แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพื่อให้คนสองกลุ่มนี้จับคู่ความต้องการกัน โดยลดต้นทุนธุรกรรมที่ไม่ต้องเจอหน้าหรือโทรหากัน แพลตฟอร์มที่ว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในมือถือก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน อาหาร โรงแรม แท็กซี่ ไปจนถึงร้านอาหารข้างทาง
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศได้ใช้มาตรการป้องกันการระบาดหลายวิธี ตั้งแต่การปิดสถานที่ที่คนพลุกพล่าน เช่น สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส ร้านอาหาร พร้อมทั้งสนับสนุน Work from Home หรือการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น การใช้ Social Distancing หรือ การให้ประชาชนเพิ่มระยะห่างกับคนในสังคมมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตาม การอยู่บ้านเพื่อเฝ้ารอคอยให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสิ้นสุดในเร็ววัน สิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงการทำกิจกรรมและธุรกรรมในช่วงวิกฤตโควิด-19 และมีบทบาทสำคัญ คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมผ่านโปรแกรม การสอนออนไลน์ การส่งของ ไปจนถึงการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
ข่าวการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมในการใช้แอปพลิเคชัน ปรับขึ้นราคาค่าส่งในการสั่งซื้อจำนวนน้อย และค่าธรรมเนียมร้านอาหาร ในช่วงที่ไวรัสระบาดและราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมาก ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงจนเกิดเป็นดราม่าในสังคมออนไลน์ ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ทำหนังสือเตือนถึงการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายอื่น จนกระทั่งแพลตฟอร์มต้องยอมปรับลดค่าธรรมเนียม และยกเลิกการปรับขึ้นราคาค่าส่งทันที
คำถามคือ ทำไมแพลตฟอร์มถึงฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผู้คนทั้งประเทศเผชิญวิกฤตเช่นนี้?
กรณี Uber Eats
ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของแพลตฟอร์ม เช่น Uber Eats หนึ่งในแอปพลิเคชันสั่งอาหารยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐอนุญาตให้ส่งอาหารต่อได้ในยามที่สถานที่หลายแห่งถูกสั่งปิด
แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา Uber Eats มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% และ มีคนสมัครใช้แอปพลิเคชันหน้าใหม่มากขึ้นถึง 30% แต่คนส่งอาหารก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสจากการไปสถานที่ต่างๆ มากกว่าคนปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพและถ้าหากต้องกักตัว 14 วัน ก็ไม่ได้ค่าชดเชยจากการเจ็บป่วย เพราะ Uber บอกว่าคนขับรถในแพลตฟอร์มเป็นผู้รับงานอิสระ ไม่ใช่แรงงานในระบบที่จะได้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานและอำนาจการต่อรองตามที่กฎหมายคุ้มครอง
รวมไปถึงโครงสร้างราคาใหม่ช่วงวิกฤตโควิด-19 Uber Eats ปรับช่วงราคาค่าส่งอาหารจาก 2.49-6.49 $ เป็น 0.49-3.99 $ ซึ่งดูเหมือนจะถูกลง แต่ Uber Eats กลับแยกค่าส่งอาหาร (delivery fee) กับ ค่าบริการ (service fee) ออกจากกัน โดยจะคิดค่าบริการ 15% จากค่าส่งอาหาร การเล่นแร่แปรธาตุให้ดูดีในช่วงวิกฤตนี้เป็นการบีบให้คนสั่งอาหารหลายรายการมากขึ้น แต่ในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่เผชิญกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสและการรัดเข็มขัดเงินในกระเป๋าที่รายได้หลายอย่างลดลงฮวบฮาบ การปรับโครงสร้างราคาในช่วงวิกฤตจึงเป็นการทำร้ายผู้ใช้บริการอย่างมาก
ภายใต้โครงสร้างราคา Uber Eats ผสมค่าอาหาร ค่าบริการ ภาษี ค่าส่งอาหาร แล้วแปลงส่วนผสมเหล่านี้เป็นราคาช่วงหนึ่ง แล้วจับคู่กับประวัติผู้รับงาน จับคู่กับความต้องการของตลาด ระยะทาง และประวัติของผู้ซื้อด้วยอัลกอริธึม Alex Rosenblat นักชาติพันธ์ุวรรณาเทคโนโลยีที่ศึกษาวิจัยคนขับ Uber มาเป็นเวลาหลายปีมองว่า Uber บิดเบือนราคาด้วยระบบอัลกอริธึมขนาดใหญ่ ซึ่งละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐอเมริกาและสามารถทำลายคู่แข่งได้ด้วยการใช้อัลกอริธึม
จะสู้กับดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างไร?
