เพียงแค่วัสดุธรรมชาติทั่วไปอย่างดิน ก็สามารถนำมาปั้นต่อเป็นงานศิลปะเพื่อตั้งคำถามเชิงวิพากษ์หรือเชิงปรัชญาต่อใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาชม

สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จัดงานนิทรรศการแสดงศิลปะเซรามิก Din Clay Ton Berlin-Ratchaburi Dialogue “สองวัฒนธรรม – หนึ่งปรัชญางานฝีมือล้วนๆ” ระหว่างวันที่ 8-30 มีนาคม 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยสเตฟานี แฮริง ช่างปั้นเซรามิกชาวเบอร์ลินที่ยืนหยัดในวงการมามากกว่า 30 ปี และวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปิน ช่างภาพ และทายาทโรงงานเถ้าฮงไถ่ประจำเมืองราชบุรีร่วมแสดงผลงาน 

ทั้งภาพถ่ายบันทึกการทำงานอาร์ต (โดยวศินบุรี) และตัวงานปั้นเอง (โดยสเตฟานี) มีความหมายหลักเพื่อตั้งคำถามในเชิงคุณค่ากับสถานะของงานคราฟต์และการมีอยู่ในเชิงสุนทรียะของมัน ในยุคปัจจุบันที่เครื่องจักรสามารถผลิตแก้วได้เป็นร้อยเป็นพันใบต่อวัน รวมถึง know-how แบบดั้งเดิมที่มนุษย์ช่างเท่านั้นที่จะรักษาและปลุกปั้นงานชิ้นหนึ่งได้จนกลายเป็น limited edition

มาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการแผนกวัฒนธรรมของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย รู้จักสเตฟานีอยู่แล้วก่อนที่เธอจะมาดำรงตำแหน่งที่เกอเธ่ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีนักออกแบบหญิงในวงการศิลปะเยอรมัน ประสบการณ์ในการไปเยี่ยมโรงงานของสเตฟานีทำให้เธอตัดสินใจชวนช่างปั้นเซรามิคชั้นครูมาแสดงงานที่ไทยร่วมกับศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 นั่นก็คือ วศินบุรี

ในพื้นที่สตูดิโอชั้น 4 คอลเล็กชันเซรามิกขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เป็นศิลปะจัดวางที่ผ่านการพัฒนารูปแบบมาหลายเดือน รวมถึงงานภาชนะชิ้นเล็กที่เรียงสวยงามอยู่บนโต๊ะวงรียาวทางด้านใน เมื่อสเตฟานีมาดูงานที่โรงงานของวศินบุรีจึงเกิดไอเดียที่จะใช้กระบวนการผลิตดั้งเดิมเข้ากับผลงานที่บางชิ้นสูงถึง 2 เมตร โดยวศินบุรีเป็นผู้บันทึกภาพการทำงานทั้งที่โรงงานในไทย รวมถึงในนิทรรศการที่ฉายสารคดีที่ถ่ายทำในโรงงานเซรามิกของสเตฟานีที่เยอรมัน อันเป็นจุดกำเนิดผลงานคราฟต์ทั้งหมดตั้งแต่ร่างแรกจนร่างสุดท้าย

“เมื่อคุณเห็นศิลปินสองคนทำงานด้วยกัน คุณอาจจะสงสัยว่า เขาจะสร้างงานออกมาได้อย่างไร เมื่อฉันเห็นภาพถ่ายของเขาก็เข้าใจเลยทันทีว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ การบันทึกโปรเจ็กต์และไดอะล็อกเหล่านี้ไว้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนที่ใช้โซเชียลมีเดีย พลังภาพถ่ายของวศินบุรีมหัศจรรย์มากถึงขั้นมีผู้ที่เห็นงานแล้วอยากจะบินมาดูให้เห็นกับตา” สเตฟานี แฮริง กล่าว

“ตอนที่เราเรียนออกแบบที่เยอรมัน คุณสเตฟานีเป็นตำนานไปแล้ว ทุกคนในวงการเซรามิกเยอรมันรู้จักเพราะเธอมีชื่อเสียงตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วในยุคที่ตำราเครื่องปั้นดินเผายังมีอยู่จำกัด ในด้านการทำงาน สเตฟานีจะดีไซน์รูปทรง ฟอร์มการออกแบบที่เขาถนัด ส่วนเราก็นำช่างฝีมือของเราเข้ามาช่วย จริงๆ เทคนิคในการปั้นไม่ได้ต่างกัน แต่นำไอเดียและมุมมองของการที่คนเยอรมันคนหนึ่งมาตีโจทย์ แล้วใช้เทคนิคของฝั่งเอเชียมาช่วยเสริม ซึ่งตอนที่เธอส่งแบบมาให้ตอนแรก เราก็ตั้งคำถามว่าจะทำได้ไหม เพราะว่ารูปทรงมันดูเหมือนง่ายนะ แต่จริงๆ มันยากมาก ทรงชามที่ก้นเล็กแล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นไปมันต้องใช้เวลามาก ตอนแรกเกิดคำถามว่า เราจะเปลี่ยนแบบใหม่ หรือเราจะลองเสี่ยงลุยไปเลย สุดท้ายก็ตัดสินใจลองลุยเข้าไปเลย แล้วพบว่าเราอยู่ในกรอบของ comfort zone มานาน เราอยู่กับเถ้าฮงไถ่ ใหญ่โตมโหฬาร ถ้าเราจะลองทำบางอย่างที่มันขยายกรอบมากขึ้น เราอาจจะได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่ไม่คุ้นเคย” วศินบุรี

