เมื่ออายุย่างเข้าใกล้เลขสาม ส่วนพ่อแม่ก็ย่างเข้าใกล้เลขหก ตัวเลขดังกล่าวย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (ที่เต็มใจ) ของลูกๆ เช่นการพาขบวนชาวสูงวัยไปเที่ยวต่างประเทศในวันหยุดยาว และจุดหมายปลายทางของเราในคราวนี้คือประเทศภูฏาน

ประเทศนี้ถูกขนานนามว่าดินแดนแห่งความสุข จากมาตรวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) และยังอวลไอของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่วุ่นวายเกินไปนัก ภายใต้การปกครองของกษัตริย์สุดป๊อปอย่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี กษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ที่เปลี่ยนประเทศภูฏานจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตย

เมื่อตัดสินใจได้ เราก็จองทัวร์ที่ราคาแพงจนน่าตกใจ ตีตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ (ที่ไม่มีจอดูหนังฟังเพลง) จัดกระเป๋าเตรียมรับความหนาวเบาๆ ของต้นฤดูใบไม้ผลิ ก่อนจะบินลัดฟ้าประมาณ 5 ชั่วโมงสู่ท่าอากาศยานพาโรซึ่งซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาสูงอันเป็นที่หมายของเรา

เรื่องเล่าในป้อมปราการ

หลังจากเครื่องบินปาดซ้ายป่ายขวาไปตามร่องเขา นักบินก็พาเราลงจอดบนสนามบินที่ได้รับขนานนามว่าเป็นสนามบินที่ลงจอดยากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สนามบินตกแต่งด้วยลวดลายและสีห้าสีละลานตา เราผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วโบกมือทักทาย โซนัม ไกด์ท้องถิ่นของทริปนี้ และ ซองเย พลขับสุดเฟี้ยวที่จะพาเราลัดเลาะไปบนถนนริมหน้าผา และตามสไตล์นักท่องเที่ยวนิสัยไม่ดี เราก็ได้ปรึกษากันว่าจะเรียกไกด์ของเราว่าปิยะ และพลขับว่าปกป้อง

หลังจากปกป้องพาเราฉวัดเฉวียนพอเวียนหัวเบาๆ รถก็เข้าจอดที่จุดหมายแรกของวันคืออาคารสี่เหลี่ยมกำแพงสูงหน้าตาประหลาดที่ปิยะเล่าให้ฟังตลอดทางว่าเป็นป้อมปราการ หรือซอง (Dzong) ซึ่งมีสองฟังก์ชันคือการปกครองและศาสนา โดยด้านในแบ่งแยกสัดส่วนอย่างชัดเจน ผู้ก่อตั้งซองแต่ละแห่งทั่วประเทศภูฏาน คือ ซับดุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) อริยสงฆ์ผู้รวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งตลอดทริปเราสามารถพบเห็นรูปเคารพได้ทุกซอง และแทบทุกสถานที่สำคัญทางศาสนา

ตรงทางเข้าเราจะถูกตรวจกระเป๋าโดยคุณตำรวจในชุดที่น้ำเงินเข้ม ส่วนปิยะก็คว้าผ้าสีขาวมาพาดสะพาย เป็นการแต่งตัวแบบ ‘จัดเต็ม’ ของชุดประจำชาติภูฏาน เพียงเท่านี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่าซองนั้นสำคัญขนาดไหน ภายในอาคารก็มืดทึบตามสไตล์อาคารโบราณที่มีหน้าต่างไม่มากนัก ปิยะพาเราชมประติมากรรมและสถาปัตยกรรมใจกลางซอง และชี้ชวนให้ดูรูปเคารพซึ่งจะประกอบด้วยพระพุทธเจ้าองค์ที่หนึ่ง องค์ที่สอง องค์ที่สาม และท่านซับดุง งาวัง นัมเกล

ถึงตรงนี้ผู้ใหญ่หลายคนในคณะทัวร์อาจเริ่มขมวดคิ้ว เพราะพุทธศาสนาในบริบทไทยมีพระพุทธเจ้าแค่องค์เดียว แตกต่างจากพุทธศาสนาของภูฏานซึ่งเป็นนิกายวัชรยานที่คล้ายคลึงกับพุทธทิเบต อย่างไรก็ดี จากปิยะก็ชี้ให้เราดูชามบูชาซึ่งจะตั้งอยู่ทั้งหมด 7 ชาม ซึ่งถือเป็นเลขนำโชคของชาวภูฏาน เนื่องจากพระพุทธเจ้าหลังประสูติจากพระกัจฉะก็ทรงพระดำเนินได้ 7 ก้าว

ดูท่าทางเหล่าผู้ใหญ่ในทีมจะไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ เพราะซิมโทคาซอง (Simtokha Dzong) แม้จะเป็นป้อมปราการที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏาน แต่ก็เล็กกระจิ๋วหลิว แถมปิยะก็ยังเอาแต่เจื้อยแจ้วรายละเอียดภาพฝาหนัง เช่น เทพทั้งสี่ทิศถืออะไรบ้าง และมีอิทธิฤทธิ์อย่างไร แถมยังอธิบายวงเวียนชีวิต (Wheel of Life) ที่อธิบายว่าการกระทำของมนุษย์ เช่น โกรธ เกลียด นินทาว่าร้าย จะทำให้เราไปตกนรกอยู่ในขุมไหนเสียละเอียด

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของป้อมปราการได้ถูกกู้คืนมาอีกครั้งเมื่อเราได้ไปเยือนพูนาคาซอง (Punakha Dzong) ป้อมปราการที่สวยเป็นอันดับต้นๆ ของภูฏาน ตั้งขนาบด้วยแม่น้ำสองสายแถมยังใหญ่โตโอฬาร เป็นที่พักในฤดูหนาวของพระชั้นผู้ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดงานพิธีอภิเษกสมรสของกษัตริย์จิกมี วังเกล นัมชุก กับนางสาวเจ็ตซัน เปมา อีกด้วย อีกทั้งภายในป้อมปราการยังมีภาพวาดฝาหนังที่อลังการสุดๆ โดยนำเสนอพุทธประวัติคล้ายกับที่เราเรียนกันนี่แหละครับ

พูนาคาซอง ป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูฏาน นอกจากนี้สถานที่จัดงานพิธีอภิเษกสมรสของกษัตริย์จิกมี วังเกล นัมชุก กับนางสาวเจ็ตซัน เปมา อีกด้วย

ต้นไม้ใหญ่ภายในพูนาคาซอง

ลวดลายประดับในบริเวณพูนาคาซอง จะเห็นว่าสีหลักที่ใช้ประกอบด้วยสีมงคล 5 สี คือ แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง ขาว ซึ่งเป็นตัวแทนธาตุต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์

ความแตกต่างของพุทธประวัติบนผนังพูนาคาซองกับพุทธประวัติในตำราเรียนของเราก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะของที่นี่เป็นหนุ่มเฟี้ยวที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ ตั้งแต่การว่ายน้ำแข่งด้วยท่าทางราวกับเล่นเซิร์ฟบอร์ด ยกช้างทั้งตัวด้วยนิ้วก้อยเท้า และยิงธนูทะลุต้นไม้นับสิบต้น เนื้อเรื่องส่วนอื่นๆ ก็ถือว่าคล้ายคลึงกัน แต่กลับมาหักมุมอีกครั้งเมื่อปิยะอธิบายว่าหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็กลับมาประสูติอีกครั้ง เป็นเด็กชายอายุ 8 ขวบในดอกบัวในทะเลสาบซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน ต่อมาก็ได้เดินทางเผยแพร่พุทธศาสนามาไกลถึงภูฏาน พระองค์นั้นได้รับความนับถืออย่างมากโดยคนภูฏานจะเรียกว่ากูรูรินโปเช (Guru Rinpoche) หรือพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง ส่วนกูรูรินโปเชมาภูฏานอย่างไร ขออุบไว้ก่อน แต่บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา

เรื่องสุดท้ายที่ปิยะเล่าก่อนเราจะออกมาเดินถ่ายรูปคือพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป ที่จะมาประสูติในโลกที่ไร้คนยากจน แต่ทุกคนจะมีอายุค่อนข้างสั้น ที่สำคัญ พระพุทธเจ้าองค์ถัดไปจะประสูติที่แคลิฟอร์เนีย เรื่องราวดังกล่าวทำเอาชาวคณะทำหน้าย่นด้วยความประหลาดใจ จนเหล่าลูกๆ ต้องทำหน้าที่อธิบายอีกครั้งว่าศาสนาพุทธบนโลกนั้นมีมากมายหลายหลากความเชื่อนัก

แต่เรื่องเล่าในป้อมปราการดูจะกลายเป็นหนังสือเรียนไปเลย หลังจากฟังตำนานของวัดขอลูก

การหมุนวงล้อบทสวดมนต์ หนึ่งในวิธีบำเพ็ญภาวนาของภูฏาน วงล้อดังกล่าวสามารถพบได้ตามวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในภูฏาน

สถูป 108 สถูปบริเวณจุดชมวิว Dochula Pass ความสูงร่วม 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หากวันไหนฟ้าเปิดก็จะมีโอกาสเห็นวิวเทือกเขาหิมาลัย

ตำนานวัดขอลูก

หลังจากผ่านอีกหลายร้อยโค้งจากทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน แวะถ่ายรูปสถูป 108 สถูปหลังม่านหมอกที่โดชูลาพาส (Dochula Pass) เราก็ได้มานั่งรับประทานอาหารกลางวันพร้อมชมวิวทุ่งนาขั้นบันไดแบบพาโนรามา แต่ก่อนจะย่างเท้าเข้าร้านอาหาร เราก็เห็น ‘ลึงค์’ สารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ภาพวาดฝาผนัง ที่จับตรงประตู พวงกุญแจ และลึงค์ไม้แบบคลาสสิค

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สามารถสืบสาวเรื่องราวได้จากวัดชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang)

วัดชิมิลาคังตั้งอยู่บนเนินที่รถเข้าไม่ถึง ทีมสูงวัยจึงต้องใช้ความพยายามสักเล็กน้อย เดินขึ้นบันไดร่วมร้อยขั้นก่อนจะพบกับสถูปดำ ซึ่งตามตำนานเล่าว่าท่านดรุกปะ คุนเลย์ (Drukpa Kunley) ได้กำราบปีศาจที่สร้างความหวาดหวั่นแก่ชุมชนรอบโดชูลาพาส แล้วนำมาฝังไว้ใต้สถูปแห่งนี้

ภาพวาดตามอาคารบ้านเรือนไม่ไกลจากวัดชิมิลาคัง แสดงให้เห็นภาพลึงค์ สัญญะของความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัย

เมื่อเข้าไปในวัด ปิยะก็เล่าเรื่องความ ‘ไม่ธรรมดา’ ของท่านดรุกปะ คุนเลย์ ผู้นำเข้า ‘ลึงค์ศักดิ์สิทธิ์’ มาจากทิเบต และยังมีวิธีการเผยแพร่ธรรมะที่ขัดต่อขนบ ตั้งแต่การเร่ร่อนไปตามสถานที่ต่างๆ ใช้การร้องเพลง และงานสังสรรค์ (ซึ่งมีส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เพื่อสั่งสอน แถมยังไม่ปฏิเสธเซ็กซ์จนได้ฉายาว่า ‘นักบุญผู้ผ่านผู้หญิงมากว่า 5,000 คน (The Saint of 5,000 Women)’ หรือ ‘นักบุญวิกลจริต (Divine Madman)’ บางภาพวาดเล่าตำนานว่าท่านดรุกปะ คุนเลย์ ใช้ลึงค์ในการปราบปีศาจ และเป็นหนทางสู่นิพพาน (โดยเฉพาะกับหญิงสาว)

