หลังจากยืดเยื้อเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน มวยคู่เอกระหว่างครูในมุมน้ำเงินกับตำรวจในมุมแดงในศึก ‘หวย 30 ล้าน’ ก็กำลังจะดำเนินถึงยกสุดท้าย ขณะที่บรรดากองเชียร์ทยอยลุกออกจากขอบเวที เพราะถึงอยู่ต่อก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
แต่ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นใด และไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ชุดใหญ่ตัวจริง คนที่รับทรัพย์อย่างแน่นอนก็คือเจ้ามือที่ชื่อว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ ยืนหยัดยุติธรรม
การเล่นหวยของประชาชนเป็นแหล่งรายได้ของรัฐมานับตั้งแต่การเก็บอากรหวยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ พิมพ์ลอตเตอรี่เพื่อออกขายในแต่ละงวดเพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ล้านคู่ (100 ล้านใบ) เป็น 60 ล้านคู่ (120 ล้านใบ) ทุกๆ งวด ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2559 สำนักงานสลากกินแบ่งฯ มีรายได้มากกว่า 9 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากกว่า 40%
ตามกฎหมายแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งจะต้องจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายลอตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 20% เพื่อนำส่งเป็นรายได้รัฐบาล โดยล่าสุดในปีงบประมาณ 2560 นั้น สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถนำส่งเงินเป็นรายได้รัฐได้สูงสุด โดยนำส่งเงินสะสมทั้งปีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่ารางวัลของลอตเตอรี่ที่เป็นข่าวถึง 1,000 เท่า
ยอดเงินนำส่งของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ นี้สูงกว่ายอดเงินนำส่งของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (นำส่ง 2.6 หมื่นล้านบาท) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2.1 หมื่นล้านบาท) ธนาคารออมสิน (1.3 หมื่นล้านบาท) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (1.1 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ หากดูสถิติย้อนหลังตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งนำส่งเงินเป็นรายได้รัฐบาลรวมมากกว่า 1.7 แสนล้านบาท
แม้ว่ายอดเงินนำส่งของสำนักงานกินแบ่งฯ จะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้รัฐบาล แต่ยอดเงินในแต่ละปีก็มากพอ ถ้าจะใช้จัดสรรเป็นงบประมาณให้กับกระทรวงสำคัญๆ อย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (งบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) กระทรวงการต่างประเทศ (8.7 พันล้านบาท) และกระทรวงพาณิชย์ (7 พันล้านบาท) รวมกัน
ช่วยราษฎร์หรือเปล่าไม่รู้ แต่เสริมรัฐแน่ๆ
ลอตเตอรี่คือการเก็บภาษีจากความโง่
ใครซักคนเคยพูดไว้ว่า “Lottery is a tax on stupidity” คำกล่าวนี้ออกจะฟังดูรุนแรงไปหน่อย เพราะอันที่จริงแล้วการซื้อลอตเตอรี่ก็เหมือนกับการเสี่ยงโชคอื่นๆ ที่เป็นการเล่นกับความน่าจะเป็น
เลขท้ายสองตัวเป็นรางวัลที่มีความน่าจะเป็นสูงสุดคือมีโอกาสถูก 1 ใน 100 หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ถ้าซื้อเลขลอตเตอรี่เลขท้ายเดิม 100 งวด ก็น่าจะถูกสักครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากกลับไปดูการออกรางวัลย้อนหลัง จะพบว่ามีเลขท้ายสองตัวกว่า 40 ตัวที่ ‘ถูกกิน’ หรือไม่เคยถูกรางวัลเลยในการออกรางวัล 100 งวดที่ผ่านมา หรือหากจะดูในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่านั้นจะพบว่า มีเลขท้ายสองตัวอยู่ 4 เลขที่ไม่เคยถูกรางวัลเลยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
หากนักเสี่ยงโชคผู้เคราะห์ร้ายตามตัวเลขตัวหนึ่งตัวใดมาเป็นเวลา 13 ปีทุกงวด แค่งวดละ 1 คู่ ก็จะสูญเสียเงินประมาณ 5 หมื่นบาท โดยอาจไม่ได้รับรางวัลใดๆ (คำเตือน: ถ้าเลิกตาม เลขนี้อาจถูกรางวัลในงวดต่อไป) แน่นอนว่า รางวัลอื่นๆ ย่อมมีโอกาสถูกน้อยลงไปอีก รางวัลใหญ่อย่างรางวัลที่ 1 นั้นมีโอกาสถูกเพียง 1 ในล้าน ไม่นับรวมความน่าจะเป็นอันน้อยนิดที่จะเดินไปเจอลอตเตอรี่ใบนั้น
แล้วทำไมคนยังซื้อลอตเตอรี่กันอยู่?
