สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่เราไม่มั่นใจว่าผลตอบแทนคำนวณมาอย่างไร ความเสี่ยงสูงแค่ไหน และขาดทุนได้มากที่สุดเท่าไร ผู้เขียนจึงแทบหัวใจวายเมื่อทราบว่าคุณแม่ในวัยใกล้เกษียณเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายตราสารอนุพันธ์

หลังจากซักไซ้พอเป็นพิธี ผมก็บังคับให้คุณแม่ปิดบัญชีทันที เพราะท่านทั้งไม่รู้ว่าผลตอบแทนคำนวณอย่างไร มีความเสี่ยงสูงแค่ไหน แถมยังซื้อขาย ‘ตามที่เขาบอกๆ กันมา’

ทำไมน่ะหรอครับ? ก็เพราะเจ้าตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คือนวัตกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงปรี๊ด แถมยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ลากเอาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สภาวะวิกฤตเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเหล่านักการเงินการลงทุนประเมินความเสี่ยงของตราสารประเภทนี้ต่ำเกินไป

จุดเด่นของตราสารอนุพันธ์ที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยหลงใหลคือการใช้เงินลงทุนน้อยถึงน้อยที่สุด ในขณะที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเสี่ยงสูงเป็นเงาตามตัว (แต่เหล่านักขายหลักทรัพย์มักไม่ค่อยพูดถึง) สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังลังเลใจที่จะลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ผู้เขียนแนะนำว่าลองหาข้อมูลและคิดให้ถี่ถ้วนก่อนนะครับ เพราะสำหรับตลาดตราสารอนุพันธ์ แค่หนึ่งวันก็อาจสูญเงินต้นได้ง่ายๆ

ตราสารอนุพันธ์คืออะไร?

แม้จะมีการตั้งชื่อให้ดูเข้าใจยาก แต่ความจริงแล้วตราสารอนุพันธ์ก็ทำงานคล้ายกับสัญญาจะซื้อจะขายที่กำหนดราคา ปริมาณ และวันที่ส่งมอบในอนาคต ตัวอย่างเช่น เฮียหมี ทำสัญญาว่าจะขายข้าวหอมมะลิเกรดเอ 50 กระสอบในราคากระสอบละ 100 บาทในอีก 3 เดือนข้างหน้าให้กับป้าแมว เมื่อถึงวันส่งมอบ ไม่ว่าราคาข้าวหอมมะลิเกรดเอในตลาดจะผันผวนไปอย่างไร เฮียหมีก็จะต้องขายในราคา 100 บาทตามสัญญา

การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณและแพร่หลายในตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในอนาคต การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะดังกล่าวจะช่วยป้องกันความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย

นวัตกรรมที่ทำให้ตราสารอนุพันธ์ ‘ไปไกล’ กว่าตัวอย่างข้างต้นคือ การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) กล่าวคือ ณ วันส่งมอบ เฮียหมีไม่จำเป็นต้องส่งข้าวหอมมะลิเกรดเอให้กับป้าแมว แต่มีการหักกลับลบกันแค่ส่วนต่างโดยชำระเป็นเงินสด เช่น ณ วันส่งมอบ ราคาข้าวหอมมะลิเกรดเอในตลาดเท่ากับ 110 บาท เฮียหมีก็จ่ายเงินจำนวน (110 – 100) x 50 = 5,000 บาท เป็นอันเสร็จสิ้นตามสัญญา

การชำระราคาเป็นเงินสด เปรียบเสมือนช่องทางสว่างที่ทำให้เหล่านักการเงินการธนาคารจะอ้างอิงสินทรัพย์อะไรก็ได้กับตราสารอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ราคาส้มเขียวหวาน ราคาสกุลเงินดิจิตอล ฯลฯ โดยจะร่างรายละเอียดสัญญาอย่างไรก็ได้ เช่น สัญญาซื้อดัชนี SET50 ณ 1,130 จุด ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยคิดราคา 200 บาท ต่อ 1 จุดของดัชนี

งงใช่ไหมครับ? ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรามีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อทำความเข้าใจกำไร-ขาดทุน จากตราสารอนุพันธ์นั่นคือแผนภาพผลตอบแทน (Payoff Diagram) ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างราคาของสินทรัพย์อ้างอิงและผลตอบแทนของผู้ถือตราสารอนุพันธ์นั้นๆ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างตราสารอนุพันธ์ฮอตฮิตติดชาร์ตของนักลงทุนชาวไทย คือ ฟิวเจอร์ส และออปชัน โดยสิ่งที่เราต้องทราบก่อนซื้ออนุพันธ์ทุกครั้งคือ สินทรัพย์อ้างอิงคืออะไร คำนวณราคาอย่างไร สัญญามีอายุเท่าไหร่ และราคาที่เราตกลงไว้คือเท่าไหร่ เพื่อใช้ในการวาดแผนภาพผลตอบแทนนั่นเองครับ

รู้จักฟิวเจอร์ส (Futures)

