“สีเขียวเป็นสีของโลก เป็นสีของชีวิต และเป็นสีของซากศพ ขณะที่เราเสาะหาสีแดง สีเขียวก็เข้ามา สีแดงเป็นสีแห่งราคะ แต่สีเขียวเป็นสิ่งที่ราคะทิ้งไว้ในใจ… ในมดลูก เมื่อความเร่าร้อนจางไปจะเหลือไว้แต่สีเขียว” คำพูดของหนึ่งในตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง The Green Knight ที่กล่าวถึงความหมายของ ‘สี’ และเปรียบเปรยว่าแต่ละสีนั้นมีนัยและเชื่อมโยงกับมนุษย์อย่างไร ความรัก ความโกรธ ความปรารถนา และความตาย ล้วนมีสีแทนความหมาย และมนุษย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสีเหล่านั้น
คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส กล่าวว่า “Colours are the mother tongue of the subconscious” หรือแปลว่าสีเป็นภาษาแม่ของจิตใต้สำนึก เพราะสีมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน หยั่งรากลึกจนเราแทบมองไม่เห็น ทว่ายังคงสัมผัสถึงมันได้ เช่น สีโทนร้อนให้ความรู้สึกอบอุ่นและร้อนแรง สีโทนเย็นให้ความรู้สึกสงบและโศกเศร้า บ่อยครั้งที่ ‘สี’ ถูกใช้เป็นตัวแทนหรือสัญญะทางอารมณ์ ยุคสมัย และผู้คน
The Momentum ชวนถอดรหัส ‘สี’ ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ‘Pink, Black & Blue’ เมื่อเฉดสีสะท้อนตัวตน เรื่องราว และยุคสมัย จัดแสดงที่ HOP Hub Of Photography ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566
‘Pink, Black & Blue’ เป็นนิทรรศการภาพถ่ายของ มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพ นักเขียน และศิลปินอิสระแนวคอนเซปชวลอาร์ต (Conceptual Art) ผู้สะท้อนค่านิยมความฟุ้งเฟ้อ ผ่านการตั้งคำถามต่อมายาคติที่ฉาบคลุมสังคมไทย เจ้าของผลงานภาพถ่ายชื่อดังอย่าง ‘Pink Man’ คาแรกเตอร์ชายไทยวัยกลางคนรูปร่างท้วม สวมสูทสีชมพูสะดุดตา
ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มานิตได้ใช้เวลาปัดฝุ่นและรวบรวมผลงานภาพถ่ายชุด Pink Man รวมถึงหนังสือภาพชุดที่เปรียบเสมือนไดอารี่บันทึกการเดินทาง ‘I Saw A Blue Wing’ และผลงานในวัยหนุ่ม ตัวแทนความเป็นขบถ ‘When I Was Twenty’ เพื่อนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการที่สะท้อนยุคสมัยและตัวตนของเขา
‘PINK’ สดใสเสียดสี
Pink Man ชายร่างท้วมในสูทสีชมพู ยืนจับรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ต คาร์แรกเตอร์ดึงดูดความสนใจ ที่มองแวบแรกก็รู้ได้ทันทีว่ามีนัยสำคัญอย่างแน่นอน มานิตเล่าว่า Pink Man เป็นภาพสะท้อนการบริโภคนิยมและความฟุ้งเฟ้อในสังคม ชายวัยกลางคนรูปร่างท้วมใส่สูท ภาพจำของชนชั้นไฮโซหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทย ยืนจับรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นสัญญะของการชอปปิ้ง ย้อมทับด้วยสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ (Shocking pink) มองรวมๆ แล้วดูไร้รสนิยม ซึ่งมานิตสร้างคาร์แรกเตอร์นี้ขึ้นมา เพื่อให้สังคมตั้งคำถามกับสภาวะที่เป็นอยู่ การบริโภคอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติหรือไม่
‘Black’ ขบถกฎเกณฑ์
