“เพื่อปราบปรามเงินนอกระบบ (Black Money) เราได้ตัดสินใจว่าธนบัตร 500 รูปี และ 1,000 รูปีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะไม่สามารถใช้ได้ตามกฎหมายตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 8 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ธนบัตรเหล่านั้นจะกลายเป็นกระดาษที่ไร้มูลค่า”

นี่คือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของนเรนทร์ โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เวลา 20.00 น. ที่ทำให้ชาวอินเดียทั้งประเทศลืมหายใจ เพราะเงินสดที่เก็บซุกไว้ใต้หมอนถูกประกาศให้กลายเป็นแค่เศษกระดาษ มูลค่าของธนบัตร 500 รูปีและ 1,000 รูปีนั้น คิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเงินทั้งหมดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอินเดีย นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเงินสด โดยธุรกรรมแทบทั้งหมดดำเนินการโดยใช้เงินสด ร้านค้า 90 เปอร์เซ็นต์รับเฉพาะเงินสด โดยมีประชากรประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร

เงินสดเหล่านี้ในสายตาของรัฐบาลอินเดียถือเป็นต้นทางที่เอื้อแก่การคอร์รัปชันและธุรกิจใต้ดิน นอกจากนี้ ธุรกรรมที่ดำเนินการโดยเงินสดยังยากจะตรวจสอบเพื่อเรียกเก็บภาษี และโมทียังต้องการขจัดธนบัตรปลอมซึ่งระบาดอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และเติมเชื้อไฟให้แวดวงก่อการร้ายอีกด้วย

หากใครนึกภาพไม่ออกว่ายกเลิกธนบัตรจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจใต้ดินอย่างไร ผู้เขียนชวนให้ดูซีรีส์อย่าง Ozark หรือภาพยนตร์อื่นๆ ซึ่งจะฉายภาพธุรกิจใต้ดิน เช่น การค้ายาเสพติด ซึ่งจะเก็บรายได้ในรูปธนบัตรเงินสดมูลค่ามหาศาล แต่ไม่สามารถนำเงินเข้าระบบได้ เนื่องจากการนำเงินเข้าระบบครั้งละมากๆ ย่อมส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบเพื่อหาคำตอบว่าเงินเหล่านั้นมาจากไหน จึงเกิดเป็นขบวนการฟอกเงินด้วยเทคนิควิธีต่างๆ เช่น การซื้อธุรกิจเพื่อบังหน้า หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ปรับแก้ตัวเลขในบัญชีเพื่อใช้ช่องว่างของส่วนต่างย้ายเงินนอกระบบเข้าสู่ระบบการเงิน

ภาพในหัวของโมทีคงจะเห็นเหล่านักธุรกิจใต้ดินอกสั่นขวัญหายเพราะเงินสดจำนวนมหาศาลที่รอเวลาฟอกเข้าระบบนั้น กำลังจะกลายเป็นเศษกระดาษแบบไม่ทันตั้งตัว

แต่สิ่งที่โมทีลืมคิดไป คือผลกระทบจังๆ ที่เกิดกับคนจนซึ่งรายได้ ค่าใช้จ่าย และเงินออมอยู่ในรูปเงินสด ซึ่งท่านนายกฯ ขีดเส้นตายว่าจะต้องนำไปเปลี่ยนเป็นธนบัตรใหม่มูลค่า 500 และ 2,000 รูปีที่ธนาคารใกล้บ้านท่าน โดยให้เวลาเพียง 50 วัน พร้อมข้อจำกัดต่างๆ เช่น ปริมาณที่แลกได้สูงสุดต่อวัน เป็นต้น

ภาพชาวอินเดียต่อแถวยาวเหยียดกลางแดดร้อนเพื่อเข้าธนาคารจึงเป็นภาพที่พบเห็นได้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว บางคนเสียชีวิตขณะต่อแถว ธุรกิจขนาดเล็กต้องปิดกิจการเพราะไม่มีลูกค้า เกษตรกรขาดทุนย่อยยับเพราะขายผลผลิตไม่ได้ บางคนเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย

สิ่งที่โมทีลืมคิดไป คือผลกระทบจังๆ ที่เกิดกับคนจนซึ่งมีเงินออมอยู่ในรูปเงินสด

กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ยังพบอุปสรรคจากความไม่พร้อมของภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพราะการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทราบกันในวงแคบ เพื่อให้เหล่าขบวนการใต้ดินไม่ทันตั้งตัว แต่นั่นก็หมายความว่านายธนาคารก็ตั้งตัวไม่ติดเช่นกัน บางพื้นที่ในอินเดียต้องรอกว่าสัปดาห์ก่อนที่ธนบัตรใหม่จะเดินทางมาถึง นอกจากนี้ ธนบัตรใหม่ยังมีขนาดใหญ่กว่าธนบัตรเก่าทำให้ไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบผ่านตู้เอทีเอ็มได้ เกิดเป็นปัญหาธนบัตรใหม่ขาดแคลน บีบบังคับให้ประชาชนต้อง ‘โกออนไลน์’ ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลซึ่งบางพื้นที่ก็ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
เกือบหนึ่งปีผ่านไปหลังประกาศยกเลิกธนบัตรแบบฉับพลัน แล้วอินเดียเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

 

ทำลายธุรกิจใต้ดิน?

คำตอบคือไม่ครับ ตัวชี้วัดที่พิจารณาได้ง่ายที่สุดคือปริมาณธนบัตรที่ธนาคารได้รับเพื่อนำเงินกลับคืนเข้าสู่ระบบ ยิ่งธนบัตรที่กลับคืนเข้าสู่ระบบมีจำนวนน้อย ก็หมายความว่าธุรกิจใต้ดิน (หรือประชาชนตาดำๆ ที่แลกเงินไม่ทัน) สูญเสียเงินสดไปมหาศาล แต่ล่าสุดในรายงานประจำปีของธนาคารกลางอินเดียระบุว่ามีธนบัตรเก่ากลับเข้าสู่ระบบถึง 98.96 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ามีธนบัตรจำนวนจิ๋วจ้อยเท่านั้นที่ไม่สามารถนำกลับมาแลกได้ อีกทั้งธนบัตรปลอมที่กลับเข้ามาก็มีมูลค่าไม่ถึง 0.001 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินได้ส่งรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยกว่า 361,214 ธุรกรรม เพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ธุรกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าการยกเลิกธนบัตร โดยธุรกรรมดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบ

ผลลัพธ์ข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าธุรกิจมืดในอินเดียส่วนใหญ่แทบไม่เก็บสินทรัพย์ในรูปเงินสด แต่จะนิยมเปลี่ยนเป็นอัญมณีมีค่าหรืออสังหาริมทรัพย์มากกว่า เนื่องจากหากเก็บเงิน 10 ล้านรูปี (ประมาณ 5 ล้านบาท) จะต้องใช้พื้นที่ประมาณหนึ่งตารางฟุตโดยมีน้ำหนัก 13 กิโลกรัม เงินสดพันล้านรูปีจึงมีน้ำหนักร่วม 1.3 ตันและต้องขนย้ายโดยรถบรรทุกซึ่งอาจไม่ค่อยสะดวกนัก นักวิชาการบางคนยังมองว่าการพิมพ์ธนบัตร 2,000 รูปียังเอื้อต่อธุรกิจใต้ดินเสียด้วยซ้ำเพราะทำให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ

 

ประชาชนใช้เงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น?

นโยบายยกเลิกธนบัตรทำให้ชาวอินเดียหันมาใช้ระบบซื้อขายแลกเปลี่ยนดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด พิจารณาจากสถิติของระบบการจ่ายเงินที่พัฒนาโดยรัฐชื่อว่า Unified Payment Interface (UPI) ที่มีจำนวนธุรกรรมต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 89 เท่า และมูลค่าธุรกรรมเพิ่มขึ้น 56 เท่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ก่อนการยกเลิกธนบัตร นอกจากนี้ บริษัทกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Paytm ก็ได้ยอดลูกค้าใหม่เพิ่มอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันมียอดผู้ใช้กว่า 225 ล้านคน และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็กระโดดเข้าสู่ตลาดแอปพลิเคชันเพื่อธุรกรรมซื้อขายในอินเดีย โดยใช้ชื่อว่า Tez

หากนี่คือเป้าหมายหลักของการยกเลิกธนบัตร ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อย่างไรก็ดี มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสนับสนุนการใช้เงินดิจิทัลยังมีนโยบายร้อยแปดพันเก้าแทนที่จะต้องใช้นโยบายพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอย่างการยกเลิกธนบัตร เช่น นโยบายหวยใบเสร็จในไต้หวันและจีน ที่ลูกค้าจะขอใบเสร็จเพื่อลุ้นรางวัลจากรัฐบาล ทำให้ร้านค้าโดนบังคับให้เข้าระบบและปรับตัวสู่ดิจิทัลในที่สุด

“นโยบายทางเศรษฐกิจที่ห่วยแตก ก็อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ดีก็ได้”
– อภิจิต แบนเนอร์จี –

 

ภาครัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ?