ฟิวเจอร์ส หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือตราสารอนุพันธ์ที่พื้นฐานที่สุด โดยจะเป็น ‘ข้อผูกพัน (Obligation)’ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะต้องส่งมอบหรือชำระเงินในอนาคต แผนภาพผลตอบแทนของฟิวเจอร์สจึงค่อนข้างตรงไปตรงมา

สมมติว่าเราได้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์ส ดัชนี SET50 ณ 1,100 จุด ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยคิดราคา 200 บาท ต่อ 1 จุดของดัชนี ในฐานะผู้ซื้อ นั่นหมายความว่าหากดัชนี SET50 ขึ้นจาก 1,100 จุดเป็น 1,200 จุด เราจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ (1,200 – 1,100) x 200 = 20,000 บาท แต่ในทางกลับกัน หากดัชนีลดลง 100 จุด เราก็จะขาดทุนทันที 20,000 บาท นี่คืออัตราผลตอบแทนต่อ 1 สัญญาเท่านั้นนะครับ หากซื้อทั้งหมด 100 สัญญาก็เอา 100 คูณเข้าไปได้เลย

อนุพันธ์ทุกประเภทจะเป็นเกมที่ผลรวมเป็นศูนย์ (Zero-sum Game) กล่าวคือมีผู้ได้ก็จะมีผู้เสีย จากแผนภาพผลตอบแทนด้านบนจะเห็นว่ากราฟแสดงผลตอบแทนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะเป็นขั้วตรงข้ามกัน นั่นหมายความว่าหากผู้ซื้อได้ผลตอบแทน 20,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวก็จะมาจากกระเป๋าสตางค์ของผู้ขายนั่นเอง

รู้จักออปชัน (Options)

ออปชัน หรือสัญญาสิทธิ มีความแตกต่างจากสัญญาฟิวเจอร์สเล็กน้อยตรงที่ออปชันไม่ใช่ข้อผูกพัน แต่เป็นสิทธิให้ผู้ซื้อตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงหรือไม่ หรือจะปล่อยให้หมดอายุไปโดยไม่ต้องใช้สิทธิก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าพรีเมียม (Premium) ให้กับผู้ขาย โดยออปชันจะแบ่งออกเป็นคอลออปชัน (Call Option) หมายถึงสัญญาสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง และพุทออปชัน (Put Option) หมายถึงสัญญาสิทธิในการขายสินทรัพย์อ้างอิง

จากตัวอย่างเดิม เราเปลี่ยนจากสัญญาฟิวเจอร์สเป็นคอลออปชัน โดยอ้างอิงดัชนี SET50 สิทธิซื้อ ณ 1,100 จุด ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยคิดราคา 200 บาท ต่อ 1 จุดของดัชนี  โดยมีค่าพรีเมียม 1,000 บาทต่อสัญญา

การคำนวณผลตอบแทนในกรณีที่ดัชนี SET50 ขึ้นจาก 1,100 จุดเป็น 1,200 จุด เราก็จะได้ผลตอบแทน 20,000 บาท (200 บาท x 100 จุด) หักค่าพรีเมียม 1,000 บาทก็จะเหลือ 19,000 บาท

แต่ในกรณีที่ดัชนีลดลง 100 จุด ผู้ซื้อก็มีสิทธิที่จะปล่อยให้ออปชันหมดอายุ จึงมีค่าใช้จ่ายเพียง 1,000 บาทเท่านั้น

ส่วนแผนภาพผลตอบแทนของพุทออปชัน ก็คือภาพสะท้อนกลับซ้ายเป็นขวาของคอลออปชันนั่นเอง

ในแวดวงออปชัน มีศัพท์สองคำที่นัดเทรดมือใหม่ต้องรู้คือ In The Money ซึ่งเป็นศัพท์เรียกคอลออปชัน (พุทออปชัน) ที่ราคาใช้สิทธิต่ำ (ในกรณีพุทออฟชันก็คือสูง) กว่าราคาตลาด กล่าวคือออปชันที่ควรจะใช้สิทธินั่นเอง ส่วน Out of The Money ก็จะเป็นขั้วตรงข้าม หมายถึงออปชันที่ควรปล่อยให้หมดอายุในวันใช้สิทธินั่นเอง (เพราะใช้สิทธิไปก็ขาดทุนเปล่าๆ)

จากแผนภาพผลตอบแทนทั้งหมด ผู้อ่านคงจะพอเห็นข้อดีอีกหนึ่งอย่างของตราสารอนุพันธ์ที่ล่อตาล่อใจนักลงทุนรายใหม่ นั่นก็คือตราสารอนุพันธ์นั้นสามารถทำกำไรได้ทั้งในช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิงอยู่ในขาขึ้นและอยู่ในขาลง อยู่ที่ว่านักลงทุนจะคาดการณ์และเข้าซื้ออนุพันธ์ในฐานะผู้ซื้อหรือผู้ขายเพื่อเก็งกำไร

ความโหดร้ายของโลกการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ คือการคิดกำไร-ขาดทุนเป็นรายวัน โดยเราจะต้องวางเงินประกันหรือมาร์จิ้นก่อนที่จะทำการซื้อขาย เนื่องจากความเสี่ยงที่สำคัญความเสี่ยงหนึ่งของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์คือความเสี่ยงจากคู่สัญญา (Counter Party Risk) หรือกรณีที่คู่สัญญาของเราไม่ยอมจ่ายเงินนั่นเอง

