ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร คำว่า Data ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นถึงขนาดมีประโยคอย่าง “Data is the new oil.” มาเปรียบเทียบให้เห็นความสำคัญของข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล 

อย่างไรก็ตาม การจัดการข้อมูลแบบที่เราคุ้นเคยกัน ยังเน้นไปที่การหยิบข้อมูลมาบอกเล่าผ่านภาพประกอบแบบอินโฟกราฟิกพร้อมคำบรรยายรายละเอียดเท่านั้น 

ซึ่งนี่คือช่องว่างสำคัญที่ สฤณี อาชวานันทกุล จาก บริษัท ป่าสาละ จำกัด และเป็นหนึ่งในผู้ก่อการและวิทยากรของ Data Journalism Workshop เห็นว่า ยังมีข้อมูลอีกมากที่รอให้เราไปขุดค้น และยังมีวิธีการอีกมากที่จะให้เรานำข้อมูลมาทำงานข่าว เพื่อเปิดมิติใหม่ๆ ของวงการสื่อสารมวลชนไทย 

การอบรม Data Journalism นี้ กำลังเปิดรับให้สื่อมวลชน กราฟิก ดีไซเนอร์ และโปรแกรมเมอร์ เข้าร่วมสมัครเรียนได้ โดยเป็นโครงการที่วางหลักสูตรร่วมกันโดย The Momentum, บริษัท ป่าสาละ จำกัด, คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และพันช์อัป 

สฤณีมองว่า งาน Data Journalism คือการสร้างกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำมาผลิตเนื้อหา ซึ่งจะสำเร็จได้ คนทำงานในทีมข่าวหรือกองบรรณาธิการทั้งหมดต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ทำงานแบบแยกส่วน และนี่เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนที่วิธีคิดและวิธีการทำงานในกองบรรณาธิการ

แรงบันดาลใจในการจัดเวิร์กช็อป Data journalism ครั้งนี้มาจากครั้งเมื่อสฤณีได้ไปศึกษาดูงานที่ห้องข่าวของ ProPublica สื่อที่ผสานเอาข้อมูลกับวิธีการอันหลากหลายมาเป็นเครื่องมือในการผลักดันประเด็นและการตรวจสอบทางสังคม

“เรามีโอกาสได้ไปนั่งกับทีมนักข่าวของ ProPublica อยู่ค่อนวัน ก็สังเกตเห็นว่า การทำงานของเขาไม่แบ่งแยกว่าใครทำงานอะไร เขาจะบอกว่าทุกคนคือนักข่าว เพราะฉะนั้น การประชุมประเด็นก็จะประชุมรวมกันไปเลย โยนไอเดียใส่กัน แล้วค่อยมาตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำประเด็นนี้ จากนั้นก็จะคิดร่วมกันว่าจะนำเสนอประเด็นยังไง เขาสลายพรมแดนของชื่อตำแหน่งแล้วมาคิดร่วมกัน ซึ่งมันแตกต่างจากเมืองไทยตรงที่ว่า เรายังทำงานแบบแยกส่วนมากๆ นักข่าวไทยทำเองหมด ไปหาข้อมูล เขียนข่าว จากนั้นค่อยโยนเนื้อหาให้กราฟิกไปทำรูป คือมันไม่ได้ผ่านการคิดร่วมกัน”

สำหรับสฤณีแล้ว Data Journalism Workshop ครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การปูพื้นในเชิงวิชาการอย่างเดียว เพราะตลอดทั้งเวิร์กช็อป จะเป็นการร่วมสร้างกระบวนการการทำข่าวด้วยข้อมูลผ่านการปฏิบัติงานจริง ด้วยการให้ทั้งนักข่าว คนทำภาพประกอบ และโปรแกรมเมอร์ ที่จะช่วยเติมเต็มด้านการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลมาร่วมทำงานด้วยกัน ถือเป็นโปรเจ็กต์ทดลองที่คาดว่าน่าจะนำพาความสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาเล่นกับข้อมูลที่มีอยู่เยอะมากในไทย ซึ่งในระยะยาว น่าจะส่งแรงสะเทือนไปถึงผู้ให้บริการข้อมูลหลายราย เช่น หน่วยงานรัฐบาล ในการเปิดเผย big data ต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น 

Fact Box

Data Journalism Workshop เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 มาร่วมสนุกกับวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึกที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนท์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซเนอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/djw2020/

Tags: , ,