เกิดที่ญี่ปุ่น โตที่ญี่ปุ่น กินข้าวญี่ปุ่น พูดภาษาญี่ปุ่น แต่วันหนึ่งพบว่า ด้วยเหตุผลเรื่องรัฐและพรมแดน ทำให้เขาไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น
หากยังจำข่าวเมื่อหลายปีก่อน เรื่องราวของลูกชายของแม่คนไทยที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นหลายปีอย่างผิดกฎหมาย เธอมอบตัวและถูกส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ศาลพิพากษาให้ส่งลูกวัยรุ่นของเธอกลับไปด้วย แต่เขา ผู้ซึ่งกลายเป็นเด็กชาวญี่ปุ่นไปแล้ว และยากจะเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นไทยได้ กำลังต่อสู้ทางศาลเพื่อสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นต่อไป
เรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน ปัญหาพรมแดน และแรงงานข้ามชาติ ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถาม และถูกต้านทานด้วยกระแสชาตินิยม อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แล้วเราควรจะวางจุดยืนเพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้ด้วยหลักกฎหมายหรือหลักมนุษยธรรม
ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ศิลปินทัศนศิลป์ชาวไทย ที่มีพื้นฐานการทำงานจากสื่อหลากชนิด ทั้งงานภาพถ่าย วิดีโอ สนใจจับประเด็นนี้ ถ่ายทอดออกมาเป็นงานนิทรรศการ ‘Destination Nowhere – วงษ์กลม’ ซึ่งประกอบด้วยงานวิดีโอขนาดสั้นที่บอกเล่าเสียงและประสบการณ์ของตัววัยรุ่นชาย พร้อมด้วยงานวิดีโออีกชุดหนึ่งที่ทำหน้าที่สำรวจพรมแดนทางวัฒนธรรมอันชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ตัวตน งานวิดีโอนี้นำเสนอไปกับศิลปะจัดวางชิ้นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำด้วย
งานที่ผ่านมาของประพัทธ์ มักเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ ความทรงจำ การเมืองการปกครอง โดยเฉพาะเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งสี่ปีที่ผ่านมาเขาก็ทำวิจัยและพัฒนางานที่สะท้อนถึงประสบการณ์ของแรงงานต่างด้าวที่ออกมาทำงานนอกประเทศ
สำหรับงานวิดีโอใน Destination Nowhere ได้ผ่านเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วนับสิบเทศกาล เช่น International Film Festival Rotterdam (The Netherlands), Open City Documentary Festival (UK), Singapore Art Museum, Winnipeg Underground Film Festival (Canada) Uppsala International Short Film Festival (Sweden) และหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัล Jury Prize ที่ Kinodot Film Festival (Russia) ด้วย
Fact Box
นิทรรศการ ‘Destination Nowhere - วงษ์กลม’ โดย ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ จัดแสดงที่ Gallery VER Project Room (ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ซ.22) ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 16 กุมภาพันธ์ 2019 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://www.facebook.com/events/1619359241544155/