“ปกติแล้วโปรแกรมเมอร์จะมีทักษะในการประมวลผลข้อมูล การเขียนโปรแกรมค่อนข้างสูงนะ แต่ผมมองว่าในหลายแง่มุมเช่นประเด็นทางสังคม บางทีเขาอาจมองไม่เห็นประเด็นนี้ หรือหากพูดถึงเรื่องข้อมูลและทักษะในการวิเคราะห์ในมิติอื่นๆ เขาอาจไม่แหลมคมได้เท่ากับนักข่าวเท่าไหร่นัก”

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่าจุดอ่อนของอาชีพโปรแกรมเมอร์คือจะมีความมุทะลุและมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นเลิศทางสายอาชีพโดยมีเป้าหมายว่า ฉันจะต้องพัฒนาโปรแกรมตัวนี้ออกมาให้ดีที่สุด จนบางทีก็อาจเผลอละเลยมุมมองด้านอื่นและอาจเสียโอกาสในการต่อยอดข้อมูลในมือที่มีอยู่ในมือหรือมองไม่เห็นข้อมูลบางอย่างที่มีอยู่

“ในมุมมองของคนที่ทำด้านเทคโนโลยี เราพบว่าการทำงานที่พัฒนาไปด้านเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจมีผลอย่างใหญ่หลวง เพราะโปรแกรมเมอร์ไม่ได้มองในมุมอื่นๆ ว่า ผลงานชิ้นนี้มันจะมีผลกระทบทางสังคมด้านอื่นไหม อย่างเช่นกรณีเฟซบุ๊กที่โปรแกรมมันพัฒนาและตอบโจทย์ในเชิงเทคโนโลยีมาก แต่ในเชิงสังคมมันกลับมีปัญหาเรื่องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวมากมายอยู่เต็มไปหมด”

“ดังนั้นใน Data Journalism Workshop สิ่งที่โปรแกรมเมอร์จะได้อย่างแรกเลยคือ ‘การสื่อสาร’ ปกติ โปรแกรมเมอร์ถ้าถนัดด้านในด้านหนึ่งก็จะคลุกคลีอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเดียว ตัดสินใจเพียงคนเดียว ไม่ต้องหารือหรือทำงานร่วมกับคนอื่นมากนัก ซึ่งหากได้ลองทำงานเป็นทีม จะทำให้เราได้คุยกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อนำไปสู่มุมมองที่มีหลายมิติรอบด้านมากขึ้น”

“นักข่าวหลายคนที่ผมรู้จักก็เรียนจบมาจากสายโปรแกรมเมอร์เหมือนกัน ผมคิดว่าถ้าเรามีมุมมองที่กว้างและมีความสนใจที่มากพอ เราสามารถใช้ทักษะด้านโปรแกรมเมอร์ประยุกต์ใช้ในการเป็นนักข่าวและการทำงานกับข้อมูลได้อย่างแน่นอน”

จิตร์ทัศน์ยังเสริมว่า การให้โปรแกรมเมอร์มาทำงานเป็นทีมเพื่อหาคำตอบในประเด็นทางสังคมร่วมกับนักข่าวและกราฟิกดีไซเนอร์ยังจะช่วยให้คนทำงานสายเทคจ๋าๆ มี ‘วิธีคิด’ ที่รอบด้านและหลากหลายทางมากขึ้น นั่นเพราะปกติแล้วการทำงานกับโปรแกรมจะเป็นการเขียนโค้ดเพื่อทดสอบเงื่อนไขต่างๆ ว่าใช่หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้โปรแกรมเมอร์มองอะไรแบบผิด-ถูก ขาว-ดำ จนเกินไป และแทนที่จะเขียนแค่โค้ดและสร้างโปรแกรมหรือเทคโนโลยีเพียวๆ จิตร์ทัศน์จึงอยากชวนโปรแกรมเมอร์มาติดอาวุธให้ครบมือมากขึ้น เพราะในอนาคตนั้นโปรแกรมเมอร์เองจะหลีกเลี่ยงที่จะทำงานกับคนอื่นไม่ได้แน่นอน

Fact Box

Data Journalism Workshop เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 มาร่วมสนุกกับวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึกที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนต์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซเนอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/djw2020 

Tags: , ,