คงจะมีสักครั้งที่เราเคยตลก หัวเราะ กับอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่น หรือในหมู่เพื่อนฝูงของเราคงมีสักคนที่มักจะโดนแกล้งหยอกอยู่เสมอ สำหรับใครหลายคนมันอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนคุ้นชิน เราอาจไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าทำไมเราถึงสนุกกับเรื่องเช่นนั้น เรากำลังมองข้ามความรุนแรงหรือเปล่า และนี่คงเป็นสิ่งที่ Damage Joy พยายามตั้งคำถามกับคนดู
การแสดง Damage Joy กำกับโดย นานา เดกิ้น เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ซึ่งปี 2019 มาในธีม Eyes Open พาเราไปเปิดตาสำรวจอัตลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านศิลปะการแสดง และความรุนแรงก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึง สอดคล้องกับ Damage Joy ที่มีคอนเซ็ปต์ตามชื่อเรื่อง นั่นคือความบันเทิงที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง การแสดงนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน เนื้อหาเชื่อมโยงเข้ากับบรรยากาศทางการเมืองช่วงพฤษภาคม ปี 2553 ที่คนในสังคมไม่ยี่หระต่อความรุนแรงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่ในปี 2562 นี้ Damage Joy มีท่าทีที่เป็นประเด็นสากลร่วมสมัย ไม่ได้ผูกมัดตัวเองเข้ากับบริบทเหตุการณ์ใดเป็นพิเศษ
ก่อนเริ่มการแสดงคนดูจะได้รับรู้กติกาว่า คนดูสามารถขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีหยุดได้โดยโบกธงสีแดงที่ได้รับมา แต่มีเงื่อนไขว่าการแสดงจะหยุดก็ต่อเมื่อผู้ชมเห็นพ้องต้องกันโบกธง 100% ฟังดูเป็นเงื่อนไขที่ง่ายแต่ก็อาจจะยาก ดูเกิดขึ้นได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่อาจแน่ใจได้เลยก่อนการแสดงจะเริ่ม แต่ก็พอจะคาดคะเนได้ว่าการแสดงคงมีเหตุการณ์ท้าทายความรู้สึกที่อ่อนไหวต่อความรุนแรงของคนดูแน่ๆ จะต้องเกิดอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าหยุดได้แล้ว พอเสียที ต้องมีเหตุการณ์ที่มากระทำให้คนรู้สึกคล้ายๆ กันจนพร้อมใจร่วมกันโบกธงแน่นอน เราถึงจำเป็นต้องรับรู้กติกานี้เป็นอย่างแรก
เมื่อการแสดงเริ่มขึ้น นักแสดงหญิง 3 ชาย 1 เล่นสนุกหยอกล้อกลั่นแกล้งกันไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการแสดงไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยท่าทีจริงจังขึงขังอะไรเลย แต่กลับมาในรูปแบบ art direction สีสันฉูดฉาด ข้าวของเครื่องใช้สีลูกกวาดที่ผิดสัดส่วน ฉากหลังประดับด้วยลูกโป่งจัดวางบิดเบี้ยวสะเปะสะปะ นักแสดงที่ทาหน้าขาวเขียนตาเขียนปากด้วยสีจัด ท่าทีคึกคักล้นเกินหัวเราะหยอกล้อกับทุกสิ่ง ชวนให้นึกถึงการแสดงละครสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สอดรับกับวิธีนำเสนอแบบ slapstick ที่ตั้งใจสร้างเสียงหัวเราะด้วยการเล่นมุกเจ็บตัว ทุบตี วิ่งไล่จับกันไปมา
ระหว่างที่คนดูขบขันกับกิจกรรมที่นักแสดงกำลังกระทำต่อกัน ความจริงจังของการกลั่นแกล้งนั้นก็รุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากที่เริ่มต้นแค่วิ่งไล่กันไปมา ลามไปถึงการให้กินของสกปรก การเป็นเป้าปาลูกบอลเพื่อตอบสนองความสะใจ เลยเถิดไปจนใช้สิ่งของหวดตีและเอาเชือกรัดตัวรัดคอกัน ทุกอย่างเข้มข้นขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว จนเราต้องถามตัวเองว่าแล้วทำไมเราถึงบันเทิงกับการแกล้งกันทำร้ายกันตั้งแต่แรก นับเป็นจุดที่น่าชื่นชมของการแสดงนี้ที่ค่อยๆ ไล่ระดับความจริงจังจนเปลี่ยนจากความบันเทิงเป็นความรุนแรง
สำหรับผู้เขียนเหตุการณ์บนเวทีคือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนักแสดงด้วยกัน แต่อำนาจที่เราได้รับตั้งแต่ก่อนเริ่มการแสดงคือการกำหนดความเป็นไปของสิ่งที่เกิดขึ้นในการแสดงว่าจะหยุดหรือไปต่อ คนดูอยู่ในสภาวะเผชิญหน้ากับความรู้สึกและมาตรวัดขีดจำกัดต่อความรุนแรงที่ตนรับได้ตลอดการแสดง ความตลกที่ฉาบหน้าอยู่บนความรุนแรงนี้เราจะสัมผัสหรือมองเห็นมันได้ตอนไหน หรือกระทั่งที่สุดเมื่อการแสดงจบแล้วเราก็จะยังไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับความรุนแรงที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ การตัดสินร่วมกันของผู้ชมกลายเป็นภาพสรุปขนาดย่อมของสังคม เช่นว่าสังคมรู้สึกตลกกับความรุนแรงหรือไม่ แล้วลิมิตที่สังคมนี้มีร่วมกันมันอยู่ตรงไหน แล้วทำไมความรุนแรงแบบนี้ถึงกลายเป็นเรื่องตลกในสังคม ทำไมพอตลกแล้วถึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ นี่อาจเป็นคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นในมุมของคนดู
