ปัจจุบันเทคนิคศิลป์รูปแบบ ‘illustration’ หรือการวาด ‘ภาพประกอบ’ มีอิทธิพลต่อทุกๆ แง่มุมรอบตัว ตั้งแต่ระดับปัจเจก สังคม จนถึงระดับโลก และแฝงอยู่ทั่วไป กระทั่งในผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคเชิงพาณิชย์ ในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งยังสามารถพัฒนาไปถึงขั้นกลายเป็นของสะสมมีค่ารูปแบบดิจิทัลอย่าง NFT
ด้วยความสำคัญข้างต้น ทำให้ SAC Gallery รังสรรค์นิทรรศการศิลป์รูปแบบกลุ่มที่มีชื่อว่า wrap exhibition เพื่อสำรวจกายวิภาคพื้นฐานของมวลรูปทรง ที่ศาสตร์ศิลปะรูปแบบ illustration ได้ห่อหุ่มโลกใบนี้ไว้อย่างเป็นอิสระ และยังเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่นๆ กลมกลืนเข้ากับชีวิตผู้คนได้คล้ายกับวัฒนธรรมการใช้ภาษา จนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่สามารถเล่าเรื่องได้น่าสนใจหลากหลายมุมมอง อาทิ ทัศนคติมนุษย์ ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวสมัยใหม่ การเมือง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อีกทั้งยังเพื่อเป็นการย้ำต่อโลกว่ามีอาชีพนักวาดภาพประกอบเหล่านี้คอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ภายใต้สโลกแกน Now…That’s a wrap!
สำหรับกลุ่มศิลปินที่เข้าร่วมนิทรรศการ Wrap มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ชีวิต ประกอบด้วยได้แก่
1. 2CHOEY – นักวาดภาพประกอบเจ้าของคาเเรคเตอร์ตัวการ์ตูน Fingies
2. Brightside – ศิลปินจากเมืองเหนือ ผู้หยิบยกประเด็นการเมืองมาเล่าผ่านมุมมองงานวาดได้อย่างน่าสนใจ
3. Pomme Chan – กราฟิกดีไซเนอร์ ผู้หยิบยกสิ่งรอบตัวมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ
4. TUNA Dunn – ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ด้วยลายเส้นสบายตา แต่แฝงไปด้วยเรื่องราวลึกซึ้ง
5. Double O Seth – ศิลปินสไตล์คอลลาจ (Collage Art) แถวหน้าของประเทศไทย
6. ปัณพัท เตชเมธากุล (ยูน) – นักวาดภาพสไตล์แฮนด์คราฟต์ ผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์แฟชันไทยมามากมาย
Culture Club สัปดาห์นี้ ชวนผู้อ่านไปเปิดประสบการณ์โลกแห่งศิลปะสไตล์ illustration ผ่านผลงานของ 6 ศิลปินดังที่ SAC Gallery พร้อมกัน
เพียงเดินตรงเข้ามายังพื้นที่ชั้น 1 ของ SAC Gallery จะพบเข้ากับส่วนจัดแสดงนิทรรศการ Wrap โดยชิ้นงานแรกที่นำเสนอเป็นผลงานของ 2CHOEY ที่มีชื่อว่า Talking 2021, Talk 2021, Keep Talikg 2021 และ Still Taking (จากซ้ายไปขวา) ที่เป็นการเสียดสีถึงสังคม และพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิดผู้อื่น ด้วยการหยิบคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน Fingies ประจำตัวมาใช้งาน
ผลงานของศิลปิน Bright Side ประกอบด้วย 1. The People 2021 2. BattleField 2021 และ 3. Crazy 88 (จากซ้ายไปขวา) คอนเซ็ปต์เป็นการเล่าเรื่องราวเสียดสีสังคมไทยเวลานี้ ระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้านซ้าย ผู้ต้องการอิสรเสรีในการใช้ชีวิต ที่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนฝั่งขวาซึ่งเป็นพวกอนุรักษนิยมตัวสีฟ้า ผู้คอยใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา โดยทั้งสองฝ่ายต่างมาบรรจบกันยังภาพตรงกลางที่เปรียบเสมือนสมรภูมิทางความคิดของสองฝ่าย
ทั้งนี้ ผลงานชุดดังกล่าวเป็นการใช้เทคนิคแบบวาดมือ และลงสีด้วยสเปรย์พ่น
ผลงาน Defiance (ซ้าย) และ The Baron (ขวา) ฝีมือของ Double O Seth ใช้เทคนิคแบบคอลลาจ (Collage) โดยใช้กรรไกรตัดแปะภาพซ้อนกับภาพอื่นๆ ให้เป็นเลเยอร์ ซึ่งถือเป็นเทคนิคงาน illustration ที่ใช้กับงานภาพตามปกนิตยสารสมัยก่อน ในช่วงที่โปรแกรม Adobe ยังไม่เข้ามามีอิทธิพล เรียกได้ว่าเป็นผลงานศิลปะภาพประกอบที่หาดูได้ยากยิ่ง
นับเป็นครั้งแรกที่ ปัณพัท เตชเมธากุล นักวาดภาพสไตล์แฮนด์คราฟต์ ได้หันมาหยิบจับงานศิลปะรูปแบบดิจิทัล NFT ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า Atlas of the mind, 2021 โดยไม่ใช่แค่ภาพวาดดิจิทัลธรรมดา แต่ยังออกแบบให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ในรูปแบบวิดีโอ MP4 แต่แน่นอนว่ายังสัมผัสได้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นแฟชันดีไซเนอร์ล้ำสมัยผ่านงานชิ้นนี้
ผลงาน Someone else or nothing at all, 2021 ของศิลปินแนว illustration art รุ่นใหม่อย่าง TUNA Dunn ยังคงเอกลักษณ์การถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนของมนุษย์ได้อย่างละเมียดละไม ที่ไม่ใช่แค่บนผืนผ้าใบ หรือบนกระดาษ แต่ยังเล่นกับพื้นที่จัดแสดงได้อย่างชาญฉลาด เช่น ในภาพที่เล่นสีกับเงา ให้จมกลืนไปกับพื้นทางเดิน
พื้นที่จัดแสดงผลงานของ Pomme Chan ผ่านจินตนาการและความคิดรังสรรค์ด้วยวิธีการนำศิลปะ illustration มาผนวกเข้ากับสิ่งของและพื้นที่ต่างๆ รอบบ้าน คล้ายกับจะบอกว่าศิลปะแขนงนี้ คือสิ่งที่ห่อหุ่มเราไว้ตลอดเวลา ตั้งแต่เก้าอี้ โซฟา พรมเช็ดเท้า จนถึงบานหน้าต่าง
Fatherhood ผลงานอีกชิ้นของ Pomme Chan ที่จัดอยู่ในนิทรรศการ Wrap โดยเปรียบสิงโตในบานกระจก คือพ่อที่มีความน่าเกรงขามในฐานะผู้นำครอบครัวของบ้าน และคอยจ้องมองแขกนิรนามผู้ผลัดเปลี่ยนแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน
Fact Box
นิทรรศการ Wrap จัดแสดงยังบริเวณชั้น 1 ของ SAC Gallery ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 เมษายน เปิดทำการทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. พร้อมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม