ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของภาพยนตร์ เราจะจดจำยะลา นราธิวาสและ ปัตตานีอย่างไร
เราอาจจดจำ มัสยาหลานสาวเจ้าเมืองยะหริ่งที่ถูกเรียกตัวกลับมากรุงเทพเพื่อขัดสีฉวีวรรณให้เป็นชาวฟ้าในกรุงเทพ จากละครโทรทัศน์ที่รีเมคซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่าง มัสยา (2528 / 2543 / 2560) หรือจดจำเด็กชายหญิงสองคนดิ้นรนท่ามกลางความยากจนจนต้องไปเป็นกองทัพมดขนของเถื่อนข้ามชายแดนใน ผีเสื้อและดอกไม้ (2528)
หลายปีต่อมาเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดค่อยๆ ลุกลามรุนแรงมากขึ้น เหตุระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ในปี 2544 นำไปสู่ภาพยนตร์ที่ว่าด้วย พระผู้ต้องสึกมาดูแลหลานหลังเกิดเหตุระเบิดที่คร่าชีวิตพี่สาวของเขาไป ใน โอเคเบตง (2546)
ปีถัดมา เหตุการณ์ปล้นปืนในนราธิวาส ตามด้วยการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร เหตุการณ์เศร้าสลดในมัสยิดกรือเซะและกรณีตากใบที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 84 คนโดยที่ยังคงไม่มีใครถูกลงโทษ ทำให้ปี 2547 ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุรุนแรงในสามจังหวัดที่ยังคงดำเนินต่อไป
หลังปี 2547 แทบไม่มีหนังพูดถึงสามจังหวัดอีก แผ่นดินนี้อยู่ไกลออกไปทุกที ไม่ถูกรู้จักมากขึ้นทุกทีและถูกวาดภาพผิดเพี้ยนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่ง 11 ปีต่อมา มหาสมุทรและสุสาน (2558) กลายเป็นหนังที่อธิบายความไม่เข้าใจและไม่อาจเข้าใจได้ง่ายของคนนอกที่มองเข้ามาในสามจังหวัดในยุคหลังการก่อการร้าย มันเป็นเรื่องของ พี่น้องคู่หนึ่งขับรถหลงทางลงใต้ไปพบป้าที่ไม่เคยรู้จักไปยังเกาะที่ไม่มีใครรู้จัก ที่ที่มีอยู่จริง พอๆ กับไม่มีอยู่จริง ในปีเดียวกัน ละติจูดที่ 6 (2558) ก็พยายามฉายภาพสามจังหวัดในฐานะดินแดนสงบเรียบง่ายที่คนกรุงเทพเดินทางไกลไปตกหลุมรัก หรือหนังที่ไม่ได้ฉายอย่าง ปิตุภูมิ ที่ดัดแปลงจากนิยาย พรมแดน นิยายสายตาตำรวจจากกรุงเทพ (อีกแล้ว) ที่ต้องลงไปอยู่ใต้
เราจึงอาจบอกได้ว่าแทบทั้งหมดของความเข้าใจชายแดนใต้ เกิดผ่านและถูกกำหนด จากสายตาของกรุงเทพที่มีเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งในฐานะของการเป็นการตั้งคำถาม หรือพยายามทำตัวเป็นข้อสรุป
โครงการ Deep South Young Filmmaker อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการลงพื้นที่เพื่อทำหนังเรื่อง มหาสมุทรและสุสาน ของพิมพกา โตวิระ โครงการเปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 15-25 ปีในพื้นที่ที่สนใจภาพยนตร์ให้ส่งโครงเรื่องเข้ามา ผู้ได้รับการคัดเลือกจะเข้าเวิร์กช็อปสอนกระบวนการการทำภาพยนตร์จากคนทำหนังโดยตรง มีพี่เลี้ยงในพื้นที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือ เมื่อหนังเสร็จ โครงการก็ช่วยเหลือส่งทำโพสต์โปรดักชั่นจนตัวหนังมีคุณภาพในระดับมืออาชีพ โดยเรื่องราวทั้งหมด ยังคงเป็นเรื่องของพวกเขาเอง
ผลลัพธ์คือหนังสั้นสิบเรื่องที่คิด ทำ นำแสดง โดยคนในพื้นที่ เล่าเรื่องของคนในพื้นที่ด้วยสายตาของคนในพื้นที่
เราอาจแบ่งหนังออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกดูจะเป็นหนังที่ลงไปในประเด็นความขัดแย้ง ครุ่นคิดและตอบสนองกับมันอย่างน่าทึ่ง กลุ่มที่สองเป็นหนังรักวัยรุ่นที่น่าสนใจเพราะมันเป็นหนังรักที่จำเพาะเจาะจงต่อชาติพันธุ์ ภูมิหลัง และสภาพทางสังคมในพื้นที่ หนังกลุ่มสุดท้ายคือหนังหลากหลายที่มีเรื่องเล่าเฉพาะของตัวเอง ยั่วล้อ ตั้งคำถาม และครุ่นคิดเกี่ยวกับบางประเด็นที่จำเพาะกว่าที่เราเข้าใจ ในขณะที่กลุ่มสุดท้ายอาจจะเรียกว่ากลุ่มเบ็ดเตล็ดที่น่าสนใจในความหลากหลายไม่แพ้กัน
สำหรับกลุ่มแรก หนังอย่าง The Ghost’s View (ศิรีน มะดากะกุล / ทีม เด็กฟิล์ม) เล่าเรื่องของผู้กำกับที่ไปถ่ายหนังอยู่ในโรงงานร้าง หนังที่พวกเขาถ่ายวันนี้เป็นฉากว่าด้วยการซ้อมทรมาน ขณะที่เขากับทีมกำลังถ่ายทำอยู่ ก็ถูกขัดจังหวะจากทหารสายตรวจจนเขาต้องให้ลูกทีมหลบไปและออกหน้าคุยกับทหารซึ่งก็มาตรวจบัตรประชาชน บันทึก และบอกว่าพรุ่งนี้จะมาช่วย ทั้งหมดตกอยู่ในสายตาของนักแสดงบทผู้ถูกซ้อมทรมานลึกลับไร้เสียงอีกคนหนึ่งที่เฝ้ามองอย่างเงียบใบ้ น่าตื่นเต้นที่หนังพุ่งเข้าชนกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์่ผ่านลูกเล่นหลายชั้น และถึงที่สุด ฉายภาพการคุกคามในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขา ไม่ใช่ในฐานะผู้ก่อการร้าย แต่ในฐานะประชาชนที่จู่ๆ ก็กลายเป็นคนที่รัฐจับตา เจ็บปวดไปกว่านั้นคือหากการทำหนังของเขาเป็นการส่งเสียงที่ไม่ถูกได้ยินออกไป หนังยังซ้อนภาพของเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน และไม่ถูกมองเห็นด้วยสายตาของภูติผีที่ถูกกดทับและถูกหลงลืมไปอีกชั้นหนึ่ง
กะโผ๊ะ (ซอฟวาน แวอาลี / ทีม Smart End Game) และ ชีวิตในโลกใบเดียวกัน (มูหามะซูเบร์ เด็ง/ทีมยังยิ้ม) เป็นหนังอีกสองเรื่องที่มุ่งมั่นในประเด็นเฉพาะแต่น่าเสียดายที่ทั้งสองเรื่องประสบปัญหาคล้ายๆ กันคือการต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีเริ่มและจบ
กะโผ๊ะ เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยเห็นพ่อโดนทหารจับตัวไปสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมก่อนจะปล่อยมา เติบโตขึ้นด้วยความรู้สึกเช่นนั้น จนวันหนึ่งเข้าได้พบว่า นายทหารจากอีสานเหล่านั้นก็เป็นคนเหมือนๆ กันกับเขา ตัวโครงเรื่องนั้นน่าสนใจมาก แต่การที่หนังต้องพยายามเชื่อมให้ตัวละครเข้าใจความแตกต่างผ่านเหตุการณ์ทหารลงมาช่วยเหลือเด็กหนุ่มก็ทำให้หนังก้ำกึ่งเกือบจะเป็นงานโปรทหารไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
เช่นเดียวกัน ชีวิตในโลกใบเดียว นั้นมั่นคงมาก เพราะทีมคนทำเป็นเยาวชนที่สนใจนกเงือก อาจจะสนใจนกเงือกมากกว่าภาพยนตร์ ภาพยนตร์จึงเป็นเพียงเครื่องมือให้พวกเขาได้ฉายภาพนกเงือกที่เขาตามถ่ายกันมาหลายปี และเป็นเครื่องมือในการโปรโมทประเด็นเรื่องนกเงือก หนังเล่าเรื่องของครอบครัวพรานหาของป่า ตัดสลับกับภาพชวนตะลึงของชีวิตนกเงือกในป่าก่อนสองเส้นเรื่องจะมาบรรจบกันในทางที่คาดเดาได้ไม่ยาก ซึ่งอันที่จริงหนังทั้งสองเรื่องมีศักยภาพมากพอที่จะเล่าด้วยภาพโดยไม่ต้องใส่พลอตหักเหใดๆ เข้ามา การทำความเข้าใจผู้อื่นไม่ต้องทำผ่านทางเรื่องเล่าแต่สามารถทำได้ผ่านการได้เห็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน เข้าใจในข้อจำกัดและแรงผลักของพวกเขาในฐานะมนุษย์อีกคนหนึ่งก็อาจเพียงพอ
หยุดตรวจ (ต่วนยัซดาน แซแร / ทีมทำหนังเสร็จแล้วลุงยังอยู่มั้ย) กลายเป็นหนังที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มเมื่อหนังหยิบเอาเหตุการณ์จับผู้ต้องหาวางระเบิดพร้อมน้ำบูดู มาเล่าใหม่ในโลกอนาคตที่บูดูถูกทำให้เป็นสิ่งต้องห้าม และการซื้อขายบูดูเป็นการก้ำกึ่งการก่อการร้าย สิ่งที่น่าสนใจคือหนังเชื่อมเอาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นภาพจำของการก่อการร้าย และนั่นไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า มุสลิมเท่ากับโจรใต้ ภายใต้การเหมารวมและตีตรา และด้วยลีลาของการเป็นหนังทริลเลอร์ว่าด้วยทริคการผ่านด่านตรวจที่มีอยู่มากมายในสามจังหวัดทำให้หนังลุ้นระทึกโดยยังคงประเด็นของมันเอาไว้ได้
คล้ายกับ The Ghost View หนังพูดความคับข้องอึดอัดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งการถูกเหมารวม ถูกบังคับจับตา ความไม่ไว้ใจกันและกันของรัฐกับประชาชน เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงที่ทุกคนยักคิ้วหลิ่วตารู้กันดี แต่พูดออกมาไม่ได้แม้แต่ในช่วง Q&A หลังหนังจบ ด้วยการณ์นี้ ศิลปะ (ภาพยนตร์) จึงเป็นเครื่องมือไม่กี่อย่างในการพูดสิ่งที่พูดออกมาไม่ได้
หนังกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มหนังวัยรุ่นวุ่นรักที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะความรักหนุ่มสาวในหนังเหล่านี้ ไม่ได้วางอยู่ในฐานะปัจเจกอันโดดเดี่ยว แต่ผูกโยงอยู่กับศาสนาด้วย
ฮาลีมกับเฟิร์น (อับดุลฮาดี้ เฉมแร๊ะ / ทีม สุข เศร้า อาทิตย์) เล่าเรื่องของเด็กชายหญิงสองคนที่กำลังจะโตเป็นวัยรุ่น เด็กเกินกว่าจะเป็นหนุ่มสาว และโตเกินกว่าจะเป็นเด็ก ในช่วงเวลาก้ำกึ่งนี้เด็กชายสงสัยว่าเขากับเด็กหญิงเพื่อนบ้านจะต้องประพฤติในฐานะเช่นใดต่อกันภายใต้กรอบของศาสนา หนังเล่าเรื่องน่ารักแบบแฟนฉัน ที่ฉายภาพรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในที่เศร้าสร้อยและงดงาม