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายอรุณ ไจท์ลีย์ (Arun Jaitley) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดียได้ออกมากล่าวอย่างภาคภูมิใจว่ามีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.2 เพราะการยกเลิกธนบัตร นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการเก็บภาษีทั้งแบบเงินได้ส่วนบุคคล และแบบประเมินตนเองก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่ผ่านมานอกจากการยกเลิกธนบัตรแล้ว รัฐบาลอินเดียก็ได้ออกนโยบายเปิดเผยรายได้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบในอดีต ยื่นเรื่องเปิดเผยรายได้และสินทรัพย์ใหม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลของสองนโยบายร่วมกัน ไม่ใช่การยกเลิกธนบัตรเพียงอย่างเดียว

คนรักนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น?

ปัญหาการไม่เตรียมพร้อมของรัฐบาลในการยกเลิกธนบัตรแบบสายฟ้าแลบสร้างความยากลำบากแก่ผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก เพราะพวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจคือ พรรคการเมืองของนเรนทร์ โมที ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นอย่างถล่มทลาย ท่ามกลางเสียงชื่นชมของประชาชนว่ามีความกล้าหาญจริงใจในการแก้ปัญหา ‘เงินนอกระบบ’ แม้ว่านักวิชาการจะออกมาตอบโต้โดยหยิบตัวเลขมายืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรเลยก็ตาม

ผลการสำรวจของอาจารย์อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Bannerjee) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัย MIT พบว่าประชาชนรู้สึกเจ็บปวดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ก็ยังมองว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะนโยบายเดียวกันนี้ส่งผลกระทบให้กับคนบางกลุ่มมากกว่า คือเจ้าหนี้นอกระบบและนักการเมือง โดยอภิจิตได้สรุปแบบขำๆ ว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่ห่วยแตก ก็อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ดีก็ได้ (แต่ไม่เสมอไป)

 

อ่าน ฟัง และชมต่อได้ที่
Abhijit Banerjee: Demonetizing India
Planet Money: When India’s Cash Disappeared, Part One & Two
One Month In, What’s The Impact Of India’s Demonetization Fiasco?
After Day 50: The Results From India’s Demonetization Campaign Are In
How India Is Surviving Post-Demonetization

FACT BOX:

การยกเลิกธนบัตรของอินเดียเมื่อปีที่ผ่านมาไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ในอดีต อินเดียเคยยกเลิกธนบัตรมาแล้วสองครั้งคือ เมื่อปี 2489 และปี 2521 โดยใช้เหตุผลคล้ายคลึงกัน คือจัดการปัญหาการเลี่ยงภาษี ทำลายเงินนอกระบบ รวมถึงแก้ปัญหาธนบัตรปลอม

DID YOU KNOW?

  • ผู้อยู่เบื้องหลังและมีอิทธิพลต่อความคิดที่จะยกเลิกธนบัตร (Demonetization) คือ อนิล โบคิล (Anil Bokil) วิศวกรเครื่องกลผู้ให้ความสนใจปัญหาความยากจนในอินเดีย สมาชิกของคลังสมอง Arthakranti ที่แปลเป็นไทยว่าปฏิวัติเศรษฐกิจ โบคิลได้เข้าพบโมทีก่อนที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้นำเสนอความคิดเรื่องการยกเลิกธนบัตรเพื่อกำจัดเงินนอกระบบ (Black Money) โดยมีเวลานำเสนอเพียง 9 นาที แต่เนื่องจากโมทีสนใจในแนวคิดดังกล่าว บทสนทนาจึงยืดยาวออกไปเป็นหลายชั่วโมง
  • ชมสไลด์นำเสนอที่เป็นแรงผลักดันสู่นโยบายยกเลิกธนบัตรในอินเดียได้ที่นี่
Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,