หากลอตเตอรี่คือการเก็บภาษีจริง คนที่มีรายได้น้อยควรจะซื้อลอตเตอรี่น้อยกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซื้อลอตเตอรี่มีลักษณะเหมือนภาษีอัตราถดถอย (regressive) กล่าวคือ คนที่มีรายได้น้อยจะเสีย ‘ภาษี’ สูงกว่าเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของรายได้
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เสนอว่า ไม่ใช่เพราะว่าคนที่มีรายได้น้อยนั้น ‘โง่’ จึงมีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นการซื้อลอตเตอรี่ แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะ ‘ความจน’ โดยตัวมันเอง
การทดลองในการศึกษาชิ้นดังกล่าวได้ข้อสรุปหลักๆ สองข้อ ข้อแรกคือ ผู้ร่วมการทดลองจะซื้อลอตเตอรี่มากขึ้นถ้า ‘รู้สึกจน’ หรือคิดว่าตนเองมีรายได้น้อยกว่าคนอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ และพร้อมจะเสี่ยงมากขึ้นถ้ามีรายได้ลดลง ขณะที่ข้อสรุปอีกข้อคือ การซื้อลอตเตอรี่เป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมที่คนจนมี ‘โอกาสที่เท่าเทียมกัน’ กับคนรวย ด้วยเหตุนี้ คนที่มีรายได้ต่ำกว่าจึงมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงโชคด้วยการซื้อลอตเตอรี่มากกว่า
คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น นายทุนเล่นที่
การเสี่ยงโชคไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนจนกับการซื้อลอตเตอรี่ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าบางคนอาจ ‘เล่นพนัน’ ในตลาดหุ้น ขณะที่นายทุนสายป่านยาวสามารถ ‘วางเดิมพัน’ จากการถือที่ดินเพื่อเก็งกำไร เรื่องตลกร้ายคือมีแค่การซื้อลอตเตอรี่เท่านั้นที่ถูกเรียกเก็บภาษี
โดยปกติแล้ว เงินที่ได้จากการถูกรางวัลลอตเตอรี่นั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ผู้ถูกรางวัลยังคงจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 0.5% ของเงินรางวัลในกรณีสลากกินแบ่งฯ ธรรมดา (และอัตรา 1% ในกรณีสลากพิเศษ) เช่น หากถูก ‘หวย 30 ล้าน’ ก็จะถูกหักเป็นค่าอากรประมาณ 1.5 แสนบาท
ในทางตรงกันข้าม การเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax) ในตลาดหุ้นนั้นยังคงได้รับการยกเว้นอยู่ ทั้งที่การเก็บภาษีดังกล่าวจะช่วยลดแรงจูงใจในการหลบเลี่ยงภาษี และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงสมควรที่จะหยิบยกการเก็บภาษีชนิดนี้มาถกเถียงกันอย่างจริงจัง ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากที่ดินนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้ว่าจะมีการผลักดันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม การขาดการเก็บภาษีที่ดินนั้นเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้การถือที่ดินเพื่อเก็งกำไรของเหล่านายทุนนั้นมีต้นทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า คนรวยที่สุด 10% แรกนั้นถือครองที่ดินราว 60% ของที่ดินทั้งหมดในไทย
การ ‘เสี่ยงโชค’ ของทั้งคนรวยและนายทุนนั้นถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น และถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คนจนก็ยังคงจะต้องเล่นหวยต่อไป
Tags: ลอตเตอรี่, กองสลากกินแบ่งรัฐบาล, ความจน, หวย