เรียนรู้เพื่อรักเธอ (ธัญภาค ระถะการ และ ซาอีด หัตถ์ละเอียด / ทีม นายูราม่า) หนังรักกุ๊กกิ๊กว่าด้วยหนุ่มหาปลามุสลิม ที่แอบหลงรักสาวหมวยแพปลา เธอบอกว่าถ้าจะพาเธอไปเที่ยวก็ต้องเรียนภาษาไทยก่อนแล้วเธอจะไปเที่ยวด้วย จากเรื่องหนุ่มจีบสาวสาวจีบหนุ่มง่ายๆ ที่น่ารัก หนังกลับภาพเราไปมองภาพของความไม่รู้หนังสือในสามจังหวัดที่ไม่ได้เกิดจากความยากจนอย่างเดียวหากเกิดจากวิถีชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง โลกที่ในชีวิตประจำวันไม่ได้พึ่งพาภาษาไทยกลาง เว้นแต่การเป็นไปเพื่อติดต่อกับโลกภายนอกที่คุกคามพวกเขาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
หวานเย็น (สุชาวดี สวนทอง และ นาถวรา พรวุฒิกุล / ทีม TL Production) นั้นก็เล่าเรื่องคล้ายๆ กับ เรียนรู้เพื่อรักเธอ เรื่องของสองพี่น้องมุสลิม ที่น้องชายอาจจะแอบชอบเพื่อนพี่สาวชาวพุทธ ตัวน้องชายเองก็มีเพื่อนสนิทเป็นชาวไทยพุทธที่คอยดูแลเขาทุกอย่าง เช่นเดียวกับที่สาวที่เขาแอบชอบก็คอยดูแลพี่สาวของเขาเป็นอย่างดี ภายใต้ความคลุมเครือของความสัมพันธ์ หนังไต่อยู่บนเส้นของการเป็นหนังแอบรักวัยรุ่นกับการเป็นหนังวาย โดยไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่างออกไป ความเหมาะเจาะลงตัวระหว่างความจิ้นกับความจริงและะการเปล่งเสียงพูดสิ่งที่พูดไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจที่สุดในกลุ่ม
หนังกลุ่มสุดท้ายดูเหมือนจะเบ็ดเตล็ดหลากหลายกว่าใคร เริ่มจาก มือลาฆู (นุรดีน กาซอ / ทีม แบเวาะฟิล์ม) สารคดีหนึ่งเดียวในโปรแกรม หนังไล่สัมภาษณ์นักดนตรีในปัตตานีสามรุ่น ตั้งแต่หัวหน้าวงร็อคระดับตำนานอย่างวง Pattanian ที่ปัจจุบันเขายังอยู่ในปัตตานี หนุ่มนักดนตรีเมทัลรุ่นใหม่ และ เด็กหนุ่มที่ทำเพลงโฟล์คป๊อปภาษามลายู เนื้อหาเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังลงในยูทูป ภายใต้การตีความศาสนาอันหลากหลายรูปแบบ ดูเหมือนดนตรีจะถูกผลักออกจากศาสนาไปเรื่อยๆ หนังจึงเป็นเหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีในปัตตานีเอาไว้ เสียดายที่หนังน่าจะมีเวลามากพอที่จะสร้างประเด็นเชื่อมโยงให้ไกลกว่าการบันทึกและสัมภาษณ์ เชื่อว่ามันขยับเป็นหนังยาวได้และอาจจะให้บริบทที่น่าสนใจมากขึ้นเมื่อดนตรีถูกขยายภาพกว้างกว่านักดนตรีไปสู่สังคม