เมื่อลองย้อนกลับมาดูกรณีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ตัวมากขึ้นอย่างในประะเทศมาเลเซีย Grab ได้ประกาศซื้อ Uber ในปี 2018 แต่ Grab เองก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักในมาเลเซีย และถ้าหากจะสั่งอาหารจากแพลตฟอร์ม คนมาเลเซียส่วนใหญ่จะนิยม FoodPanda ซึ่งในพบว่าในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2019 มีการเคลื่อนไหวประท้วง FoodPanda ทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์
ในเดือนกันยายน FoodPanda ได้ทดลองเปลี่ยนระบบการคิดคำนวณรายได้ของคนส่งอาหาร จากการคิดด้วยระยะเวลาที่ส่งอาหาร เปลี่ยนเป็นแบบใหม่ที่คิดจากจำนวนรอบของการส่งอาหาร โดยผู้บริหาร FoodPanda อ้างเหตุผลว่าระบบใหม่จะทำให้คนส่งอาหารมีโอกาสสร้างรายได้เยอะขึ้น ในขณะเดียวกันระบบใหม่ก็จูงใจให้คนส่งอาหารทำงานเยอะขึ้น ขับรถเร็วขึ้นเพื่อทำรอบ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อผู้ใช้ถนนด้วยระบบการจูงใจแบบนี้
คนส่งอาหารจำนวนมากไม่พอใจกับระบบใหม่ก็ประท้วงด้วยการรวมตัวกันหยุดส่งอาหาร ผู้ใช้บริการก็รับไม่ได้กับการที่แพลตฟอร์มปรับการคิดรายได้เพื่อทำกำไรเช่นนี้ ชาวเน็ตจึงตอบโต้ด้วยการโพสต์ ‘รูปลบแอปฯ FoodPanda’ ออกจากมือถือ จากการโพสต์รูปได้ขยายกลายเป็นการเคลื่อนไหวออนไลน์ที่มีผู้ร่วมแคมเปญจำนวนมาก รวมไปถึงการสร้างแฮชแท็ก #DeleteFoodPanda และ #UninstallFoodPanda จนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์
แน่นอนว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่ภาครัฐไม่ได้ออกกฎหมายกำกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบใหม่นี้ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่าสนใจในกรณี FoodPanda คือ คนสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มก็สู้ร่วมกับคนส่งอาหารไปด้วยกันด้วยแคมเปญต่างๆ ในโลกออนไลน์ การต่อสู้ร่วมกันเช่นนี้ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ดิจิตัลแพลตฟอร์มยอมรับเงื่อนไขและปรับนโยบาย แต่คำถามใหญ่สำหรับการออกแบบการกำกับแพลตฟอร์มก็ยังคงอยู่
แล้วจะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมอย่างไร?
เคทลีน เธเลน (Kathleen Thelen) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่ง MIT มองว่า การจะกำกับ Uber หรือแพลตฟอร์มจิจิทัลในบริการการขนส่งต่างๆ ในแต่ละประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเชิงสถาบันและการต่อสู้ของผลประโยชน์ภายในประเทศ เพราะในแง่หนึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ได้เข้ามาขูดรีดส่วนเกินแบบเทาๆ จากช่องว่างการกำกับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่ยังหาข้อยุติเรื่องนโยบายและการกำกับไม่ได้ เธเลนได้ศึกษาเปรียบเทียบการขยายตัวของ Uber ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบในสามประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสวีเดน ซึ่งพื้นฐานที่แตกต่างก็ให้ผลลัพท์ที่ต่างกันดังนี้
อเมริกา หยวนหยวน?