อย่างไรก็ตาม การออกแบบกติกาอาจเป็นการสื่อสารโดยนัยของผู้กำกับที่ต้องการบอกว่าสังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถ้าทุกคนไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน 100% อาจเป็นเงื่อนไขที่ดูอุดมคติ แต่ในเมื่อสังคมเป็นคนที่สร้างกรอบระเบียบความรุนแรงขึ้นมา สังคมก็ควรจะเป็นผู้ทำลายมัน ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่สามารถเกิดได้จากคนเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้น บรรยากาศนี้กลายเป็นภาพจำลองของสภาวะความกดดันที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเรารู้สึกเพียงพอแล้วตั้งแต่ตอนต้นของการแสดง แต่คนที่เหลือยังไม่รู้สึกเหมือนกับเรา เราต้องไปต่อท่ามกลางสภาวะไม่พึงประสงค์ไปอีกนานแค่ไหน ในรอบที่ผู้เขียนได้ชม เสียงโหวตของคนดูไม่สามารถไปถึงจุดที่เป็น 100% ได้ เท่ากับว่าคนที่รู้สึกเพียงพอตั้งแต่ต้นต้องแบกรับภาระความรู้สึกทางอารมณ์ของตนเองไปจนกว่าจะจบการแสดง
ในขณะที่รูปแบบความสัมพันธ์ของคนดูกับการแสดงสามารถสื่อสารสาระได้อย่างชัดเจนและจำลองภาพกลไกในสังคมบางอย่างได้ แต่สิ่งที่ผู้กำกับอาจจะไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นแต่เป็นคำถามที่เราไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ การเลือกตัดสินใจของเราอิงอยู่กับกระแสสังคมมากน้อยขนาดไหน ถ้ามีคนที่ยังไม่อยากให้การแสดงหยุดแต่ทุกคนต้องการให้หยุดแล้วล่ะ? ถ้าการตัดสินใจของตัวเขามาจากความรู้สึกกลัวการแปลกแยกจากสังคมเท่านั้นล่ะ? ผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นก็คงไม่ได้มาจากการตระหนักรู้ในความรุนแรง แต่กลับจำลองภาพการถูกกรอบสังคมกดทับ กลับกลายเป็นว่าคนดูที่เป็นคนในสังคมจำลองนี้ไม่เห็นภาพหรือเข้าใจในสิ่งที่ตรงกัน การกดดันทางสังคมนี้อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่คนต่างกระทำต่อกันโดยอ้างความชอบธรรมในนามของความดีหรือเปล่า
การแสดงเรียกร้องให้คนดูทดสอบศีลธรรมและความรู้สึกทั้งหมดของตนเอง จึงนับว่าคนดูได้แปรสภาพจากผู้ชมกลายเป็น content ของผู้กำกับ นำมาสู่ความคิดต่อมาว่า นอกจากบททดสอบทางความรู้สึกครั้งนี้จะสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารสาระที่ผู้กำกับต้องการแล้ว มันยังเกิดความหมายอื่นจากปัจจัยที่ผู้กำกับไม่สามารถควบคุมได้ เป็นภาวะที่คนดูต้องรับผิดชอบกันและกัน สภาวะที่ควบคุมไม่ได้ในสังคมจำลองนี้เป็นภาวะที่อันตรายที่สุดในการแสดงนี้หรือเปล่า ในขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ในการแสดงได้รับการออกแบบอย่างรัดกุมและปลอดภัย แต่ผู้ชมกลับได้รับมอบหมายให้เป็น message ของตัวเรื่อง ผลกระทบจากสังคมจำลองครั้งนี้มันอาจจะอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงและความยินยอมของคนดู เช่นนั้นแล้ว มันได้ผันตัวเองกลายเป็นความรุนแรงที่ตัวการแสดงกระทำต่อผู้ชมในรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า
เมื่อการแสดงจบลง คำถามที่ว่าทำไมเราถึงสนุกกับความรุนแรงก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ แต่การแสดงทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามใหม่ขึ้นในใจว่า แล้วสังคมแบบไหนที่เราต้องถูกตั้งคำถามด้วยวิธีการจำลองสังคมที่รุนแรงขนาดนี้ เราสนุกไหมที่เห็นคนเล่นตลกกันด้วยความรุนแรง เราสนุกไหมกับการถูกกระทำในสังคมจำลองที่ถูกสร้างขึ้น หรือผู้สร้างงานสนุกไหมที่ผลักให้เราเข้าไปอยู่ในสังคมจำลองนั้น หรือจริงๆ แล้วเราเองก็กำลังบันเทิงกับความรุนแรงกันอยู่ ถ้ามันไม่รุนแรงมากพอให้เรารู้สึก joy ไปกับมัน เรายังจะสนใจประเด็นความรุนแรงอยู่หรือไม่
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการคัดเลือกจากผลงานของผู้เข้าร่วม ‘อบรมการเขียนวิจารณ์ศิลปะการแสดง: ฝึกมอง ตั้งคำถาม และเขียน’ ในช่วง 18-20 ตุลาคม 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดร่วมกันโดย ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (International Association of Theatre Critics – Thailand Centre) และ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM)
Tags: violence, Damage Joy, ความรุนแรง, BIPAM