มาร์จิ้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก คือมาร์จิ้นพื้นฐาน (Initial Margin) คือเงินก้อนแรกที่เราต้องวางไว้ก่อนเข้าทำสัญญา ซึ่งแต่ละสัญญาจะมีมูลค่าแตกต่างกันออกไปตามระดับความเสี่ยง มาร์จิ้นรักษาสภาพ (Maintenance Margin) จะอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของมาร์จิ้นพื้นฐาน หากเราขาดทุนมากกว่าระดับมาร์จิ้นรักษาสภาพ ก็จะถูกเรียกให้นำเงินมาใส่ในบัญชีเพิ่มให้กลับไปอยู่ในระดับมาร์จิ้นพื้นฐาน หรือปิดสัญญา

ในกรณีที่เงินประกันลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับที่เรียกว่ามาร์จิ้นบังคับขาย (Force Sell Margin) หากถึงขั้นนี้ก็จะไม่มีการพูดพร่ำทำเพลง บริษัทหลักทรัพย์จะทำการปิดสัญญาให้เราเรียบร้อยโรงเรียนอนุพันธ์

การรับรู้กำไร-ขาดทุนรายวันของอนุพันธ์จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพราะหากกะเกณฑ์ตลาดไม่ถูกทาง เติมเงินมาร์จิ้นไม่หยุดเพราะไม่ยอมตัดขาดทุนก็จะยิ่งถลำลึกจนหมดตัวเอาง่ายๆ แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวม ที่ต่อให้ขาดทุน แต่สินทรัพย์ก็ยังค้างอยู่ในพอร์ตฟอร์ลิโอ หากไม่ร้อนเงินก็นั่งเฉยๆ ชิลล์ๆ รอวันที่ตลาดฟื้นตัวกลับมาใหม่ได้ – ก็ไม่ขายซะอย่าง ใครจะทำไม?

ความวูบไหวของตลาดอนุพันธ์นั้นน่ากลัวขนาดที่กูรูนักลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ยังขนานนามว่าเป็น “อาวุธการเงินที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (financial weapons of mass destruction)” และตัวเขาเองก็ต้องเจ็บหนักเพราะไม่ฟังคำเตือนของตัวเองโดยลงทุนในตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากเครดิต ทำให้เขาต้องสูญเงินไปราว 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากพิษวิกฤตซับไพรม์

ถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจนักลงทุนมือใหม่ทั้งหลายที่อยากลองเล่นอนุพันธ์นะครับ เล่นได้ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนและความเสี่ยงมันก็คือเหรียญคนละด้านนั่นแหละครับ ถ้ารับได้ก็ลุยเลย!

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

รู้จักวอร์แรนท์ (Warrant)

วอร์แรนท์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น ซึ่งก็สามารถตีความได้ตรงตัวคือสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งๆ ในวันและราคาที่กำหนดไว้ อ่านแล้วคุ้นๆ ไหมครับ?

ถ้าใครยังไม่คุ้น ให้ย้อนกลับไปอ่านหัวข้อออปชันอีกหนึ่งรอบนะครับ (ปฏิบัติ!) เพราะเจ้าวอร์แรนท์จริงๆ แล้วก็คือคอลออปชันประเภทหนึ่งที่บริษัทเป็นผู้ออก โดยนักลงทุนสามารถซื้อหามาถือไว้เพื่อเก็งกำไร หรือแปลงสภาพเป็นหุ้นเมื่อถึงวันใช้สิทธิ (ในกรณีที่ราคาใช้สิทธิต่ำกว่าราคาตลาด) หรือปล่อยให้หมดอายุไปเฉยๆ (ในกรณีที่ราคาใช้สิทธิสูงกว่าราคาตลาด) ก็ได้ครับ

กฎจำง่ายของวอร์แรนท์คือ เจ้าวอร์แรนท์เองไม่ควรมีราคาสูงกว่าหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ยกตัวอย่างเช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นบริษัท MMT 1 หุ้น ในราคา 30 บาท วันที่ใช้สิทธิคืออีก 1 เดือนข้างหน้า หากปัจจุบันราคาหุ้น MMT อยู่ที่ 35 บาท ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวก็ไม่ควรที่จะสูงเกิน 35 บาท เพราะถ้าเกินราคานี้ ก็ควักกระเป๋าซื้อหุ้น MMT จากตลาดไปเลยดีกว่าครับ ไม่ต้องมาเสียสตางค์ซื้อวอร์แรนท์หรอก

อย่างไรก็ดี ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นของแต่ละบริษัทก็มีเงื่อนไขผิดแผกแตกต่างกันออกไป บางบริษัทอาจมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนวอร์แรนท์ 1 ใบต่อหุ้น 4 หุ้น นั่นก็หมายความว่าราคาวอร์แรนท์ดังกล่าวจึงไม่ควรมากกว่า 4 เท่าของราคาหุ้นอ้างอิงนั่นเอง

Tags: , , , ,