หากพูดถึงวันที่ 6 ตุลาฯ ในความทรงจำของแต่ละคน คงแตกต่างกันออกไป แล้วสังคมไทยอยากให้จดจำวันดังกล่าวในแบบไหน เพราะความรู้ความเข้าใจที่มีต่อเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยังเต็มไปด้วยฝุ่นควันความแห่งความสับสน 

วันที่ 6 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิตเท่าไร มีผู้บาดเจ็บกี่คน ยังเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ ยังไม่รวมการค้นหาสาเหตุหรือปัจจัยและบริบททางการเมืองที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนบางกลุ่มร่วมมือกันสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันดังกล่าว

แต่ท่ามกลางฝุ่นละอองความทรงจำที่เนิ่นนานกว่า 40 ปี คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง พยายามจะต่อจิ๊กซอว์ความทรงจำ ผ่านการบันทึกข้อมูล รวบรวมหลักฐานทั้งเอกสาร ประจักษ์พยาน ภาพถ่าย เท่าที่พอหาได้ เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รวมถึงการหยิบสื่ออย่างภาพยนตร์และวรรณกรรมมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับความพยายามทำให้สังคมลืมเหตุการณ์นองเลือดในวันนั้น

บันทึก 6 ตุลาฯ ไม่ใช่แค่การคืนความทรงจำ แต่คือการคืนคุณค่าให้กับเหยื่อ

ภัทรภร ภู่ทอง หนึ่งในคณะทำงานโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เล่าให้ฟังว่า ภารกิจอย่างหนึ่งของโครงการ คือ การตามหาญาติหรือครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกๆ คน เนื่องจาก ทีมงานมีข้อสังเกตต่อสังคมไทยว่า ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยรู้จักผู้เสียชีวิตแค่ 2-3 คน แต่คนอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อด้วยนั้น เราแทบจะไม่รู้เลยว่า ชีวิต ตัวตนของผู้ที่เสียชีวิตเป็นอย่างไร และครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หรือพวกเขามีความทรงจำต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างไรบ้าง 

ภัทรภร เชื่อว่า การทำความรู้จักกับเหยื่อหรือผู้เสียชีวิต คือการเห็นคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิต

ภัทรภร ภู่ทอง (ภาพเมื่อปี 2017 โดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย)

สำหรับวิธีการทำงาน ภัทรภร เล่าว่า ทีมงานเริ่มต้นติดต่อครอบครัวหรือญาติของผู้เสียชีวิตผ่านทางจดหมาย โดยอาศัยที่อยู่ของญาติจากเอกสารชันสูตรพลิกศพ ซึ่งจดหมายส่วนใหญ่จะถูกตีกลับ เนื่องจากเวลาผ่านมา 40 ปีแล้วมีโอกาสที่ที่อยู่บางคนจะเปลี่ยนไป แต่ก็มีญาติบางคนที่ติดต่อกลับมา

ภัทรภร เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเธอได้รับการติดต่อกลับจากญาติของผู้เสียชีวิต พร้อมกับคำถามว่า ‘ทำไมถึงเพิ่งติดต่อกลับมา?’ ความรู้สึกที่เธอต้องเผชิญหน้ากับคำถามนั้นคือ เธอรู้สึกผิด แม้ว่าในวันเกิดเหตุเธอจะมีอายุได้เพียง 1 ขวบ

ภาพยนตร์สารคดีจากคำบอกเล่าของญาติและการประกอบความทรงจำที่ไม่ถูกพูดถึง

นอกจากการบันทึกข้อมูล ภัทรภร ภู่ทอง พยายามนำเสนอข้อมูล 6 ตุลาฯ ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์สารคดี ซึ่งเธอและทีมงานได้ทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ สองเรื่อง ได้แก่ เรื่อง “ด้วยความนับถือ” และ “สองพี่น้อง” เพื่อจะบอกเล่าข้อมูลหรือประสบการณ์ของผู้เสียชีีวิตที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนผ่านทางสื่อที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายในเวลาไม่นานจนเกินไป

ภัทรภร เล่าถึงที่มาภาพยนตร์เรื่องสองพี่น้องว่า จุดเริ่มต้นมาจากข้อสังเกตส่วนตัวที่เห็นว่าการทำงานเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ที่ยังขาดเรื่องราวของช่างไฟฟ้าสองคนที่ถูกแขวนคอที่นครปฐมเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของเหตุการณ์นองเลือดในเดือนถัดมา