วัดชิมิลาคังโด่งดังกันว่าเป็นวัดขอลูก โดยหญิงสาวสามารถเข้ามาทำพิธีเพื่อขอเจ้าตัวเล็กจากแห่งนี้ได้ โดยถือลึงค์ยักษ์ที่ทำมาจากไม้และงาช้างซึ่งตกทอดมาตั้งแต่สมัยท่านดรุกปะ คุนเลย์ แล้วเดินวนรอบอุโบสถสามรอบ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามมากับสามีนะจ้ะ ส่วนผลสัมฤทธิ์ก็มีการยืนยันจากอัลบั้มรูปภาพที่รวบรวม ‘ความสำเร็จ’ จากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ฝรั่งตาน้ำข้าว ไปจนถึงชาวเอเชียอย่างเราๆ ท่านๆ

ท่านดรุกปะ คุนเลย์ ยังมีส่วนร่วมกับอีกหลายตำนานประหลาดๆ เช่นจุดกำเนิดของสัตว์ประจำชาติภูฏานอย่างทาคิน (Takin) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งหน้าตาเหมือนส่วนผสมระหว่างวัวกับแพะ บางตำนานเล่าว่าท่านดรุกปะ คุนเลย์ ได้แสดงอภินิหารต่อหน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยเอาหัวแพะมาต่อกับกระดูกวัวจนเกิดมาเป็นเจ้าทาคินนี่แหละ ส่วนปิยะก็เล่าอีกตำนานหนึ่งว่าท่านดรุกปะ คุนเลย์ มาทานอาหารช้าจนเหลือแต่ซุปใสๆ ติดกระดูก ด้วยความโมโหหิวจึงเสกเจ้าทาคินออกมาจากซุปใสชามนั้นนั่นแล

ตัวทาคิน สัตว์ประจำชาติของภูฏาน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหน้าตาเป็นแพะแต่ตัวเป็นวัว จึงมีตำนานมากมายเกี่ยวกับการกำเนิดของทาคิน

สู้สุดใจไปวัดทักซัง

เราเก็บไฮไลท์ไว้วันสุดท้าย ให้ผู้ใหญ่ในคณะเตรียมตัวเตรียมใจก่อนเดินทางขึ้นพิชิตวัดทักซังอายุราว 300 ปีเศษ ซึ่งตั้งอยู่สูงถึง 3,120 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โชคดีที่เรามีตัวช่วยคือเจ้าม้าที่จะค่อยๆ พาเราไปจนถึงครึ่งทาง การขี่ม้าครั้งแรกของผมน่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะเจ้าม้าทุกตัวดูจะชื่นชอบการเดินริมหน้าผาให้เราหายใจไม่ทั่วท้อง แถมม้าฝูงนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะบางตัวไม่ถูกกัน เกิดเป็นความบาดหมางระหว่างทางจนเกือบสะบัดหนึ่งในชาวคณะตกจากหลังม้า โชคดีที่ผู้ดูแลเข้ามายุติเหตุการณ์ได้ทันควัน

หลังจากขี่ม้ามาร่วมชั่วโมง เราก็ต้องพึ่งสองเท้าเดินขึ้นไปยังวัดทักซัง แม้ว่าทางเดินจะลำบากน้อยกว่าภูกระดึง แต่ความระดับความสูงทำให้เราหายใจติดขัด เดินไวๆ ไม่นานก็ทำเอารู้สึกหายใจไม่ทัน ทำให้เราต้องพักเหนื่อยบ่อยครั้ง แถมฝุ่นควันก็เยอะ โชคดีที่ภรรยาผมเตรียมตัวมาดี พกผ้าปิดจมูกและไม้เดินเขามาแจกจ่ายทุกคน ทำให้การเดินทางวันนี้ไม่ยากเกินไปนัก แถมคุณปิยะก็แสนดี ช่วยพยุงลูกทริปอย่างสม่ำเสมอ และยังอาสาเป็นผู้แบกน้ำแบกขนมด้วยตัวคนเดียวอีกด้วย

ส่วนปกป้องนะเหรอ เหอะเหอะ นอกจากเฮียแกจะไม่ยอมเดินขึ้นมาแล้ว วันนี้ยังถือเป็นวันพักผ่อนสบายใจเฉิบ เพราะหลังจากกลับลงไปถึงรถตู้ ปกป้องก็มาต้อนรับเราด้วยผมทรงใหม่