‘Black’ ภาพถ่ายขาวดำถือเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของมานิต ขณะกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาทัศนศิลป์ มานิตในวัย 20 ปี ถูกทลายกรอบความคิดจากความเป็นขบถ ที่ต้องการท้าทายกติกาและกรอบที่สังคมกำหนดไว้ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อชีวิต ความตาย ร่างกาย และเรื่องเพศ จนออกมาเป็นผลงานในชุด Black ที่มีเนื้อหาแน่นหนัก หม่น ดาร์ก และน่าหลงใหล
‘Blue’ ปีกแห่งการเดินทาง
ในช่วงการเดินทางไปร่วมงานนิทรรศการศิลปะและการแสดงผลงาน Pink Man ในต่างประเทศ มานิตได้มีโอกาสถ่ายภาพผู้คน สถานที่ และช่วงเวลาที่เขาพบผ่าน จนสามารถทำหนังสือภาพชุด I Saw A Blue Wing เปรียบเสมือนบันทึกการเดินทางสั้นๆ ภาพของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ในหลากหลายมุมมองและสีสัน สะท้อนให้เห็นถึงอิสระภาพในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะแง่มุมใดของโลก มนุษย์ต่างโหยหาและเพ้อฝันที่จะเป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ
นอกจากนี้ยังมีภาพคอลลาจ (Collage) Pink Man กับจิตรกรรมฝาผนังไทย และ Pink Man ที่อยู่ในรูปแบบประติมากรรมสื่อผสม โดยมานิตเล่าว่าเขาอยากให้การเดินทางของคาร์แรกเตอร์ Pink Man อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และสามารถสะท้อนแง่มุมใหม่ๆ โดยมานิตคิดคอนเซปต์ที่ว่า ‘Pink Man ตายแล้วไปไหน’ เพื่อเล่าการเดินทางในต่างมิติของ Pink Man ผ่านชิ้นงานศิลปะแขนงอื่น
Pink Man ล่องเรือผ่านทะเลทรายไปยังอีกโลกหนึ่ง กระทั่งพบกับเศียรของพระพุทธรูป สะท้อนในเรื่องของศาสนา และโลกต่างมิติ
Pink Man ถูกแช่แข็งบนลังน้ำแข็งสองสี แสดงให้เห็นสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่แช่แข็งผู้คน จนแตกแยกออกเป็นถังน้ำแข็งทั้งสองสี
รถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตสีชมพูระโยงระยางไปด้วยสายและถุงน้ำเกลือจำนวนมาก เปรียบเสมือนความพยายามที่จะหล่อเลี้ยงบริโภคนิยมให้คงอยู่
อย่างไรก็ตาม การเดินทางของ Pink Man ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่การตั้งคำถามและปีกแห่งอิสรภาพสยายออกในผลงาน ‘Black & Blue’ เพราะศิลปะมีศักยภาพในการเยียวยา สะท้อนคิด และปลดแอกมนุษย์ ด้วยเส้น สี และเรื่องราวของมัน ซึ่งมานิตคาดหวังเพียงว่าผลงานของเขาจะจุดประกายความคิดเล็กๆ ให้ผู้คน
ไม่ว่าสีจะสะท้อนยุคสมัยหรือมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างไร มันยังคงสวยงาม “คุณลองจินตนาการว่าเห็นทุกอย่างเป็นขาวดำสิ มันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังเห็นว่าสีแต่ละสีมันแตกต่างกันอย่างไร และมันทำให้โลกสวยงามอย่างไร” มานิตพูดถึงมุมมองของตัวเองในฐานะศิลปินที่เลือกใช้สีเป็นสัญญะในการเล่าเรื่องและจิกกัดสังคม เพราะไม่ว่ามนุษย์มีวิธีการในการตีความและให้ค่า ‘สี’ อย่างไร ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสีขับเน้นให้โลกสวยงามเสมอ
Fact Box
นิทรรศการภาพถ่าย ‘Pink, Black & Blue’ จัดแสดงที่ HOP Hub Of Photography ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566