เด็กปอเนาะ (อัมรินทร์ กะลูแป/ทีม ทานตะวันเจ้า) หยิบเอา urban legend เกี่ยวกับญินในโรงเรียนปอเนาะมาทำเป็นหนังผี (ถ้าจะเรียกอย่างนั้นก็ให้เป็นการเรียกจากคนศาสนาอื่น) เล่าเรื่องเด็กหนุ่มสี่คนที่นอนพักอยู่กระท่อมเดียวกันในปอเนาะ แล้วเด็กใหม่หนึ่งในสี่พบว่าอาจจะเจอกับญินบาบอที่มาปรามการติดโทรศัพท์ของเขา หนังเล่าเรื่อง ง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่เล่าได้สนุกและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน
หนังเรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นหนังที่โดยส่วนตัวประทับใจที่สุดในโปรแกรมนี้เป็นหนังที่เล่าเรื่องง่ายอย่างยิ่ง ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง แต่กลับทรงพลังอย่างยิ่ง นั่นคือ Endgame (รัมดร สอและ / ทีม Wesion) หนังที่เล่าเรื่องง่ายๆ เมื่อเด็กสาวรุ่นชาวมุสลิมเกิดตั้งท้องขึ้นมา และสิ่งที่แม่ของเธอต้องลงมือจัดการ หนังมุ่งมองกระบวนการการจัดการการท้องไม่พร้อมแบบคนสามจังหวัดที่การทำแท้งเป็นไปไม่ได้ การพยายามสร้างทางเดินชีวิตใหม่ให้ยังคงไปต่อได้ภายใต้กฎศาสนา หนังบอกเล่าโดยแทบไม่มีอารมณ์ดราม่า แม้แต่ตัวเด็กสาวหนังก็กีดกันเธอออกไป โฟกัสของหนังอยู่ที่กระบวนการ มากกว่าจิตใจของคน ในโลกที่ศาสนามีอำนาจเหนือปัจเจก พวกเขาดิ้นรนกันอย่างไรเพื่อจะรักษาเกียรติและชีวิตของตัวเองไว้ ด้วยวิธีการอันจำเพาะเจาะจงของโลกภายในนี้ ชักชวนให้เกิดบทสนทนาแตกยอดต่อไปได้อีกมากหลังจากหนังจบลง
หนังสั้นทั้งสิบเรื่องอาจจะพูดเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่เราอาจบอกได้ว่าหนังสั้นทั้งสิบ ในนามของภาพยนตร์และในนามของศิลปะ มันได้ทำหน้าที่ในการ ‘เปล่งเสียง’ เพื่อเล่าเรื่อง ‘ความเงียบ’ อันไม่ได้หมายถึงการไม่มีเสียง หรือเสียงไม่ถูกได้ยินจากคนนอก แต่มันคือเสียงที่แม้แต่จะเปล่งออกมาก็ไม่ได้ เสียงที่เพียงแค่คิดก็อาจจะผิดแล้ว ดนตรี ผี ความรัก LGBT การถูกซ้อมทารุณ รักข้ามศาสนา การท้องก่อนแต่ง การก่อการร้าย สิ่งเหล่านี้ไหลเวียนอยู่ในชีวิตของคนหนุ่มสาว พวกเขาไม่ได้พูดออกมาไม่ได้ แต่ไม่อาจจะแม้แต่เปล่งเสียงพูดมันออกมา แตในนามของภาพยนตร์ พวกเขาทำได้ ภายใต้ความพร่าเลือน การเป็นภาพแทน การเป็นเรื่องตลก การเป็นเพียงสิ่งไม่จริงจัง พวกเขากลับสามารถเปล่งเสียงเล่าความคับข้องของตน หนังเหล่านี้อาจจะยังไม่ใช่หนังที่แหลมคม หรือแม้แต่เป็นหนังที่สนุกตามมาจรฐานมืออาชีพ แต่ที่แน่ๆ มันคือหนังที่เต็มไปด้วยพลังหนุ่มสาว พวกเขาอยากจะพูด และพูดมันออกมาภายใต้ข้อจำกัดที่ตัวเองเข้าใจ และพูดออกมาได้
หนังโปรแกรมนี้ฉายแล้วสองครั้งในพื้นที่ (ยะลา และ ปัตตานี) และจะเดินทางมาฉายอีกสองครั้งในกรุงเทพ โดยครั้งแรก ที่เทศกาลภาพยนตร์สั้น ที่หอภาพยนตร์ ศาลายาในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 และอีกครั้งที่ SF Centralworld ในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2562