“งานวารสารศาสตร์ที่ดีคือชุดความจริงที่หามาได้ที่ดีที่สุด” (Good journalism is the best obtainable version of the truth.) คาร์ล เบิร์นสตีน (Carl Bernstein) นักวารสารศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในวงการและเคยร่วมรายงานข่าวเชิงสืบสวนที่นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้

ข้อความนี้เหมือนจะบอกว่า นักข่าวต้องพยายามผลิตงานคุณภาพด้วยการเพียรค้นหาข้อเท็จจริง แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนข้อจำกัดว่า ความจริงที่นำเสนอนั้นเป็นเพียง ‘เวอร์ชั่นหนึ่ง’ ที่ ‘หามาได้’ เท่านั้น นั่นหมายความว่า ยังมีความจริงอีกหลายชุดที่นักข่าวเข้าไม่ถึงด้วยสาเหตุต่างๆ 

ขนาดนักข่าวในตำนานยังออกตัวแล้วว่ารายงานให้ ‘รอบด้าน’ ไม่ได้หรอก แล้วนักวิชาการยังเรียกร้องอะไรนักหนาให้สื่อวารสารศาสตร์นำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ ‘รอบด้าน’

ในฐานะคนที่สนใจและเชื่อในศาสตร์นี้ อยากย้ำว่า ถึงอย่างไร การรายงานที่ “รอบด้าน” ก็เป็นมาตรฐานที่ต้องไปให้ถึง เพราะนี่เป็นคุณสมบัติขั้นต้นที่สังคมประชาธิปไตยคาดหวังว่าสื่อวารสารศาสตร์จะเป็นสถาบันหนึ่งที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกถ้วน (accurate) และเป็นประโยชน์สาธารณะ จากหลายแหล่ง หลากมุมมอง และถูกนำเสนออย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มาให้คนในสังคมได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจและใช้ชีวิต

ไม่เช่นนั้น สื่อที่เลือกข้าง หรือที่ต่างประเทศเรียกว่าเป็น hyper-partisan media ก็จะลอยนวลได้ เพียงเพราะประกาศแล้วว่ามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ดังนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้อง ‘รอบด้าน’

ความคาดหวังว่า สื่อวารสารศาสตร์ต้องมีบทบาทอย่างไรในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีรากมาจากการเติบโตและการปฏิบัติตนของสถาบันสื่อเอง นักวารสารศาสตร์ในสังคมตะวันตกมีประวัติในการ ส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการพูดและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นคุณค่าที่สังคมหวงแหน ขณะที่นักวารสารศาสตร์ในยุคบุกเบิกและบางช่วงประวัติศาสตร์ของไทยก็ดำเนินรอยตามวิถีนี้

แนวคิดนี้จึงถูกแปลมาเป็นเสาหลักในจริยธรรมวิชาชีพที่ระบุว่า สื่อวารสารศาสตร์ต้องตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงจากมิติและมุมมองต่างๆ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและมีอคติเจือปนน้อยที่สุด รวมทั้งให้ความเป็นธรรมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะต่อคนในข่าว แต่รวมถึงคนทั่วไปในสังคมด้วย

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เกี่ยวกับสื่อมวลชนและสื่อวารสารศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถาบันนี้ ก็มักจะสรุปว่า ปัญหาของสื่อฯ ส่งผลต่อกระบวนการและคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยอย่างไร เช่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของสถาบันต่างๆ ในสังคม การขาดการมีส่วนร่วมของพลเมือง ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และสื่อฯ ควรทำหน้าที่หรือแก้ไขปรับปรุงอย่างไรเพื่อลดปัญหาเหล่านี้

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การกดดันว่าสื่อวารสารศาสตร์ “ต้องรายงานอย่างรอบด้าน” อย่างเดียว แต่ควรดูด้วยว่าเพราะอะไรนักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่อจึงไม่สามารถทำงานและแสดงบทบาทที่ถูกคาดหวังสำหรับสังคมประชาธิปไตยได้

ประการแรก สื่อวารสารศาสตร์ ทั้งในระดับปัจเจกและสถาบัน ถูกหล่อหลอมโดยระบบทางสังคมวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ทั้งในสังคมนั้นและในบริบทชุมชนโลก ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดพันธกิจและการทำงานของสื่อวารสารศาสตร์จึงมีตั้งแต่ลักษณะส่วนบุคคลและความคิดความเชื่อของนักวารสารศาสตร์ที่ถูกกล่อมเกลาจากการเรียนรู้ทางสังคม แนวทางการประกอบการขององค์กร เช่น องค์กรเชิงพาณิชย์ องค์กรบริการสาธารณะ องค์กรไม่หวังกำไร ไปจนถึงระบอบการเมืองการปกครอง และอุดมการณ์ในสังคม

ในเมื่อมีด่านมากมายที่ต้องฝ่าไปกว่าจะได้มาซึ่งความจริงชุดต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สื่อวารสารศาสตร์ทำได้คือการยอมรับกันตรงๆ ว่าเจออุปสรรคขวากหนามอะไรบ้าง การ “เปิดม่าน” ให้สาธารณะได้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของนักวารสารศาสตร์และปัจจัยอันซับซ้อนที่ส่งผลต่อการทำงาน จะช่วยให้คนในสังคมเข้าใจมากขึ้นว่า เพราะอะไรสื่อวารสารศาสตร์จึงแสดงบทบาทที่ถูกคาดหวังไม่ได้ จะเป็นเพียงข้ออ้างหรือเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ก็อีกเรื่อง อย่างน้อยขอให้บอกกัน

