พิพิธภัณฑ์ ‘Berlin Story Bunker’ ในกรุงเบอร์ลิน เปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พร้อมจัดนิทรรศการขึ้น โดยออกแบบจำลองห้องซึ่งเคยเป็นบังเกอร์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสัมผัสกับช่วงวันสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจเยอรมนี

บังเกอร์หรือหลุมหลบภัยใกล้สถานีรถไฟอันฮาลเตอร์ในกรุงเบอร์ลิน สร้างขึ้นเมื่อปี 1942 เดิมมีชื่อเรียกว่า ‘ไรช์สบาห์น บุงเคอร์’ (Reichsbahn Bunker) ภายในมีหลายชั้น ลึกลงไปในใต้ดิน ผู้คนจำนวนนับพันเคยพากันไปหลบภัยที่นั่น และรอคอยให้ระเบิดสงครามสิ้นสุด เป็นช่วงวันที่ปราศจากอาหาร สภาพความเป็นอยู่แออัด สกปรก และมีกลิ่นเหม็น แต่ทุกคนจำต้องอดทนอยู่ เพื่อรอเวลาที่จะมีโอกาสได้กลับขึ้นสู่เหนือพื้นผิวดินอีกครั้ง

ที่มาภาพ: www.berlinstory.de

ห่างจากบังเกอร์ไรช์สบาห์นไปราว 1 กิโลเมตร ในบังเกอร์จริงของอดีตผู้นำเผด็จการ กำลังมีการเฉลิมฉลอง อาจเป็นบรรยากาศผ่อนคลายแบบเพี้ยนๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะปิดฉาก มีการเปิดแชมเปญอย่างเอิกเกริก ราวกับชัยชนะอยู่แค่เอื้อม ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม แต่อย่างน้อยก็เป็นวันคล้ายวันเกิดของผู้นำ

มันช่างเป็นภาพขัดแย้งอย่างรุนแรงในกรุงเบอร์ลิน ช่วงวันสุดท้ายก่อนสงครามจะสิ้นสุดลง และบังเกอร์ทั้ง 2 แห่งกลับกลายมาเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพบังเกอร์ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยใช้เป็นสถานที่หลบภัยเป็นอย่างไรนั้น ถูกนำมาจำลองเพื่อจัดแสดงนิทรรศการ Dokumentation Führerbunker (เอกสารอ้างอิงบังเกอร์ผู้นำ)

พิพิธภัณฑ์ Berlin Story Bunker ที่สถานีรถไฟอันฮาลเตอร์ เป็นอาคารบังเกอร์เก่าที่ถูกดัดแปลง ตกแต่ง โดยจำลองเป็นบังเกอร์ของอดีตผู้นำเผด็จการ และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมนิทรรศการความยาว 90 นาที และให้ผู้คนเข้าสำรวจห้องหับใต้ดินพร้อมเรื่องเล่าจากสงครามที่อ้างอิงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับนาซีเท่านั้น

ไฮไลต์ของนิทรรศการอยู่ที่การจำลองห้องทำงานของฮิตเลอร์แบบเหมือนจริงทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งเป็นห้องที่ค่อนข้างเล็กและดูไม่คู่ควรสำหรับจอมเผด็จการ เมื่อเทียบความปรารถนาที่จะรังสรรค์สิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดของโลกจากเมืองหลวงของเยอรมนี เหนือโต๊ะเขียนหนังสือของเขามีภาพของกษัตริย์เฟรเดอริกมหาราช (แห่งอาณาจักรปรัสเซีย) แม้แต่ภาพไอดอลของฮิตเลอร์เองก็ดูไม่ยิ่งใหญ่ภายในห้องที่คับแคบ

ห้องทำงานจำลองของฮิตเลอร์ (ที่มาภาพ: Welt.de)

และเพื่อแก้คำครว่า นิทรรศการดังกล่าวเป็นการจัดฉากเพื่อสร้างโชว์รูมของฮิตเลอร์ สมาชิกอำนวยการของสมาคมประวัติศาสตร์จึงต้องออกมาชี้แจงว่า นี่คือโปรเจ็กต์หนึ่งของสมาคมฯ ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติเยอรมนี ผู้เข้าชมไม่สามารถเข้ามาเที่ยวชมแบบประเดี๋ยวประด๋าว หรือแค่เข้าไปดูห้องทำงานของฮิตเลอร์เท่านั้น แต่ต้องร่วมกลุ่มโดยมีไกด์นำ

อีกทั้งการเปิดห้องนิทรรศการแห่งนี้ก็ไม่ใช่เพื่อเงิน “ผมจะเอาเงินที่ลงทุนทำโปรเจ็กต์นี้ไปซื้อรถเฟอร์รารีราคาแพงๆ ก็ได้” เอนโน เลนเซ (Enno Lenze) เจ้าของโปรเจ็กต์บอกกับสื่อ “เพียงแต่ผมอยากทำอะไรที่มันมีประโยชน์กว่านั้น”

สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ ‘ฮิตเลอร์ทัวริสซึ่ม’ หรือฮิตเลอร์โชว์ หากแต่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ที่แสดงให้เห็นสภาพระหว่างสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มาภาพ: www.berliner-kurier.de

เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับหลุมหลบภัยของฮิตเลอร์กลายเป็นประเด็นจุดประกายความสนใจของผู้คนมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากจำนวนผู้คนที่เดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลินที่เพิ่มมากขึ้นราวกับมีแม่เหล็กดึงดูด ในแต่ละวัน นักท่องเที่ยวมักพากันไปยืนเบียดเสียดที่ด้านหน้าแผ่นป้าย ในบริเวณลานจอดรถบนถนนแกร์ทรูด-โคลมาร์ (Gertrud-Kolma Straße) ที่ซึ่งเคยเป็นทางเข้าบังเกอร์ กระทั่งมีหลายคนหวั่นเกรงว่า สถานที่เช่นนี้อาจกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาฝ่ายขวาหัวรุนแรง