เส้นทางระหว่างขึ้นเขาเพื่อชมวัดทักซัง ม้าถูกฝึกปรือมาให้พานักท่องเที่ยวขึ้นเขาอย่างเชี่ยวชาญ และมักจะชอบเดินชิดหน้าผา

วัดทักซัง วัดอายุร่วม 300 ปีที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชัน

เดินร่วมสองชั่วโมงเราก็ถึงวัดทักซัง (Taktsang Palphug Monastery) หรือแปลตามภาษาทิเบตว่าวัดรังเสือ ที่มาของชื่อก็มาจากตำนานที่เล่าว่ากูรูรินโปเชหรือพระพุทธเจ้าองค์ที่สองได้ขี่เสือมาจากทิเบตเพื่อบำเพ็ญภาวนา ส่วนเสือที่ว่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็นศรีภรรยาที่แปลงกายเป็นนางเสือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำราบปีศาจสิงโตหิมะที่กำเริบเสิบสานอยู่บริเวณดังกล่าว วัดทักซังจึงมีถ้ำที่กูรูรินโปเชเคยมานั่งวิปัสสนา ถ้ำพักของนางเสือ รวมถึงเจดีย์ขนาดย่อมๆ ที่ปิยะเล่าให้ฟังว่าเป็นที่เก็บสังขารศิษย์เอกของกูรูรินโปเช ซึ่งลอยมา ณ วัดทักซังหลังจากหมดลมหายใจ

แม้วัดจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ด้วยทิวทัศน์ที่งดงาม สถาปัตยกรรมชวนฉงนที่ตั้งอยู่ริมหน้าผา และการเดินทางที่ไม่ลำบากจนเกินไป ก็นับว่าคุ้มเกินคุ้ม

ก่อนเดินทางกลับ ปิยะชวนเราดูแท่นบูชาที่มีชามอยู่ 9 ชาม ซึ่งเป็นเลขนำโชคของประเทศไทย ปิยะเล่าว่าหลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงทราบข่าวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทรงมีรับสั่งให้ที่วัดทักซังสวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลและไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นเวลา 2 วัน และแท่นบูชาดังกล่าวก็ถูกตั้งอยู่เช่นนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน

เรากลั้นใจเดินไม่นานก็ลงมาถึงตลาดด้านล่างซึ่งกำลังคึกคักเต็มที่ ที่สำคัญตลาดของฝากแห่งนี้รับเงินสกุลไทยบาท แลแม่ค้าบางคนยังฟังออกพูดได้อีกด้วย หลังจากพาทีมสูงวัยช็อปของที่ระลึกกันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลานั่งรถกลับที่พักและเอ็นจอยอากาศบริสุทธิ์ของภูฏานเป็นคืนสุดท้าย

ระหว่างทางกลับโรงแรม ปิยะก็เล่าให้เราฟังว่า เขาจบการศึกษาด้านไอทีที่อินเดีย แต่พอกลับมาอยู่ที่ภูฏานก็หางานทำไม่ได้ (เคยสมัครสอบแข่งขัน แต่ทั้งประเทศรับแค่ 4 ตำแหน่ง) เขาจึงตัดสินใจผันตัวมาเป็นไกด์ทัวร์

“จริงๆ ผมไม่เคยสนใจเรื่องศาสนาเลยนะ หลังจากโตขึ้นมาหน่อยก็ไม่เคยก้าวเท้าเข้าวัดเลย ครั้งล่าสุดที่จำความได้ที่เข้าวัดก็คือไปขอพรให้สอบมัคคุเทศน์ผ่านนี่แหละ คือคนเราพอมันไม่มีที่พึ่งจริงๆ สุดท้ายก็ต้องหันไปพึ่งศาสนาอ่ะนะ ส่วนตำนานทั้งหมดทั้งมวลที่เล่าให้ฟัง ผมก็เพิ่งมารู้จากการอบรมมัคคุเทศน์นี่แหละครับ” เขาสารภาพแกล้มเสียงหัวเราะ

