พูดให้ตรงตัวที่สุด Data Journalism ก็คืองานข่าวที่ใช้ข้อมูลเชิงลึกเป็นตัวนำในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังความว้าวของข่าวแต่ละชิ้นนั้นไม่อาจเคลมว่าเป็นผลงานของนักข่าวเพียงคนเดียว นั่นเพราะสำหรับห้องข่าวทั่วโลกในยุคนี้ได้รวบเอาความสามารถของทั้งฝ่ายเนื้อหา ภาพประกอบ และตัวละครที่เคยลับอย่างโปรแกรมเมอร์มารวมพลังไว้ในชิ้นงานนั้นๆ แล้ว

ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นงานที่มีความหนักแน่นของข้อมูล ความน่าสนใจของการนำเสนอ รวมไปถึงเบื้องหลังการทำงานที่น่าหยิบเล็กผสมน้อยมาเป็นต้นแบบในการทำงานข่าวในประเทศไทย ดัง 3 งาน Data Journalism ที่เรายกมาเป็นตัวอย่างนี้

The Guardian เป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่จริงจังกับการทำงาน Data Journalism มายาวนาน โดยผลงานของ The Guardian น่าจับตามากขึ้นตั้งแต่พวกเขาเปิดเซ็กชั่น Data Blog ในปี 2009 โดยหกเดือนหลังการเปิดตัวก็มีกระแสน่าจับตาจากการที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Security Agency) ลุกขึ้นมาเปิดเผยเอกสารของโครงการสอดส่องมวลชนลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร โดยสโนว์เดนได้เลือกปล่อยข้อมูลดังกล่าวให้กับสำนักข่าว The Guardian เป็นหลักอีกด้วย

ข้อมูลที่สโนว์เดนส่งต่อมาให้สำนักข่าวมีอาทิ การดักข้อมูลขนาดใหญ่ทางโทรศัพท์ของสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงโครงการสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ต นั่นทำให้สโนว์เดนกลายเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

แต่การจะเอาข้อมูลที่สโนว์เดนปล่อยออกมาก็อปวางตรงๆ ก็กระไรอยู่ เพราะข้อมูลทั้งหมดนั้นแสนจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป และอาจไม่สร้างผลกระทบใดต่อสังคมมากนัก The Guardian จึงสร้าง Micro Site ขึ้นมาเพื่ออุทิศการนำข้อมูลดังกล่าวมาขยายความและบอกเล่าในรูปแบบที่จับต้องได้ง่าย ผ่านทั้งวิดีโอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อินโฟกราฟิกแบบ interactive ที่จะทำให้ผู้อ่านคลิกอ่านและประติดประต่อได้ว่าข้อมูลลับสุดยอดนี้มันจะกระทบกับชีวิตของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

เทคนิคสำคัญที่ The Guardian ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวนี้ก็คือ การสร้างให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนว่าพวกเขากำลังแอบสอดแนมข้อมูลดังกล่าวอยู่ด้วยเหมือนกัน เมื่อสร้างอารมณ์ร่วมที่สนองความอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วไปได้ขนาดนี้ งานข่าว NSA Files Decoded จึงกลายเป็นอีกงานที่ทั้งนำเสนอเนื้อหาได้แบบปล่อยหมัดฮุค แถมยังดึงการมีส่วนร่วมจากผู้อ่านจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ทวงถามถึงความปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัวของคนวงกว้างจากทั่วโลกอีกด้วย

ดู NSA Files Decoded ได้ที่ https://www.theguardian.com/world/interactive/2013/nov/01/snowden-nsa-files-surveillance-revelations-decoded#section/1

แทนที่จะปล่อยให้ข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงาน (U.S. Bureau of Labor Statistics) ที่เป็นแหล่งรวมสถิติชั้นดีที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของคนทำงานในสหรัฐฯ นอนเป็นไฟล์อยู่เฉยๆ Bloomberg Business จึงตั้งทีมขึ้นมาทำงานกับข้อมูลดังกล่าวผ่านการวิเคราะห์สภาพการจ้างงานที่ขูดรีดทั้งชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนจนมีผลต่อความปลอดภัยของชีวิต ตลอดจนสถิติความตายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

แม้งานชิ้นนี้จะไม่เน้นการอธิบายข้อมูลให้มากความ แต่การตั้งคำถามนำในแต่ละส่วนของเนื้อหาที่ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดแล้วตบท้ายการนำเสนอด้วยแผนภาพที่นำเสนอสถิติแบบ interactive ก็กระตุ้นให้ผู้อ่านเหวอไปตามๆ กันได้

ยกตัวอย่างเช่นคำถามที่ให้เราลองหาคำตอบว่า อาชีพไหนที่เสี่ยงต่อการตายในหน้าที่มากที่สุด อาชีพไหนที่เสี่ยงตายมากๆ แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำจนน้ำตาไหล หรืออาชีพไหนที่คนทำงานเสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงมากที่สุด

ตรงนี้เองที่คำตอบของผู้อ่านกับความเป็นจริงทางสถิติอาจจะไม่ตรงกัน เช่น อาชีพที่ดูเสี่ยงน่าเสียชีวิตสุดๆ จากการปฏิบัติหน้าที่กลับไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจเจอเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ แต่เป็นคนขับรถแท็กซี่ต่างหากที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติงานมากที่สุด!