ในการทำภาพยนตร์สองพี่น้อง ภัทรภรและทีมงานพยายามตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยการอ่านข่าวย้อนหลังในช่วงกันยายนปี 2519 และขับรถพูดคุยกับคนในจังหวัดนครปฐม จนในที่สุดก็พบสถานที่ที่ช่างไฟฟ้าทั้งสองคนถูกแขวนคอ ซึ่งชาวบ้านที่อายุ 50-60 ปี ในบริเวณนั้นก็ทราบว่า ที่ตรงนี้เคยเกิดอะไรขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นสารคดีเรื่องสองพี่น้อง

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ ภัทรภร เห็นจากการทำงานคือ ‘ความกลัว’ ญาติของเหยื่อบางคนมีคำถามเรื่องผลกระทบ และญาติบางคนยังไม่พร้อมในการให้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูล

เอกสารทางประวัติศาสตร์ จิ๊กซอว์ของภาพความรุนแรงที่ถูกปิด

นฤมล กระจ่างดารารัตน์ หนึ่งในคณะทำงานโครงการ บันทึก 6 ตุลา เล่าว่า หน้าที่ของเธอคือ ตามหาเอกสารจากภาคผนวกของหนังสือ ‘6 ตุลาฯ ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล ซึ่งเอกสารทั้งหมดมีมากกว่าหนึ่งหมื่นหน้า กระจายตัวอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทยบ้าง สำนักห้องสมุดแห่งชาติบ้าง

สำหรับเอกสารหลักๆ ที่รวบรวมมา ได้แก่ เอกสารคำให้การพยานฝ่ายโจทก์ จำนวน 224 คน เอกสารชันสูตรพลิกศพ จำนวน 46 ศพ และเอกสารภาพถ่ายสถานที่ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์เก่า จำนวน 8 สำนัก ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงตุลาคม 2519 

นฤมลกล่าวว่า เอกสารเหล่านี้จะช่วยทำให้เราเห็นบริบทว่ามีอะไรเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรืออะไรที่เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ได้ชัดขึ้น และนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ เช่น การทำร้ายหรือทำลายศพ

 

ปฏิกิริยาของโลกวรรณกรรมเพื่อรักษาความทรงจำ 6 ตุลาฯ

กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี กล่าวว่า วงการวรรณกรรมไทย งานที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีอยู่จำนวนหนึ่ง บางส่วนเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะโฟกัสที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะถูกเล่าเป็นฉากหลังองค์ประกอบมากกว่า

เขาตั้งข้อสังเกตว่า หลังปี 2553 การพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีความชัดเจนมากขึ้น เริ่มพบเห็นได้ทั้งในเรื่องสั้นและนวนิยายขนาดยาว เพียงแต่ความลึกหรือความเข้าใจที่มีต่อเหตุการณ์ยังจำกัด เพราะมีความทรงจำอีกหลายๆ ด้านที่ยังไม่สามารถประกอบได้

กิตติพล มองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นหลุมดำของวงการวรรณกรรม  แม้คนจะบอกว่า ปัจจุบันข้อมูลเข้าถึงได้มากแล้ว แต่ว่าในทางวรรณกรรม เนื้อหาและเรื่องราวมันเกิดขึ้นช้ากว่านั้นมาก หรืออาจจะเพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เช่น  งาน “หลงลบลืมสูญ” ของ วิภาส ศรีทอง ที่พยายามเน้นย้ำถึงฉากการใช้เก้าอี้ฟาดเป็นแกนหลักของเรื่อง โดยหวังว่า ในอนาคต ถ้าสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้มากขึ้น มิติของวรรณกรรมที่ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ก็คงจะเปลี่ยนโฉมไป

ด้วยเหตุนี้ เขาและเพื่อนซึ่งก่อตั้งรางวัลปิศาจที่มอบให้แก่งานวรรณกรรมไทย ก็เลือกวันที่ 6 ตุลาฯ เป็นวันประกาศรางวัล เพราะหวังให้คนไม่ลืมวันดังกล่าว และอีกด้านหนึ่งคือ 6 ตุลาฯ ก็เป็นปิศาจที่หลอกหลอนคนที่รู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้นหรือคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว 

 

หมายเหตุ: ประมวลประเด็นจากการพูดคุย หัวข้อ “การเมืองของความทรงจำ ประสบการณ์จากการค้นข้อมูล 6 ตุลา” เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561 ในบูทฟ้าเดียวกัน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ สิริกิติ์

Tags: ,