นิทรรศการศิลปะ ‘DISGUISE’ หรือ ‘การจำแลงแปลงกาย’ คือผลงานของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวใต้ผู้อาศัยและทำงานในปัตตานี ที่คราวนี้ยกผลงานมาแสดงในกรุงเทพฯ โดยมุ่งหวังชวนให้ผู้เข้าชมตั้งคำถามถึงความจริง และถกเถียงถึงการสร้างมายาคติต่างๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติ การเมือง ซึ่งมายาคติเหล่านั้นแข็งแรงจนยากจะทำให้ผู้คนตั้งคำถามอันผิดแผกจากที่ถูกสั่งสอนมา 

ศิลปินถ่ายทอดประเด็นความคิดผ่าน ‘บังลี’ เพื่อนรุ่นน้องของเขาที่เป็นชายรักชายชาวมุสลิม โดยมีบังลีเป็นแบบ เขาวาดภาพจำแลงแยกร่างในอิริยาบถต่างๆ ร่างเปลือยถูกแต่งแต้มด้วยสัญลักษณ์อันเป็นภาพจำของความเป็นไทย อย่าง ชฎา มงกุฎ หรืออุบะ  ขณะที่ในบางภาพบังลีกำลังเลียนแบบท่าทางจากผู้คนในผลงานของศิลปินชื่อดังอย่างฟราสซิสโก โกยา (Francisco Goya) หรือมิเกลันเจโล (Michelangelo) ส่วนศิลปินคนแรกๆ ที่เขาเริ่มมีบทสนทนาด้วยคือ เอก็อน ชีเลอ (Egon Schiele)

อนุวัฒน์เล่าถึงผลงานไว้ในปี 2017 ว่าเขาสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพราะต้องการคุยกับใครสักคน และเขาก็เลือกสนทนากับกับชีเลอ ศิลปินชาวเวียนนาผู้เคยถูกเพ่งเล็งเกี่ยวกับภาพนู้ดอันอล่างฉ่างในยุคสมัยของเขา อนุวัฒน์ใช้ลายเส้นและวิธีการของชีเลออย่างตั้งใจ เพื่อชวนให้คนมองเข้าไปยังมายาคติที่คนไทยมีต่อร่างกายมนุษย์ ที่หลายครั้งได้ถูกความเป็นไทยมาคลุมทับไว้ 

ขณะที่ภาพวาดสีม่วงของบังลี ดูเหมือนอนุวัฒน์พุ่งประเด็นไปที่มายาคติเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในบ้านเรา ซึ่งหลายคนมักจะมองว่าเมืองไทยเปิดรับต่อความหลากหลายทางเพศ หากแต่ความจริงในมุมมองของศิลปินเอง กลุ่ม LGBTQ ยังคงถูกกดทับ มีภาพจำ ถูกปิดกั้น ถูกเหยียด ไม่ว่าจะทั้งในสังคมไทยหรือในหมู่ LGBTQ ด้วยกันเอง เพียงแต่มันถูกพูดให้เบาลงใต้หน้ากากของความยิ้มแย้มแจ่มใสเท่านั้น เราจึงเห็นร่างของบังลีกำลังร่วงหล่นบนพื้นหลังสีม่วง และดูคล้ายด้านกลับหัวของ Vitruvian Man ของดาวินชี

ร้ายกว่านั้นในภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก The Third of May ของโกยา เราเห็นร่างเปลือยกลุ่มหนึ่งที่สวมชฎากำลังยกปืนเล็งไปยังบรรดาร่างเปลือยไร้อาวุธ ทั้งสองกลุ่มแต่งกายด้วยถุงน่องเหมือนๆ กันต่างกันแค่ที่ปืนกับชฎา พื้นหลังของผลงานเป็นเนื้อหาของเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ และสายตาของหนึ่งในคนถือปืนที่หันมามองผู้ชมก็ชวนให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นได้เป็นอย่างดี 

ใกล้กับภาพนั้น อนุวัฒน์หยิบยกหนังสือ ชาตินิยม ของระพินทรนาถ ฐากูร แปลโดย ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ฉบับครบรอบหนึ่งศตวรรษ สิงหาคม 2560 มาจัดแสดงร่วมด้วย ให้ผู้เข้าชมได้ตั้งคำถามถึงความหมายของ ‘ชาตินิยม’ ถูกหลายครั้งได้ถูกหยิบมาใช้เป็นอาวุธในการเข่นฆ่าผู้อื่น ทั้งยังชวนให้ครุ่นคิดไปถึงเพลงชาติ ซึ่งในแง่หนึ่งได้สะท้อนชุดความคิดของแต่ละบ้านเมือง โดยในหนังสือกล่าวเทียบให้เห็นด้วยเพลงชาติของเรากับอินเดีย และบังกลาเทศว่าในประเทศอันเต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อย เพลงชาติของเขาแสดงจุดยืนของความเคารพทุกชนเผ่า ขณะที่บ้านเราเป็นศูนย์รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย กลายเป็นว่าความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ได้ถูกคำว่า ‘ไทย’ กดทับเอาไว้จนต้องคอยปิดบังซ่อนเร้นอยู่วันยังค่ำ

หนังสือเล่าสอดคล้องเป็นเสียงเดียวกันกับผลงานศิลปะ ว่าแท้จริงการจำต้องจำแลงแปลงกาย เพื่อซ่อนเร้นความจริงบางอย่าง กลายเป็นต้นตอของความอ่อนแอ ด้วยมันบั่นทอนธรรมชาติที่แท้จริงอันเต็มไปด้วยวิถีของผู้คน ไม่ต่างจากการห่อหุ้มโครงกระดูกของเราด้วยผิวกายของผู้อื่นซึ่งที่มีแต่รอวันจะแตกร้าวแยกออกจากกันในที่สุด 

DISGUISE จึงไม่ใช่เพียงงานแสดงภาพวาดที่เพียงดูแปลกตา แต่ยังเป็นการตั้งคำถามต่อสังคมให้ตระหนักรู้ถึงการเคารพกันและกันระหว่างผู้คนที่แตกต่าง ทั้งทางกายภาพ เพศสภาพ จนถึงชุดความคิดทางการเมือง ทั้งในอดีตที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการยอมรับความเป็นจริงของตัวเองและผู้อื่น เพื่อที่วันหนึ่งเราจะไม่จำเป็นต้องจำแลงแปลงกายกันอีกต่อไป

 

Fact Box

นิทรรศการ Disguise โดยอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล 

จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) 

21 กันยายน – 24 พฤศจิกายน 2019

08-9013-9966 หรือเพจเฟซบุ๊ก VSGalleryBangkok

Tags: , , , ,