ทว่าเจ้าของโปรเจ็กต์เห็นค้านว่านั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการจัดสร้างห้องนิทรรศการ อีกทั้งยังไม่เชื่อว่าเหล่านีโอนาซีจะให้ความสนใจกับเรื่องแบบนี้

“นีโอนาซีจริงๆ ไม่อยากเห็นสถานที่ที่ฮิตเลอร์เสียชีวิตหรอก” เอนโน เลนเซบอก “หลายคนยังเชื่อกันอยู่เลยว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตาย แต่หนีรอดออกจากเยอรมนีไปได้ หรือถ้าพวกนีโอนาซีจะแห่กันมาดูนิทรรศการจริงก็ดี พวกเขาจะได้รู้และเห็นกับตาว่ามันเกิดอะไรขึ้นในอดีต เพราะเราจัดแสดงความโหดร้ายที่เกิดขี้นจริงให้ชมกันด้วย”

ที่มาภาพ: www.picquery.com

ปี 2017 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ Berlin Story Bunker มีนิทรรศการหัวข้อใหม่ชื่อ Hitler – Wie konnte es geschehen? (ฮิตเลอร์-มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?) จัดแสดงเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์

นิทรรศการครั้งนี้โฟกัสที่ชีวประวัติของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นับแต่ช่วงชีวิตวัยเด็กในออสเตรีย จนถึงวันที่เขาฆ่าตัวตายในบังเกอร์ผู้นำ ประกอบด้วยบอร์ดแสดง 330 แผ่น ภาพถ่าย 2,300 ภาพ ซึ่งเป็นเอกสารต้นฉบับจริง รวมทั้งรายงานข่าวจากภาพยนตร์และหนังสือพิมพ์

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการเป็นการจำลองห้องพักของฮิตเลอร์ ซึ่งก่อนสงครามยุติลงในวันที่ 30 เมษายน 1945 เขาใช้ห้องพักนี้เป็นสถานที่ปลิดชีวิตตนเอง

คำครหาว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น ‘นาซี ดิสนีย์แลนด์’ หวนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ และค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิมหลังจากพรรคการเมืองขวาจัดอย่าง AfD (Alternative für Deutschland = ทางเลือกสำหรับเยอรมนี) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และนับเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองขวาจัดได้โควตา ส.ส. เข้าสภา ทำให้ประเด็นการเมืองเรื่องซ้าย-ขวากลับมาร้อนระอุอีกครั้ง

มันระอุร้อนแม้กระทั่งในงานแฟรงก์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ ที่ปรากฏว่ามีสำนักพิมพ์สามเจ้า ในจำนวนกว่า 7,000 เจ้า นำเสนอผลงานแนวขวาถึงขวาจัดในบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ ซึ่งว่าไปแล้ว สำนักพิมพ์แนวขวาส่วนน้อยก็เคยเข้าร่วมงานบุ๊กแฟร์ที่แฟรงก์เฟิร์ตมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ปีนี้ ที่พรรคการเมืองขวาจัดได้รับเลือกจากประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในสภา จึงกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แบบต้องยกป้ายประท้วง จนถึงชี้หน้าด่ากัน

เรื่อง ‘นาซี‘ หวนกลับมาสร้างความรู้สึกอ่อนไหวให้กับประชากรโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายขวาจัดในหลายประเทศกำลังเติบโต เช่น เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุความรุนแรงในชาร์ล็อตต์สวิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างชาวเมืองทั่วไปกับสมาชิกกลุ่ม Alternative Right เมื่อปลายเดือนกันยายน พรรค AfD ได้รับชัยชนะครั้งแรกในการเลือกตั้งในเยอรมนี หรือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองที่พรรคการเมืองขวาจัดอย่าง FPO ก็กวาดคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ออสเตรียไปได้

ถ้าจะมีข้อแตกต่างระหว่างคำว่า ‘นาซี’ ในยุคสมัยการปกครองของฮิตเลอร์ กับยุคปัจจุบันอยู่บ้าง คงเป็นเรื่องของเวลา และสถานการณ์

และ ‘นาซี’ อาจไม่ใช่สิ่งที่ใครทุกคนนึกเห็นภาพในทันทีที่ได้ยิน หากเชื่อคำที่ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ ผู้กำกับฯ ชาวเดนิช เคยกล่าวไว้เมื่อราว 6-7 ปีที่แล้วว่า

“ในตัวเราทุกคนมีนาซีเล็กๆ แฝงอยู่”

 

อ้างอิง:

  • m.dw.com
  • Spiegel Online
  • www.tagesanzeiger.ch
  • www.zeit.de

Cover Photo: http://www.berliner-kurier.de/berlin/polizei-und-justiz/berlin-story-bunker–hacker-angriff-auf-das-bunker-museum-26728644

FACT BOX:

ในกรุงเบอร์ลินยังมีอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่ชวนรำลึกถึงยุคสมัยของนาซี ไม่ว่าอนุสรณ์สถานโฮโลคอสต์ (Holocaust-Mahnmal) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ Topography of Terror อนุสรณ์การต่อต้านของเยอรมัน (Gedenkstätte Deutscher Widerstand) หรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติเยอรมัน (Deutsche Historische Museum)

Tags: , , , , , ,