP) เราคอยค่อนขอดอยู่เนืองๆ ว่าจีดีพีเป็นดัชนีที่เกื้อหนุนนายทุน โดยไม่สนใจความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน (ซึ่งมาทราบทีหลังว่าจีดีพีไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวัดความเป็นอยู่ที่ดี แต่คนที่หยิบมาอ้างอิงต่างหากที่ผิด จึงขออภัยจีดีพีไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
หลังจากนั้น กระแสชื่นชม GNH ก็มีอย่างต่อเนื่อง ดัชนีดังกล่าวเปรียบเสมือนจุดขายของภูฏาน ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่ไม่ได้ติดทะเล แต่กลับมีพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ทรงพลัง เช่น บนเวที Ted Talk ที่เชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีของภูฏานได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากกับความคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้าว่าภูฏานจะเป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral)
เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนแห่งความสุขด้วยสองตาของตัวเอง สภาพสองข้างทาง บ้านเรือน และคำบอกเล่าของไกด์ชาวภูฏานสะท้อนเสียงอีกด้านที่ชวนตั้งคำถามว่า จีเอ็นเอชเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจริงหรือไม่ แล้วมีทางเลือกอื่นใดบ้างในการวัดค่าความสุขออกมาเป็นตัวเลข
จีเอ็นเอชวัดอย่างไร?
แนวคิดการวัดจีเอ็นเอชนั้น ริเริ่มโดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก รัชกาลที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยพระองค์มีดำริว่าแนวคิดจีดีพีอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน จึงรับสั่งให้ออกแบบดัชนีชี้วัดใหม่ตามกฎหมายเก่าแก่ของภูฏานที่ว่า “หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความสุขให้กับประชาชนได้ รัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำรงอยู่”
จากแนวคิดดังกล่าว ก้าวแรกของการวัดจีเอ็นเอชก็คือการนิยาม “ความสุข” ซึ่งแน่นอนครับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในระดับปรัชญาและระดับสามัญชนว่าความสุขคืออะไร
หน้าตาของความสุขตามนิยามประเทศภูฏาน อ้างอิงจากแบบสำรวจความคิดเห็นจีเอ็นเอชล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2557 ความสุขจะมีทั้งหมด 9 ด้านประกอบด้วย สุขภาพใจ (Psychological wellbeing) สุขภาพ (Health) การใช้เวลา (Time use) การศึกษา (Education) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Cultural diversity and resilience) ธรรมาภิบาล (Good Governance) สุขภาพชุมชน (Community vitality) ความหลากหลายทางนิเวศและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Ecological diversity and resilience) มาตรฐานการดำรงชีพ (Living standard) โดยทั้ง 9 ด้านนี้จะมีตัวชี้วัด 33 ตัวชี้วัด ซึ่งจะคำนวณจากแบบสอบถาม 148 คำถาม
ตารางแสดงความสุข 9 ด้าน 33 ตัวชี้วัด และอัตราเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักสำหรับการคำนวณจีเอ็นเอชของประเทศภูฏาน
อ้างอิงข้อมูลจาก Towards a News Development Paradigm: Critical Analysis of Gross National Happiness (ภาพ: ชลเพชร สร้อยศรี)
ทุกดัชนีชี้วัดจะถูกนำมาคำนวณเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก แล้วจึงหยิบดัชนี 6 จาก 9 มาคำนวณจีเอ็นเอชภายใต้สมมติฐานว่าแต่ละบุคคลหรือครัวเรือนย่อมมีหน้าตาและการให้ความสำคัญของความสุขในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป
หากสังเกตข้อมูลในตารางข้างต้น จะพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัว (Per Capita Income) ก็เป็นส่วนหนึ่งของความสุขในภาพรวม ในขณะที่จีเอ็นเอชกินความกว้างไกลกว่าจีดีพีมาก และสามารถฉายภาพความต้องการของประชาชนในระดับหน่วยย่อยได้อย่างลึกซึ้งกว่าตัวเลขสถิติเดี่ยวๆ แบนๆ อย่างจีดีพี โดยจีเอ็นเอชได้คำนึงถึงประเด็นต่างๆ ของความสุขมนุษย์ เช่น สุขภาพกายและใจ สิ่งแวดล้อม ชั่วโมงการทำงานและพักผ่อน สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัยและความใกล้ชิดในชุมชน รวมถึงประเด็นด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ
รายงานดัชนีจีเอ็นเอชจึงเปรียบเสมือนหน้าปัดความสุขของชาวภูฏานว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายด้านไหน กับประชาชนในพื้นที่หรือกลุ่มใดเพื่อให้มีความสุขมากขึ้น โดยสามารถสะท้อนเสียงและความต้องการของประชาชนได้อย่างเด่นชัด เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาลได้อย่างตรงจุด
ปัจจุบัน รัฐบาลภูฏานจะจัดทำการสำรวจจีเอ็นเอชทุกๆ 5 ปี โดยรัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการ “สนับสนุนสภาพแวดล้อมในการพัฒนาความสุขมวลรวมประชาชาติ”
เหรียญอีกด้านของจีเอ็นเอช
เมื่อมีผู้สนับสนุนก็ย่อมมีผู้คัดค้าน โดยเหล่าผู้ไม่เห็นด้วยกับจีเอ็นเอชก็หนีไม่พ้นเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในกลไกตลาด โดยมองว่าจีเอ็นเอชนั้นนามธรรมเกินไปและสะดุดตั้งแต่ก้าวแรกคือการนิยามความสุข ซึ่งต้องถกเถียงกันอีกยาวว่าความสุขคืออะไร และความสุขของใคร
แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในฐานะผู้ริเริ่มสำนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ยังมองว่าแนวคิด ‘ความสุข’ นั้นเลื่อนไหลเกินไป โดยผู้ตอบแบบสอบถามแบบนามธรรมมักจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดไม่นานมานี้ เช่น เพิ่งถูกหวยรางวัลใหญ่เมื่อวาน ก็อาจทำให้ตอบแบบสอบถามอย่างมีอคติ แถมยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าผู้คนที่ร่ำรวยนั้นมีความสุขมากกว่า เพราะมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากกว่า หรือแค่รู้สึกดีที่รวยกว่าคนอื่น
นอกจากนี้ แบบสอบถามข้างต้นซึ่งยาวเหยียดอาจใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมงในการตอบคำถาม ทำให้การเก็บข้อมูลล่าช้าและเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2553 ใช้เวลาเกือบ 9 เดือนจึงจะเสร็จสิ้น ยังไม่นับเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่รายงาน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามอาจตอบดีหรือแย่เกินจริงก็ได้
กราฟแสดงมูลค่าจีดีพีต่อหัวที่แท้จริง (Real GDP per Capita) เปรียบเทียบกับดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ
แผนภาพจาก Conversableeconomist
จุดบอดของจีเอ็นเอชที่แตกต่างจากดัชนีชี้วัดอย่างจีดีพี หรือตัวชี้วัดอื่นๆ คือข้อจำกัดของแบบสอบถามนามธรรม ลองจินตนาการดูก็ได้ครับว่าถ้าผลจากแบบสอบถามสรุปว่าประชาชนมีความสุขในระดับ 7.5 จากคะแนนเต็ม 10 ผ่านไป 50 ปี ประชาชนมีการศึกษาและรายได้สูงขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น ตัวเลขดังกล่าวอาจขยับขึ้นเป็น 8.0 นั่นหมายความว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนแทบไม่แตกต่างกับในอดีตเลย
ในแง่ของนโยบาย ทิมอธี เทย์เลอร์ (Timothy Taylor) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันก็มองว่ารัฐบาลภูฏานมีนโยบายการพัฒนาที่ไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากสักเท่าไร โดยเขามองว่าการใช้จีเอ็นเอชไม่ใช่เรื่องผิด แต่การโฟกัสที่การเพิ่มขึ้นของจีดีพีก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เลวร้ายนัก เพราะในระยะยาว จีดีพีต่อหัวที่เพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานความสุขโลก อีกหนึ่งตัวชี้วัดด้านความสุข
รายงานความสุขในโลกที่ฉบับ พ.ศ. 2562 เพิ่งเผยแพร่สดๆ ร้อนๆ รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ โดยวัดระดับความสุขของ 156 ประเทศ โดยอันดับหนึ่งในรายงานฉบับนี้คือประเทศฟินแลนด์ รองลงมาคือเดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 52 นับว่าไม่เลวเลยเพราะชนะเกาหลีใต้ (54) ฟิลิปปินส์ (69) มาเลเซีย (80) อินโดนีเซีย (92) และเวียดนาม (94)
ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก แบ่งคะแนนตามองค์ประกอบทั้ง 6 ด้าน
แผนภาพและข้อมูลจากรายงานความสุขในโลกที่ฉบับ พ.ศ. 2562
ดัชนีความสุขของรายงานความสุขโลกมีทั้งหมด 6 องค์ประกอบ สององค์ประกอบแรกค่อนข้างตรงไปตรงมา คือจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) และ อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) อันดับที่ 3 คือดัชนีด้านคอร์รัปชัน โดยจะสะท้อนจากการรับรู้ระดับการโกงกินของบริษัทและรัฐบาลในประเทศ ส่วนที่ 4 คือการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งเป็นแบบสอบถามว่าหากเราเผชิญกับปัญหา จะมีคนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเราหรือไม่ ลำดับที่ 5 คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น การทำงานอาสาสมัครและการบริจาคเงิน และสุดท้ายคือเสรีภาพในการตัดสินใจ
แม้จะไม่ได้มีรายละเอียดยุบยิบเท่าแบบสอบถามจีเอ็นเอช แต่ดัชนีข้างต้นก็ฉายภาพที่กว้างและลึกกว่าการเปรียบเทียบการเติบโตของจีดีพีแบบโต้งๆ รายงานดังกล่าวยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ 3 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงลิ่ว กลับมีความสุขลดลง
จอห์น เฮลลิเวลล์ (John Helliwell) นักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดา บรรณาธิการรายงานความสุขโลกมองว่า ความสุขที่ลดลงของสองประเทศแรกคือจีนและอินเดีย มีสาเหตุมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไปและการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง ทำให้สายสัมพันธ์ทางสังคมถูกตัดขาด ส่วนประเทศที่สามคือสหรัฐอเมริกา ความทุกข์ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากความเหลื่อมล้ำของรายได้จากเศรษฐกิจที่เติบโต
สำหรับประเทศไทย ปัจจัยที่ทำให้คะแนนความสุขพุ่งกระฉูดแซงหน้าประเทศที่มีจีดีพีต่อหัวมากกว่า คือการสนับสนุนทางสังคม และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74 ระบุว่าได้บริจาคเงินในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนคะแนนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินคือคะแนนด้านคอร์รัปชันนั่นแล
น่าแปลกใจที่รายงานความสุขโลกไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงในไทยสักเท่าไรแม้ว่าคะแนนจะขยับขึ้นก็ตาม แตกต่างจากครั้งที่ประเทศไทยได้เป็นอันดับหนึ่งในฐานะประเทศทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกตามดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ที่มีองค์ประกอบจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งแทบจะบอกอะไรไม่ได้ และไม่ได้หมายถึงมีความสุขที่สุดในโลกอย่างแน่นอน
นักเศรษฐศาสตร์ยังมีดัชนีชี้วัดที่มากมายหลากหลาย แต่ละอันย่อมมีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการหยิบมาใช้และการตีความที่ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ต้องทำความเข้าใจถึงที่มาในการคำนวณเพื่อให้ทราบถึงข้อสมมติฐานและข้อจำกัดของแต่ละดัชนี
ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลไทยจะขับเคลื่อนและให้ความสำคัญดัชนีชี้วัดใหม่ๆ ที่ไปไกลกว่าจีดีพีสักที เพราะนโยบายทุกวันนี้ดูจะเข้าข่ายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อหวังตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พอรับได้ มากกว่าสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว หรือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างที่พร่ำบอกแบบรายสัปดาห์
เอกสารประกอบการเขียน
Gross National Happiness Index Explained in Detail
Towards a News Development Paradigm: Critical Analysis of Gross National Happiness
The Birthplace Of ‘Gross National Happiness’ Is Growing A Bit Cynical
Gross National Happiness: Towards a New Paradigm in Economics
Tags: GDP, GNH, ดัชนีความสุข