สหรัฐอเมริกาแม้จะดูเหมือนเศรษฐกิจเสรีที่ไม่ค่อยกำกับตลาด แต่ในกรณีของแท็กซี่นั้นมีการกำกับที่เข้มงวด แต่ละเมืองจะมีการกำหนดจำนวนแท็กซี่ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องไว้อย่างชัดเจน การเกิดขึ้นของ Uber ในซานฟรานซิสโก ปั่นป่วนบริษัทรถแท็กซี่ในสหรัฐฯ อย่างมาก ผู้ขับ Uber รายใหม่ที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะเกิดขึ้นมหาศาล
ด้วยการอนุญาตอยู่ที่ระดับมลรัฐ หลายเมืองในสหรัฐฯ เช่น แอตแลนตา ดัลลาส เซนซ์ปีเตอร์สบวก จึงได้ลงนามเป็นพาร์ตเนอร์กับ Uber ส่วนมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ Uber กำเนิดขึ้นที่นี่ ราคาค่าบริการของ Uber ถูกกำกับโดย California Public Utility Commission หรือ คณะกรรมการกำกับระบบสาธารณูปโภคของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในฐานะที่เป็นบริษัทเครือข่ายการขนส่ง (Transportation Network Company) ที่จะถูกกำกับตั้งแต่การอนุญาต รายได้ และความปลอดภัย
แม้จะมีการกำกับ Uber แต่ก็มีประเด็นที่ถกเถียง คือ ถ้าคนขับ Uber ไม่รู้โครงสร้างราคาและการตั้งราคาอย่างตรงไปตรงมาของ Uber แล้วคนขับจะรู้ได้อย่างไรว่ารายได้นั้นเป็นธรรม ไม่ถูกแพลตฟอร์มเอาเปรียบมากเกินไป หรือถ้าคนขับ Uber ที่ได้คะแนนสูงมากๆ อยากจะตั้งราคาค่าบริการด้วยตัวเองล่ะ
เยอรมนี ไม่เอา?
เยอรมนีกำกับแท็กซี่เข้มงวดเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ให้สัมปทานการวิ่งรถแท็กซี่ในจำนวนจำกัด แต่เยอรมันไม่เปิดรับแอปฯ เรียกรถเทียบเท่าสหรัฐฯ Uber สามารถบุกตลาดในปี 2013 ได้เพียงบางเมืองเท่านั้น เช่น เบอร์ลิน ฮัมบรวก โคลึน สตุทการ์ต
แรกเริ่ม Uber ตีตลาดในเยอรมนีด้วย Uber’s limo ซึ่งให้เลือกได้เฉพาะรถหรูราคาล้านขึ้นไปเท่านั้น แต่พอ Uber เริ่มตีตลาดรถทั่วไปด้วย UberPop ซึ่งมีค่าบริการที่ถูกกว่าจนเทียบเท่ากับแท็กซี่ ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากแข่งขันกับเครือข่ายแท็กซี่ที่เข้มแข็งและมีการพัฒนาแอปฯ เรียกรถของตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว Uber จึงเริ่มถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จนกระทั่งยอมแพ้ที่จะให้บริการในเยอรมนี
ด้วยโครงการการกำกับระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมาก เยอรมนีจึงต้องการรักษาการกำกับดูแลให้กับตลาดแท็กซี่เดิม Uber ทดลองให้บริการได้ไม่ถึงหนึ่งปีก็ถูกแบนทั้งประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลเยอรมันได้พิพากษาห้ามไม่ให้ Uber ดำเนินดิจิทัลแพลตฟอร์ม เนื่องจากบริการแพลตฟอร์มของ Uber ได้ละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของเยอรมนี
สวีเดน ต้องกำกับ?