วิธีเรียกความสนใจจากคนอ่านจึงดึงให้ผู้อ่านเซอร์ไพรส์และเลื่อนหน้าเว็บศึกษาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนจบการนำเสนอ งานชิ้นนี้ของ Bloomberg Business จึงตอบโจทย์ทั้งในแง่การดึงข้อมูลสถิติที่คนส่ายหน้าหนีมาเล่น การวิเคราะห์ และการนำเสนอข้อมูลที่เอาคนอ่านอยู่จนบรรทัดสุดท้าย

ดู The Deadliest Jobs in America ได้ที่ https://www.bloomberg.com/graphics/2015-dangerous-jobs/

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา วิดีโอสะเทือนใจคลิปหนึ่งถูกปล่อยออกมาทางโซเชียลมีเดีย ในคลิปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือมีผู้หญิงสองคนและเด็กอีกสองคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มโบโกฮารามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลแคเมอรูน ถูกทหารแคเมอรูนหลายนายปิดตาและลากให้เดินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสังหาร และถูกยิงจนเสียชีวิตในที่สุด

รัฐบาลแคเมอรูนได้ออกมาประกาศว่าคลิปดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอม แต่ด้วยกระแสกดดันจากสังคม ภายหลังรัฐบาลจึงเปลี่ยนท่าทีและบอกว่า ทหารทั้ง 7 นายในคลิปกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน แต่รัฐบาลแคเมอรูนก็ไม่ขอรับประกันว่าจะมีใครถูกตัดสินว่ามีความผิดนะ

เมื่อไม่อาจทนกับความคลุมเครือได้ นักข่าว BBC จึงรวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มี ซึ่งจริงๆ ก็มีเพียงคลิปวิดีโอนั้นนั่นแหละ มาถอดเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในคลิป ตั้งแต่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูเขา พื้นดิน ภาพถ่ายทางดาวเทียม เพื่อหาพื้นที่เกิดเหตุหรือภูเขาที่เข้ากันได้กับเส้นสันเขาที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ฤดูกาลที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ สูตรทางคณิตศาสตร์มาใช้ดูวิธีการทอดตัวของเงาของทหารในคลิปจนทำให้รู้มุมที่พระอาทิตย์กระทำกับเส้นขอบฟ้า จนสามารถระบุเป็นเวลาคร่าวๆ ของการสังหารที่เกิดขึ้นได้ อาวุธปืนที่ใช้ จำนวนนัดที่ถูกยิง ผู้ครอบครองอาวุธชนิดดังกล่าวในปัจจุบัน

รายงานข่าวนี้ทำให้ทหารทั้ง 7 นายถูกควบคุมตัว ปลดอาวุธ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาสำทับว่าตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นคนลงมือสังหารผู้คนตามคลิปที่ปรากฏ ทหารทั้ง 7 นายก็จะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และจะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ซึ่งความเป็นธรรมนี้เองเป็นสิ่งที่ผู้หญิงและเด็กทุกคนในเหตุการณ์ไม่มีโอกาสจะได้รับเลย

ข่าวสืบสวนสอบสวนนี้ชนะรางวัล Royal Television Society Awards ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ในฐานะที่เป็นงาน Data Journalism ที่สร้างทั้งอิมแพคและปลุกพลังการตรวจสอบต่อผู้มีอำนาจได้อย่างกว้างขวาง

ดูคลิปวิดีโอแสดงวิธีการขุดค้นและตามหาความจริงได้ที่ https://www.bbc.com/news/av/world-africa-45599973/cameroon-atrocity-finding-the-soldiers-who-killed-this-woman

000

ใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ของห้องข่าวแห่งอนาคตและความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานข่าว ลองมาเจอกันก่อนได้ที่งานเสวนา เปิดบ้าน Data Journalism Workshop ในหัวข้อ ‘โลกของ DATA มีน้ำยาจริงไหม?’​ ในวันอังคารที่ 21 มกราคม 2020 ที่ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮ้าส์ จามจุรีสแควร์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://themomentum.co/kick-off-campaign-data-journalism/

Fact Box

The Momentum, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ป่าสาละ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) Punch Up และ DTAC ชวนสื่อมวลชน กราฟิกดีไซน์เนอร์ และโปรแกรมเมอร์ เข้าร่วมอบรม “Data Journalism Workshop” เวิร์กช็อปวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึก ที่จะทำให้คุณได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานจริง พร้อมคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ ที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนท์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซน์เนอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์

สนใจดูรายละเอียดที่ https://themomentum.co/djw2020/

Tags: , ,