โลกร้อน น้ำท่วม อากาศเปลี่ยนแปลง โรคร้ายระบาด และอีกสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่มนุษย์กำลังประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม้ปัญหาจะถาโถมเข้ามากมายเพียงใด เรายังคงต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ฉะนั้น คำถามสำคัญจึงย้อนกลับมาว่า จะทำอย่างไรให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ท่ามกลางสภาวะที่ ‘โลกเสื่อมโทรม’ ลงทุกวัน

จากคำถามข้างต้น กลายเป็นแนวคิดสู่งานนิทรรศการ ‘ปรับตัวเปลี่ยนแปลง’ (CITY ADAPTATION Lab!) หนึ่งในสองงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยจากโปรเจ็กต์ ‘เมืองเปลี่ยนแปลง’ (Urban in Progress) ที่ชวนนักสร้างสรรค์จากหลายแวดวงสาขาอาชีพ อาทิ ศิลปิน นักวิชาการ นักออกแบบ นักอนุรักษ์ ยูทูปเบอร์ ฯลฯ กว่า 30 ชีวิต มาร่วมตั้งคำถามและนำเสนอแนวคิดถึง ‘การปรับตัวและรับมือ’ ของคนเมือง ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้ผู้ชมได้ลองคิดพิจารณาตาม

โปรเจ็กต์ เมืองเปลี่ยนแปลง ถือเป็นโครงการศิลปะร่วมสมัย ผ่านการระดมแนวคิดจากหลากองค์กรเพื่อสังคม อาทิ กรุงเทพมหานคร, มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย, วัน แบงค็อก, ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันออกแบบอนาคตแห่งประเทศไทย (FIT), กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน, มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ วี พาร์ค และมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากคู่มือสำรวจทักษะการปรับตัวรับมือวิกฤต และส่งเสริมคุณภาพชีวิตพลเมืองได้อย่างเท่าเทียม ผ่านการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว 

เมื่อเดินเข้ามายังสถานที่จัดนิทรรศการ จะได้พบกับผลงานชุด ‘ปรับตัว!’ ที่รังสรรค์โดย ธนวัต มณีนาวา ครีเอทีฟและเจ้าของแบรนด์ TAM:DA (ทัมดะ) ผู้นำขยะ รวมถึงสิ่งของรอบตัว มาแปรเปลี่ยนเป็นผลงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับผลงานชิ้นนี้เป็นการบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ กับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของโควิด-19 ที่ต้องปิดป้องกายให้มิดชิดและเว้นระยะห่างเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องการวิถีชีวิตและความสนุกสนานแบบเดิม

“ก้าวที่เราเดินไป มีผลต่อคนอื่นเสมอ พื้นดินที่รองรับเราให้เราก้าวไป มาจากคนอื่นเสมอเช่นกัน”

ข้างต้น คือ คำเปรยของผลงาน ‘ลมหายใจแห่งเมือง’ ของ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรพัมธ์ ที่หยิบเอามุมมองในฐานะนักวิศวกร มาสะท้อนให้เห็นถึงหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’ ซึ่งทุกสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน แต่เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีมากไปย่อมทำให้สมดุลเสียหาย จนสุดท้ายสูญเสียความเข้าใจต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดั่งเช่นที่มนุษย์ให้เหตุผลโทษว่าสิ่งก่อสร้างทำให้ธรรมชาติเสียหาย ทั้งที่มนุษย์ก็ยังหวังเพิ่งความสะดวกสบายจากสิ่งก่อสร้างนั้นอยู่เหมือนเดิม

มุมมองรายละเอียดของผลงานชุด ลมหายใจแห่งเมือง

ผลงานชุด ‘อพยพ..ใจ’ คือ วิดีโอสั้นๆ ความยาวเวลา 4-5 นาที ของ ภูศนัศนัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และครอบครัว Little Monster เพจและชันแนลยูทูปชื่อดัง ที่ชวนเราตั้งคำถามถึงการอพยพหนีภัยพิบัติ ไม่ว่าน้ำท่วม ไฟไหม้ มลพิษทางอากาศ และอีกมากมาย ขณะเดียวกันการอพยพไม่ใช่แค่เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการหลีกหนีความทุกข์ไปยังสถานที่ที่ทำให้จิตใจสงบสุข ไม่ว่าตัวคนเดียวหรือครอบครัวก็ตาม