โอ้ว… ไอ้เราก็นึกว่าเป็นคนธรรมะธัมโม เข้าวัดเข้าวามาตั้งแต่เด็ก ถึงว่า ทำไมคำตอบหลายครั้งมันถึงแฝงสำเนียงกวนส้นเท้าเบาๆ ไว้ตลอดเวลา เอาเป็นว่า ผมขอจบทริปภูฏานไว้เพียงเท่านี้ เจอกันอีกทีขอทำหน้าที่เป็นสูงวัยให้ลูกหลานพามาเที่ยวแทนละกันนะครับ

ทิ้งท้าย: อาหาร ของฝาก และสารพัดเรื่องจิปาถะ

อาหารตามโรงแรมที่ภูฏาน จะเสิร์ฟอาหารแบบ ‘คอนทิเนนทัล’ ซึ่งเราก็เออๆ ออๆ ไป ในใจไม่รู้หรอกว่าที่กินกันอยู่ทุกวัน เช่น ผัดหมี่ ผัดผัก ผัดเต้าหู้รสแซ่บหน่อยๆ ยำหน้าตาคล้ายส้มตำแต่ใช้แตงกวาแทนมะละกอ ฯลฯ นั่นล่ะที่เขาหมายถึง  ‘คอนทิเนนทัล’ หรืออาหารแบบยุโรป

. . .

ขอไว้อาลัย 3 นาที เพราะที่กินๆ กันอยู่มันไชนีสฟู้ดส์ชัดๆ ส่วนอาหารภูฏานที่แท้ทรูต้องมีสององค์ประกอบคือชีส และรสชาติเผ็ดจี๊ด โดยภาพแทนที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นพริกอบชีส ที่บอกได้คำเดียวว่าเผ็ดจนน้ำตาไหลแต่กินไปกินมาก็มันส์ดี ส่วนจานรองก็คือมันอบชีสและพริก ซึ่งก็รสชาติคือๆ กัน มีมื้อหนึ่งที่ปิยะเสนอว่าเราควรไปกินอาหารพื้นบ้าน แต่เตือนว่าต้องทำใจเพราะเผ็ดมาก ซึ่งทีมสูงวัยเราพร้อมใจกันโบกมือลา ขอกลับห้องนอนเล่นรอกินอาหารคอนทิเนนทัลดีกว่า

ของฝากที่นี่ก็คล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป คือ ชุดพื้นบ้าน แม็กเน็ตติดตู้เย็น น้ำผึ้งป่าภูฏาน พวงกุญแจสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีและพระราชินี ชาถั่งเช่า ศิวลึงค์ทั้งอันเล็กขนาดพวงกุญแจ และอันยาวใหญ่จนสงสัยว่าใครจะซื้อแบกกลับประเทศฟระ สรุปถ้าไม่ได้อยากซื้อไปฝากใคร หรือบ้านไม่มีที่เก็บ ก็เก็บเงินไว้กลับมาใช้ที่ไทยดีกว่า หรือถ้ามีสตางค์เหลือ ผมขอแนะนำเลย์รสแปลกๆ ที่อิมพอร์ตจากอินเดีย รับรองว่าแซ่บถึงใจ

สำหรับใครที่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะซิมภูฏานราคาค่อนข้างประหยัด ประมาณร้อยกว่าบาทก็สามารถซื้อแพคเกจใช้อินเทอร์เน็ตได้ราวกับแทบไม่มีวันหมด (เพราะช้าจนน่ารำคาญ) ส่วนไวไฟก็ไม่ต้องพูดถึง ช้าไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ข้อควรระวังสุดท้ายคือการแต่งกาย เพราะสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง (โดยเฉพาะวัดและป้อมปราการ) จะห้ามใส่เสื้อยืดเข้าไป ต้องหาผ้ามาพันคอ หรือใส่เสื้อคอปกให้ดูสุภาพ ส่วนกางเกงกับรองเท้าคิดว่าไม่ต้องกังวลเท่าไหร่ เพราะหนาวขนาดนั้นคงไม่มีใครคิดจะใส่ขาสั้นกับรองเท้าแตะไปเดินนอกโรงแรมแน่นอน

เอกสารประกอบการเขียน

Bhutan

Dzongs of Bhutan

How Drukpa Kunley Convinced Bhutan to Worship the Phallus

Paro Taktsang

Tags: , ,