‘โลกนี้ไม่ได้เหงาอย่างที่เราเข้าใจ’
ว่ากันว่า ‘ความเหงา’ เป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่ยากเกินเข้าใจ บางคนรู้สึกเหงาเพราะต้องการอีกคนมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายในชีวิต แต่บางคนแค่รู้สึกเหงาเพียงเพราะบรรยากาศตรงหน้าชวนพาไป ทว่ามวลรวมทั้งหมดนั้นกลับถูกสื่อออกมาด้วยความหมายของคำเดียวกัน
เช่นเดียวกับคำเปรยสั้นๆ ด้านบน จากงานนิทรรศการภาพถ่ายที่มีชื่อว่า ‘E N O L A’ (เอ โน ล่า) ที่ชวนตั้งคำถามต่อความหมายของคำว่าความเหงาตรงหน้า ว่าแท้จริงแล้ว ใช่ความเหงาจริงๆ หรือไม่ ตัวเราเข้าใจต่อความหมายนั้นได้ลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด ผ่านภาพถ่ายในกรอบสี่เหลี่ยมจากสายตาของ ‘ตาล’ – สาโรช หงษ์ทอง นักตัดต่อวิดีโอ ผู้ชื่นชอบในการลั่นชัตเตอร์เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำจากทั่วมุมโลก
คอลัมน์ Culture Club ขอพาเดินชมงานนิทรรศการภาพถ่ายแห่งห้วงอารมณ์ความเหงา E N O L A ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ P.SPACE ถนนแพร่งนรา ย่านกรุงเก่าแห่งวัฒนธรรมเสาชิงช้า และชวนมาร่วมกันตีความ พร้อมอธิบายความหมายของความเหงา ว่าแท้จริงคืออะไร
เมื่อก้าวเข้ามาภายในพื้นที่ขนาดย่อมของ P.SPACE จะได้พบกับภาพถ่ายแนวสตรีทที่ถูกติดอยู่เต็มสองฟากผนัง ขณะเดียวกันเราได้พบกับ ‘ตาล’ – สาโรช หงษ์ทอง เจ้าของนิทรรศการภาพถ่าย E N O L A และได้พูดคุยกันถึงที่มาที่ไปของงาน
นักตัดต่อฟรีแลนซ์ ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพเล่าว่า ความจริงแล้วไม่ใช่นิทรรศการภาพถ่ายที่เพิ่งทำครั้งแรก เพราะก่อนหน้าไม่กี่ปี เขาเคยจัดงานภาพถ่ายแนว Portrait มาแล้ว แต่ด้วยความชอบในการถ่ายภาพที่เปลี่ยนไป จึงหันมาถ่ายภาพแนวแคนดิด (Candid) มากขึ้น ซึ่งภาพถ่ายส่วนใหญ่ล้วนมากจากช่วงเวลาที่ได้เก็บกระเป๋าเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และรัสเซีย
“เราตั้งคำถามกับตัวเองว่ารูปที่ถ่ายตรงหน้า เป็นโมเมนต์แห่งความเหงาจริงๆ หรือเกิดจากความรู้สึกเหงาของตัวเองกันแน่”
สาโรช อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวคอนเซ็ปต์งานภาพของตัวเองว่า เกิดจากความบังเอิญที่รู้สึกว่าภาพแต่ละภาพมีมิติสื่อถึงอารมณ์ความเหงาได้กลายๆ แต่เมื่อนำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง บางโมเมนต์อย่างเช่น ภาพ ‘A Girl’ ที่มีหญิงสาวสวมชุดกิโมโนนั่งอยู่คนเดียวที่ใต้สะพาน ริมแม่น้ำเมืองคานาซาวะ ประเทศญี่ปุ่น หรือ ภาพ ‘Take A Break’ ที่มีบุคคลนิรนามสวมชุดมาสคอต ‘บิ๊ก เบิร์ด’ จากซีรีส์ ‘เซซามีสตรีท’ (Sesame Street) นั่งอยู่ในสวนสาธารณะนิวยอร์กตามลำพัง ทั้งสองภาพอาจล้วนเป็นแค่ช่วงเวลาที่บุคคลในภาพต้องการอยากนั่งพักคนเดียวเฉยๆ นั่นจึงเป็นการย้อนถามกลับมายังตัวเองว่า หรือแท้จริงเป็นเพราะเรากันแน่ที่รู้สึกเหงา จึงสามารถถ่ายทอดภาพออกมาเป็นความรู้สึกนั้นได้
ทั้งนี้ ภาพถ่ายสตรีทแต่ละภาพ สาโรช ใช้เวลาเก็บสะสมมาตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ก่อนจะทยอยคัดเพื่อนำออกมาจัดแสดงในงานจำนวน 15 ภาพ
หากนำคำว่า E N O L A (เอ โน ล่า) มาสะท้อนผ่านกระจก จะได้ความหมายที่แท้จริง คือคำว่า A L O N E (อ โ ล น) ที่แปลว่า ความเหงา ตรงตามคอนเซ็ปต์ของงาน ซึ่งต้องการตั้งคำถามต่อมุมมองความเหงาระหว่างภาพตรงหน้ากับตัวเราเอง นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ผู้เข้าชมงานสามารถหยิบโปสต์การ์ดภาพ ‘Vacation Time’ ที่เป็นภาพโปสเตอร์หลักของงานกลับบ้านได้ฟรี โดยภาพดังกล่าวมีที่มาจากช่วงที่ สาโรช ได้เดินทางไปยังชายหาดนิวยอร์ก ซิตี้ สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ยังมีโปสต์การ์ดภาพถ่ายคัดแล้วอีก 50 ภาพ ที่ไม่ได้จัดแสดงไว้ในงานให้เลือกอุดหนุนอีกใบละ 20 บาท และหากอุดหนุนเป็นแบบ 1 เซ็ต (50 ใบ) จะแถมผ้าเช็ดหน้าห่อกลับไปด้วย ส่วนภาพถ่ายในงานยังสามารถติดต่อขอซื้อได้ โดยเงินจากการขายทั้งหมดจะถูกนำไปบริจาคตามมูลนิธิหรือโรงพยาบาลที่ผู้ซื้อต้องการ
Fact Box
- นิทรรศการภาพถ่าย E N O L A เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. (เสาร์-อาทิตย์ ถึง 20.00 น. ปิดทุกวันพุธ) ที่ P.SPACE ถนนแพร่งนรา ย่านเสาชิงช้า จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2565
- ผู้ที่แวะเวียนมานอกจากจะได้ชมงาน Art Gallary คุณภาพแล้ว ยังสามารถเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมความเป็นกรุงเก่า ควบคู่กับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านละแวกดังกล่าว
- หรือหากอยากหาอะไรรองท้องก่อนกลับบ้าน ลองแวะบาร์นมสดกับขนมปังปิ้งที่ขึ้นชื่อลือชาบริเวณใกล้เคียง ก่อนกลับไปพร้อมรอยยิ้มรับวันหยุดก็ไม่เลว