อัมพร หมายถึง ฟ้า ท้องฟ้า อากาศ

อุปราคา หมายถึง การทำใหดำ การทำให้มีมลทิน

2.5 หมายถึง ขนาดของฝุ่น PM 2.5

ทั้ง 3 ความหมาย คือ ส่วนประกอบสำคัญ ของแนวคิดผลงาน ‘อัมพรุปราคา’ โดย กัลยา โกวิทสิสิทธิ์ และผศ.สมรรถพล ตาณพันธุ์ กับการแต่งกายของมนุษย์วันข้างหน้า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของโลก 

น่าสนใจว่าหากสถานการณ์ฝุ่นควันมลพิษยังไร้วี่แววดีขึ้น อนาคตเราอาจได้แต่งกายสวมหน้ากากกันแก๊สพิษ ยามออกของข้างนอกก็ต้องสวมชุดคลุมปกปิดทั่วร่าง ชวนคล้ายให้นึกถึงบรรดามนุษย์ทรายในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส

ภาพบางส่วนจากผลงาน ‘อารมณ์-โรค’ ของ วิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพสายมินิมอล ผู้ทำอาชีพขับวินมอเตอร์ไซต์ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเมืองกรุง ในยามต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จนสีสันชีวิตผู้คนจางหายไป จากที่ผู้คนเดินถนน แออัดเบียดเสียด กลับกลายเป็นว่างเปล่า นัยยะสำคัญของผลงานจึงเป็นการบอกเล่าความรู้สึกของช่วงเวลานั้น จนกว่าวิถีชีวิตจะกลับมาปกติสุขอีกครั้ง

โหลดองที่เห็นในภาพไม่ใช่ค็อกเทลหรือเครื่องดื่มชนิดใด แต่เป็นผลงานที่มีชื่อว่า ‘ถนอม เยียวยา รักษา’ โดย ดิลกลาภ จันทโชติบุตร และเสกสรร รวยภิรมย์, นาคาเฟ่ ณ บางกอก 1899 ที่สะท้อนให้เหตุถึงปัญหาขยะเศษอาหาร อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และมนุษย์มักจะมองข้ามเป็นปัญหาท้ายๆ  

ปติมากรรมแวววับ คล้ายพีระมิดสองชิ้นประกบกัน คือ ผลงานที่มีชื่อว่า ‘ไบโอจิเนซิส’ (ฺBiogenesis) โดย  สุริยะ อัมพัรศิริรัตน์ สถาปนิก ศิลปินและนักจัดสวนชื่อดัง ที่เปรียบปติมากรรมชิ้นนี้เป็น ‘ระบบนิเวศน์’ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ ที่ล้วนอยู่รวมกันอย่างสมดุล ท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของกาลเวลา โดยมีอีกนัยยะสำคัญหนึ่ง คือ แนวคิดหลักสถาปัตยกรรมสร้างบ้าน ที่เพียงหาจุดลงตัวได้ ก็สามารถสร้างประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรมนั้นได้อย่างสมบูรณ์

ผลงาน ‘โรคระบาด’ โดย คณิณญาณ จันทรสมา อดีตมือกลองวง PRU และผู้กำกับโฆษณาแห่งบริษัท ฟีโนมีนา ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงโรคระบาดผ่านลูกเหล็กทรงกลม คล้ายปรอท ที่ลอยกระจัดกระจายเคว้งคว้าง ขณะเดียวกันก็มีผลึกอยู่ตรงกลางคล้ายอัญมณี อันเปรียบเสมือนความอยากรู้ อยากเห็น ของมนุษย์ ที่ยอมเบียดเบียนธรรมชาติ จนมีผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติโรคระบาดตามมา

คณิณญาณ เชื่อว่ามนุษย์จะไม่มีทางหลุดพ้นต่อโรคระบาดได้ หากไม่หยุดทำร้ายธรรมชาติ และยังไม่ตื่นรู้ต่อสิ่งที่ตนเองกำลังลงมือกระทำอยู่

นิทรรศการ  ปรับตัวเปลี่ยนแปลง (City Adaptation Lab!)  สามารถเข้าชมได้ฟรี ทีหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 ขณะเดียวกันยังสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการ ‘กรุงเทพเปลี่ยนแปลง’ (Paradise Lost) ที่เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ของ ‘เมืองเปลี่ยนแปลง’ (Urban in Progress) ได้เช่นกัน เป็นประจำทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 19.00 น.

 

 

 

 

Tags: , , , ,