สวีเดนมีความพิเศษที่แตกต่างจากทั้งสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี เนื่องจากมีการเปลี่ยนการกำกับตลาดแท็กซี่ตั้งแต่ปี 1990 โดยการยกเลิกโควตาแท็กซี่บนท้องถนน แท็กซี่แต่ละคันสามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ และอนุญาตให้มีคนขับแท็กซี่อิสระแบบที่ไม่ต้องสังกัดบริษัทหรือสมาพันธ์ได้ การเปลี่ยนแปลงการกำกับนี้จึงถือเป็นโอกาสของแอปฯ เรียกรถ เช่น Uber อย่างปฏิเสธมิได้
การเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์มในสวีเดนทำให้มีการปรับเปลี่ยนการกำกับตลาดแท็กซี่เพื่ออนุญาตให้แอปฯ เรียกรถซึ่งรวมถึง Uber ให้บริการในสวีเดนได้ รวมทั้งการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงการคำนวณราคาค่าบริการแบบใหม่ที่นอกเหนือจากราคาแบบระบบมิเตอร์ของแท็กซี่ ซึ่งการตั้งราคาทั้งสองแบบจะต้องคำนึงถึงการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สิ่งสำคัญที่เป็นที่การถกเถียงกันในสวีเดน ก็คือ จะเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไร? เนื่องจากผู้ขับรถ Uber มีความได้เปรียบในการแข่งขันแล้วยังสามารถหลบเลี่ยงภาษีจากรายได้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งสังคมสวีเดนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและสวัสดิการสังคม การจ่ายภาษีอย่างเท่าเทียมจึงสำคัญมากกว่าการคิดว่า Uber จะผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการขึ้นค่าบริการเพิ่มจากภาษีที่ต้องจ่าย
ในการจัดเก็บภาษีนั้น Uber ได้ร่วมมือกับหน่วยงานจัดภาษีของสวีเดน (Swedish Tax Agency) ในการสร้างระบบลงทะเบียนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค่าบริการในแต่ละเที่ยว โดยการหักภาษีโดยตรงจากแพลตฟอร์ม ซึ่งการทำให้แอปฯ เรียกรถโดยถูกกฎหมายในแง่หนึ่งก็ช่วยให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และผู้ที่ขับ Uber ก็อาจจะได้การคืนภาษีจากการทำงานผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วย
แล้วประเทศอื่นๆ ต้องทำอย่างไร
การออกแบบระบบการกำกับแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นอยู่กับบริบทและพลังทางสังคมของแต่ละประเทศ เธเลนยังได้เสนออีกว่า ความท้าทายของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 อยู่ที่การจัดการกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีช่องว่างการกำกับระบบเศรษฐกิจหรือมีการบริหารระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัลก็จะอาศัยช่องว่างเหล่าเข้าไปขูดรีดส่วนเกินจากผู้เล่นรายเดิมได้ตลอดเวลา
สิ่งที่เธเลนคาดการณ์ คือ ในอนาคตอันใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การกำกับระบบเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งสังคมต้องมาคิดเรื่องการกำกับดิจิทัลให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พร้อมเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที
อ้างอิง
Rosenblat, A. (2018). Uberland: how algorithms are rewriting the rules of work. Univ of California Press.
Thelen, K. (2018). Regulating Uber: The politics of the platform economy in Europe and the United States. Perspectives on Politics, 16(4), 938-953.
Rahman, K. S., & Thelen, K. (2019). The rise of the platform business model and the transformation of twenty-first-century capitalism. Politics & Society, 47(2), 177-204.
https://otcc.or.th/news/2020/04/01/
https://www.uber.com/se/en/drive/tax-information/
https://techcrunch.com/2020/03/16/the-hidden-cost-of-food-delivery/
Tags: อูเบอร์, แกร็บ, ฟู้ดแพนด้า, อูเบอร์อีท, ฟู้ดเดลิเวอรี่