ในขั้นตอนการทำงานเซรามิกขนาดใหญ่ สเตฟานีจะขึ้นแบบในโรงงานเซรามิกที่เมืองไทยแล้วค่อยส่งไปสานต่อที่โรงงานเซรามิกที่วารซ์บวร์ก เยอรมัน ซึ่งเธอเป็นคนควบคุมการผลิตเอง วศินบุรีกล่าวว่า ช่างศิลป์ของเยอรมันอาจจะไม่มี know-how การขึ้นรูปขนาดใหญ่ๆ เพราะสมัยก่อน การทำเครื่องปั้นดินเผาคือการผลิตเพียงแค่ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นของชิ้นเล็กๆ เช่น เหยือก หม้อ เครื่องอบขนมปัง ไม่ได้เป็นฟังก์ชันกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนบ้านเรา เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ส่งผลให้มีการใช้ทักษะฝีมือลดน้อยลงไปอีก  นี่จึงอาจจะเป็นผลงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาชีพช่างปั้นของสเตฟานีแล้ว

“สิ่งที่แตกต่างระหว่างทำงานที่เยอรมนีกับที่ไทยคือที่นี่อากาศร้อนมาก (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ ฉันคิดว่าวงการงานคราฟต์ทั่วโลกมีแรงขับเคลื่อนที่คล้ายคลึงกัน เรามีภาษาพิเศษที่สื่อสารระหว่างกัน แม้ว่าฉันจะไม่เข้าใจว่าจะสื่อสารกับช่างปั้นคนไทยที่ทำงานร่วมกันอย่างไร แต่ด้วยภาษาพิเศษของคนทำงานศิลปะ เราจึงทำงานร่วมกันมามากกว่า 1 อาทิตย์และมันเป็นช่วงเวลาที่เยี่ยมมาก ฉันเลยคิดว่า ถ้า dialogue นี้ได้รับการสื่อสารออกไปต่อโลกก็คงดี แล้วเราต้องการสถาบันอย่างเกอเธ่ หรือนักสะสมที่มีกำลังซื้อมาช่วยสนับสนุนเราให้คุณค่าของงานคราฟต์ยังอยู่ และศิลปินสามารถดำรงชีพได้ด้วย” สเตฟานี

“การทำเซรามิกเป็นเนื้องานที่เราถนัดกันทั้งคู่ และเป็นแม่เหล็กที่ดูดให้เราเข้ามาหากัน เพราะมีวัสดุ ดิน เชื่อมอยู่ แต่เราไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องดินซึ่งเป็นวัสดุในการหัตถกรรมที่กำลังสูญสลายไปเท่านั้น ทุกงานหัตถกรรมมันอยู่ในสภาวะที่เราต้องเฝ้าระวัง

คิดว่างานครั้งนี้มันเชื่อมโยงหลายด้าน เช่น งานของสเตฟานีที่คนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่ามันก็เป็นรูปทรงธรรมดา แต่ศิลปินในแวดวงเซรามิกจะทึ่งเพราะมันทำยากมาก ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นคำถามที่เราตั้งขึ้นร่วมกันมากกว่าว่าเราจะรักษา know-howและงานศิลปะลักษณะนี้ต่อไปได้อย่างไร เพราะสองวัฒนธรรมมีปัญหาเดียวกัน แต่เราจะนำทั้งสองวัฒนธรรมนี้มาสร้างอะไรให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่” วศินบุรีกล่าว

“ภาพที่เราถ่าย เราไม่ได้อยากบันทึกภาพให้เป็นเชิงสารคดีอย่างเดียว แต่อยากให้เป็นคำถามมากกว่าว่าทำไมเราถึงยังมีงานแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ภาพถ่ายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของคน ถ้าคนเข้าใจว่างานคราฟต์มันไม่ได้เกิดขึ้นได้ในปีสองปี แต่อาจจะเป็นประสบการณ์ถึง 10-20 ปี นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของมุมมองศิลปะร่วมสมัยในด้านเซรามิกของประเทศไทยเลยก็ได้ถ้าได้มุมมองของนักออกแบบที่มีประสบการณ์ของต่างประเทศเข้ามาร่วมสร้างสรรค์งาน” วศินบุรี

“คงจะดีมากถ้าคนสามารถสะท้อนถึงคุณค่าของงานคราฟต์ได้ ถ้าพูดถึงในแวดวงของงานกระเบื้องพอร์ซเลนในยุคก่อนๆ จะมีแค่ราชาและราชินีเท่านั้นที่มีไว้ในครอบครองได้ คนฐานะร่ำรวยที่สะสมงานเหล่านี้จึงทำให้งานคราฟต์ดำรงอยู่ต่อมาได้ แต่เวลานี้ ในสเกลโลก เราต้องการคนที่เข้าใจคุณค่าของงานศิลปะมาสนับสนุน ฉันทำงานนี้มา 30 ปี รวมถึงวศินบุรีก็อยู่กับมันมานาน เรามีประสบการณ์ในการทำงานและได้รับเสียงชื่นชมมากมาย แต่เท่านั้นไม่สามารถทำให้เราดำรงชีพได้ในฐานะศิลปิน” สเตฟานี แฮริงกล่าว

 

Fact Box

 

นิทรรศการแสดงศิลปะเซรามิก Din Clay Ton Berlin-Ratchaburi Dialogue “สองวัฒนธรรม - หนึ่งปรัชญางานฝีมือล้วนๆ” จัดโดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-30 มีนาคม 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Tags: , , , , , , ,