ช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) ของหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข การเงิน หรือแม้กระทั่งในภาครัฐก็ตาม

แต่อีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก คือในสาขา “วิศวกรรม” ที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ศาสตร์อย่างวิศวกรรมศาสตร์จะเป็นศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีก็ตาม

เมืองอัจฉริยะ อุตสาหกรรม กับการปรับตัวเข้าโลกดิจิทัล

ดร.วิกรม วัชระคุปต์ ประธานกรรมการคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างและกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า แวดวงวิศวกรรมของไทยเริ่มต้นมาจากวิศวกรรมโยธาที่เน้นการก่อสร้างเป็นหลัก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ความสามารถในการผลิต (productivity) ถือว่าต่ำ และที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ในสภาอุตสาหกรรมเองสมาชิกที่อยู่ในสภาซึ่งเป็นธุรกิจระดับกลางและเล็ก ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างผลิตเทคโนโลยีต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ มีความพยายามในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งาน และทำให้เกิดการเชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่นอกสายของตนเอง

ในมิติของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การปรับตัวสู่เทคโนโลยีในระดับวิศวกรรมมีความสำคัญ เพราะในแง่หนึ่ง เราต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด การที่เราจะรู้และพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องรู้มิติของเมืองต่างๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

ปัญหาที่เจอขณะนี้คือ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีที่ยังมีน้อย และยังทำกันไม่เต็มนิเวศแบบครบวงจร (ecosystem) ตัวอย่างเช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ไทยร่วมมือกับจีน ผู้รับเหมาและความรู้ทั้งหมดกลายเป็นบริษัทจากจีนทั้งหมด ทางออกที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เป็นการชั่วคราว คือการใช้วิธีจ้าง (outsourcing) ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่รอการพัฒนาบุคลากรให้พร้อม เพื่อให้ใช้โอกาสต่างๆ ได้เป็นประโยชน์มากที่สุด

 

ปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดอนาคต

ด้าน ดร.ชิต เหล่าวัฒนา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญพิเศษของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระบุว่า ทิศทางในอนาคตที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรม จะเป็นทิศทางที่กำหนดอนาคตของประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมของไทยนั้นยังไม่สามารถกระโดดไปสู่อนาคตได้

ที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ได้โดดเด่นนัก การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือการพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งมีส่วนกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและรถยนต์ของไทย ซึ่งมีผลในการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางอ้อม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง โครงการดังกล่าวกลับหยุดนิ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมของไทยนั้นเน้นไปที่เรื่องของการผลิตเป็นหลัก พอถึงช่วงของอุตสาหกรรมยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีคิดที่ต่างออกไป

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จึงเกิดขึ้น โดยตั้งโจทย์ว่า อุตสาหกรรมที่จะมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด ใช้มลพิษน้อย รวมถึงสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาว ซึ่งทำให้ทางอีอีซี พุ่งตรงไปยังประเด็นการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นหลัก

สิ่งที่อีอีซีมองเห็น คือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่จะมีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นแกนหลักในการพัฒนา ทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น และจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก พร้อมกับนวัตกรรมต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจจะมีผู้ตกงานจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการฝึก (reskill) เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถดำรงอาชีพได้ดีต่อไป

ในเชิงพื้นที่ ไทยยังมีความได้เปรียบ ตัวอย่างเช่นการเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชีย (Distribution Center: DC) ของอาลีบาบาในไทย เกิดจากจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ซึ่งไทยมีเหนือประเทศอื่น และการค้าบนอินเทอร์เน็ตที่จะต้องอาศัยการขนส่ง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยข้อได้เปรียบเหล่านี้

สำคัญก็คือ ไทยเองจำเป็นที่จะต้องมีวาระแห่งชาติด้านปัญญาประดิษฐ์ (National AI Agenda) ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของระบบการติดต่อสื่อสาร 5G ที่จะต้องสอดรับไปพร้อมกัน ซึ่งอาจารย์ชิตชี้ว่า หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือการให้ภาครัฐมีส่วนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากโครงสร้าง 5G ต้องลงทุนมหาศาล การลงทุนที่เกิดจากภาครัฐจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเอกชนต่ำลงและแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

 

5G ในฐานะอนาคตของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล

ดร.อนันต์ วรธิติพงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่สำคัญอย่างมากคือการมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิศวกรรมที่ทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของการสื่อสารแบบทันท่วงที (real-time communications) ซึ่งการติดต่อและสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5G ถือเป็นคำตอบนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ

  1. เทคโนโลยี 5G มีคุณสมบัติในการรองรับการใช้งานปริมาณมาก (high bandwidth) ซึ่งจะรองรับปริมาณของอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซ็นเซอร์หรือตัวตรวจจับต่างๆ ที่มาพร้อมกับพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ที่อุปกรณ์ต่างๆ จะสื่อสารกันเองได้บนอินเทอร์เน็ต
  2. ด้วยเทคโนโลยีที่มีความหน่วง (latency) ต่ำ ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว และสามารถเปิดช่องให้ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้แทบจะทันท่วงที ไม่มีการล่าช้า ผู้ดำเนินการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำงานได้ทันทีจากระยะไกล
  3. การรับและส่งข้อมูลต่างๆ จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและไม่เสียเวลา เพิ่มความสามารถในการสร้างความร่วมมือ (collaboration) แต่ละฝ่ายอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ในกรณีของประเทศไทยที่ไม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยตรง แต่เป็นผู้ประยุกต์ใช้งาน สิ่งที่เราต้องคิดคือ เทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้นและปรับตัวได้เร็วขึ้น ในแง่ของวิศวกรรมทั่วไป สิ่งที่จำเป็นคือ ความเข้าใจเทคโนโลยีที่ต้องมีการเรียนการสอน ซึ่งถ้าวิศวกรเข้าใจก็จะสามารถนำไปต่อยอดได้เอง เช่น การติดตั้งตัวตรวจวัดในระบบของโรงงาน เป็นต้น

 

วงการวิศวกรรมไทยยังต้องปรับตัวอีกมาก เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุว่า วงการวิศวกรรมของไทย แม้จะมีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาน้อยมาก แต่ก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของวิศวโยธา โดยเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาบุคลากรและการเพิ่มผลผลิต ตอนนี้พอจะเห็นการพัฒนาในเรื่องนี้บ้าง เช่น การที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยกำลังจะสร้างเจดีย์ขนาด 9 เมตร โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการสร้าง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญอย่างมาก

กระบวนการพัฒนาด้านดิจิทัลเหล่านี้ ทำให้เกิดความสามารถใหม่ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างแฝดเสมือนบนดิจิทัล (digital twin) ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างตัวแบบ (model) ดิจิทัล นำไปใช้คาดการณ์ต่างๆ ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม วิศวกรกว่า 250,000 คนนั้น คนที่เข้าใจกระบวนการและประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นอาจมีอยู่ไม่มากพอ

สิ่งที่จำเป็นคือการต้องกลับมาฝึก (retrain) ความรู้เหล่านี้ให้กลับมามากขึ้น จะทำให้คนเริ่มกลับมาเข้าใจกระบวนการดิจิทัลที่เชื่อมโยงเข้ากับวิศวกรรม และยังประโยชน์ให้กับวงการวิศวกรรมของประเทศในระยะยาว

Fact Box

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) จัดงานแถลงข่าวงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2019 เมื่อวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2562 ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยเน้นประเด็นที่ว่า ในโลกของวิศวกรรมได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลอย่างไรบ้าง

Tags: , , , ,