ในสังคมที่เสรีภาพการแสดงความเห็นและเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น สื่อวารสารศาสตร์อาจบอกได้เพียงอ้อมๆ แต่ในสังคมที่สิทธิและเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต งานเชิงรูปธรรมที่สื่อวารสารศาสตร์ทำได้คือการสร้างกระบวนการที่โปร่งใสและมีพื้นที่ให้สาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในระดับต่างๆ เช่น บอกว่ากำลังติดตามเรื่องอะไร มีคำถามใดที่ยังหาคำตอบไม่ได้ และสร้างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรับความช่วยเหลือจากผู้ใช้สื่อในการให้ข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงมีเวทีทบทวนบทเรียนและรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีจุดไหนที่ควรสร้างความเข้มแข็ง จุดไหนที่ควรแก้ไขปรับปรุง

องค์กรสื่อไทยก็มีความพยายามเช่นนี้ เช่น นำเสนอบทสัมภาษณ์นักวารสารศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน จัดรายการหรือเวทีสาธารณะเพื่ออธิบายเบื้องหลังและปัจจัยที่มีผลต่อการรายงานประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เป็นต้น

สำหรับนักวารสารศาสตร์ที่เติบโตมาในยุคที่สื่อถูกมองว่าเป็นพหูสูต แนวทางนี้อาจไม่คุ้นชินเพราะเท่ากับยอมรับว่าตนไม่รู้หรือผิดพลาดเรื่องอะไรบ้าง นอกจากนี้ การนำแนวคิดนี้มาใช้ในสังคมไทยคงเป็นเรื่องที่ต้องทดลองเรียนรู้กันไป เพราะมีเงื่อนไขทั้งเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนสังคมตะวันตกที่ใช้ได้ผล

แม้จะมีข้อจำกัด แต่การสะท้อนย้อนคิดของคนทำงานและเปิดบ้านให้สาธารณะได้เห็นบ้าง สามารถนำไปสู่การเสริมพลังในการสื่อสารของพลเมือง สร้างความเป็นเจ้าของสื่อร่วมกัน และทำให้ประชาชนเห็นว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” ไม่ใช่เป็นเพียงแฟนคลับที่ชื่นชอบบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น

อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญคือ สังคมที่เราอยู่เป็นอย่างไร มีความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า (หรือแสลงหูกับว่า ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘การเมือง’ ไหม) ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะสถาบันที่ได้รับอำนาจให้รับผิดรับชอบต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมและอนาคตของประเทศ สามารถรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นที่ไม่ใช่เวอร์ชั่นของตนเองได้ โดยไม่จัดการผูกขาดความจริงและตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือเปล่า

ถ้ารายงานหรือแสดงความเห็นไปแล้วไม่มีใครใส่ใจ ไม่เกิด engagement เรื่องที่นำเสนอเงียบหายไปเพราะถูกเรื่องอื่นๆ กลบหรือผู้เกี่ยวข้องเพิกเฉย (ไม่มี ไม่หนี ไม่ตอบ) ถูกผู้บริหารองค์กรสั่งไม่ให้รายงานหรือให้เสนอข้อเท็จจริงแบบครึ่งๆ กลางๆ เพื่อความอยู่รอดขององค์กร ทั้งยังถูกแซะ ถูกข่มขู่คุกคามทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์จากสถาบันต่างๆ หรือเครือข่ายและผู้คนที่สนับสนุนสถาบันนั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐมา ‘เยี่ยมบ้าน’ ถูกเชิญไป ‘ชี้แจง’ หรือ ‘ปรับทัศนคติ’ ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท เสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดี สร้างความปั่นป่วนในสังคม เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือถูกทำให้หายไปเสมือนไม่เคยมีรอยเท้าอยู่บนโลกใบนี้

แล้วใครจะไปพูด ‘ความจริง’ ให้ตัวเองถูกซัดจากทุกทิศทางอย่างโดดเดี่ยว นอกจากคนที่จิตแข็ง หรือมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจพอที่จะประคองตนให้อยู่ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกระแสสังคมได้ และถ้ามีเพียงคนเหล่านี้เท่านั้นที่ยืนหยัดอยู่ได้ แวดวงนักวารสารศาสตร์และนักสื่อสารมวลชนจะมีความหลากที่มาและหลายมุมมอง ซึ่งนำไปสู่การมองสังคมด้วยมิติที่หลากหลายและรอบด้านได้อย่างไร 

ย้อนกลับไปยังคำถามในชื่อเรื่องว่า สื่อมวลชนรายงานอย่างรอบด้านไม่ได้จริงๆ หรือ โดยหลักการ คำตอบคือ ต้องทำให้ได้และพอจะทำได้ 

คำถามที่ตามมาคือ สังคมอยากได้ข้อมูลที่ ‘รอบด้าน’ จริงหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ อยากได้ ก็ต้องช่วยกันสร้างสังคมที่รับความจริงได้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นปัญหาที่สื่อวารสารศาสตร์ต้องแก้อยู่เพียงฝ่ายเดียว.

 

หมายเหตุ: ภาพลายเส้นต้นฉบับเป็นภาพเก่าที่ส่งต่อทางอินเทอร์เน็ต 

Tags: , , ,