ท่ามกลางข้อมูลที่มีอยู่เยอะมาก ก็ดูเป็นเรื่องที่ยากเกินแรงหากเราต้องมาอ่านบทความหลายสิบหน้าหรือตารางที่ใส่ตัวเลขมาเป็นพรืด ทำให้ Data Visualization หรือการนำข้อมูลที่มีมาเป็นภาพประกอบหรือ interactive ต่างๆ ที่อธิบายข้อมูลเชิงลึกให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสิร์ฟข้อมูลให้เข้าถึงคนอ่านได้มากยิ่งขึ้น 

“เมื่อก่อนเรามีสื่อหรือช่องทางในการนำเสนอข่าวได้น้อย อาจเพราะเราไม่รู้กันว่าข่าวมันสามารถนำเสนอได้หลายแบบ แต่พอเราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลเยอะขึ้น ซับซ้อนขึ้น เราจำเป็นต้องปรับตัวและมองหาเครื่องมือที่มีมากขึ้น ทำให้เรื่องของภาพ (visual) กลายเป็นเครื่องมือที่ถ่ายทอดความซับซ้อนและมีปริมาณมากได้ในเวลารวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

“ทางฝั่งคนเสพสื่อเอง ตอนนี้มีสิ่งดึงดูดความสนใจเต็มไปหมด ดังนั้นการที่เรานำเสนอแบบ visualization ก็จะทำให้เขาเห็นภาพรวมทั้งหมดด้วยรูปภาพได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเชื้อเชิญให้เขาไปอ่านข้อมูลเชิงลึกที่ซับซ้อนขึ้นต่อไปด้วย”       

คำอธิบายของ ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up ทีมที่มุ่งเอาข้อมูลยากๆ เยอะๆ มาย่อยให้เข้าใจแบบง่ายมากๆ เช่นผลงานอย่าง ‘ปลาทูไทย กำลังจะหายไปจากโลก’ หรืองานล่าสุดอย่าง ‘ระเบิดเวลา PM 2.5 ลมหายใจที่หายไปกับฝุ่น’ ในสำนักข่าวไทยรัฐด้วย Data Visualisation ที่โคตรจะว้าว และทำให้คนหันมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้ในวงกว้างมากขึ้น 

“เราว่าการมีภาพประกอบข้อมูลมันทำให้ข่าวน่าเชื่อถือ มันทำให้งานของเราแข็งแรงได้ ซึ่งนำไปสู่การเล่าประเด็นอื่นๆ ที่ใหม่ขึ้นได้ เพราะเมื่อก่อนเรามักจะทำข่าวเป็นการรายงานเป็นส่วนใหญ่”

“และถ้ารู้จักการเก็บและใช้ข้อมูลให้เป็น เราก็จะประยุกต์มาเล่าในมุมมองที่แตกต่างได้มากขึ้น เราคิดว่ามันเปิดโอกาสให้เราได้วิพากษ์กันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การเกิดประเด็นใหม่ๆ จากข้อมูลที่เราเก็บมาได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นและอยากเล่าอะไรในนั้น ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเล่าเรื่องผ่านรูปภาพ มันก็เป็นทางเลือกสำหรับคนทำงานให้มีอาวุธในมือมากขึ้น”

“ใน Data Journalism Workshop ครั้งนี้ จะทำให้รู้ต่ออีกว่าการทำ Data Visualization มันไม่ใช่แค่การทำรูปภาพหรือ Infographic ประกอบบทความเท่านั้น แต่มันยังมีการเล่าเรื่อง การย่อยข้อมูลให้เข้าใจ รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีคิดและการทำงานร่วมกับกราฟิกดีไซเนอร์และโปรแกรมเมอร์ด้วย”

ธนิสราสรุปว่า การทำงานร่วมกับของทั้งนักข่าว โปรแกรมเมอร์ และคนทำภาพประกอบนั้นจะช่วยให้งานชิ้นหนึ่งออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการช่วยกันค้นหาวิธีการนำข้อมูลมาใช้รวมถึงวิธีการสื่อสารที่ลึก รอบด้าน และน่าสนใจ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะช่วยให้ข่าวนั้นๆ มีชีวิตอยู่ต่อไปและทำหน้าที่สื่อสารได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

 

 

 

Fact Box

Data Journalism Workshop เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 มาร่วมสนุกกับวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึกที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนต์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซเนอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/djw2020/

Tags: , , ,