ในระยะ 3 ปีหลังมานี้ มีการจัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาทุกปี โดยส่วนใหญ่ใช้พื้นที่บริเวณโถงหน้าหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นส่วนจัดแสดงชั่วคราว ด้วยเพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีบทจบ ยังมีปริศนา-เบื้องหลังมากมาย และหลายเรื่องก็เกี่ยวพันกับบรรดาคนรุ่นใหม่อย่างน่าแปลกใจ ที่ฮือฮาที่สุดคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่องาน ‘แขวน’ สามารถดึงเอา ‘ประตูแดง’ ที่เป็นต้นเรื่อง เป็นปฐมบทของเหตุการณ์ทั้งหมดมาไว้ในครอบครองได้ 

อันที่จริง มีความพยายามจัด ‘พิพิธภัณฑ์ถาวร’ ของ 6 ตุลาฯ มาสักระยะ อย่างน้อยก็เพื่อดึงเอาหลักฐานชิ้นละอันพันละน้อย ไม่ว่าจะประตู กางเกงยีนส์ที่พบในศพ โทรโข่งที่มีรอยกระสุน เพื่ออยู่ในที่ตั้งอันเป็นการรำลึกความป่าเถื่อนของรัฐไทย และการกระทำที่ไม่เคยมีใครต้องรับผิด แต่การตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแน่นอนว่า ‘รัฐ’ ไม่มีทางสนับสนุน ซ้ำยังเห็นว่าเป็นตัวเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบอำนาจนิยม ระบบที่มีทหารเป็นตัวนำ และอาจยาวไปถึงบรรดาตัวละครฝ่ายอำนาจนิยมจารีต ซึ่งบางตัวละครยังมีชีวิต ยังมีอำนาจอยู่จนถึงทุกวันนี้

แม้พิพิธภัณฑ์ถาวรจะยังไม่เกิดขึ้น… แต่ในปีนี้มีความพยายามครั้งใหม่ในการเล่าเรื่อง 6 ตุลาฯ ด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่สายตาของ ‘เหยื่อ’ หรือความน่าสงสาร ความน่าเวทนาเหมือนก่อน แต่ด้วยสายตาของความช่างสงสัย สายตาของการสังเกตองค์ประกอบทั้งหมด ผสมผสานด้วย ‘หลักฐาน’ ใหม่ อย่างฟิล์มภาพขาวดำ พร้อมภาพอันคมชัดกว่า 1,000 ภาพ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ว่าเช้าอันหฤโหดเมื่อ 46 ปีที่แล้วนั้น แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น มีเรื่องราวอะไรที่ยังน่าค้นหา มีตัวละครใดบ้างที่อยู่ภายใต้ความลึกลับ แล้วถึงที่สุดจะคลี่คลายประวัติศาสตร์นี้อย่างไร

และภาพที่เหลือต่อจากนี้ คือสิ่งที่นิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ’ พยายามเล่าเรื่อง…

*หมายเหตุ – นิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ จัดขึ้นโดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ Common School และ มูลนิธิคณะก้าวหน้า ที่ Kinjai Contemporary โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

(1)

ปริศนาการสร้างสถานการณ์

เป็นที่รู้กันว่า ‘ตำรวจพลร่ม’ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจนครบาลจำนวนหนึ่ง ในการ ‘จัดการ’ กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ช่วงกลางดึกจนถึงรุ่งเช้าวันนั้น ซึ่งเป็นความแปลกประหลาด เพราะแต่ละหน่วยถูกสั่งอย่างกระจัดกระจาย และอีกส่วนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงในการใช้ ‘ทหาร’ เพื่อปฏิบัติการ เพราะหากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์จริง ก็ควรต้องมีกองกำลังจากกองทัพบกพร้อมอาวุธครบมือ แต่ครั้งนี้ไม่ กลายเป็นกองกำลังตำรวจแทน

‘6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ’ เล่ามุมของตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน ว่าเส้นเรื่องที่พวกเขาได้รับทราบนั้นเป็นอย่างไร พยายามไปไกลให้ถึงว่าใครเป็นคนสั่งและคนที่อยู่เบื้องหลัง สะท้อนให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มใช้ปฏิบัติการเช้ามืดวันนั้นเป็นเส้นทางในการเข้าสู่อำนาจ สะท้อนว่ารัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กำลังแตกแยก-ขัดแย้งออกเป็นหลายขั้ว และมีความพยายามใช้เหตุการณ์นี้ให้เห็นว่ารัฐบาล ‘เอาไม่อยู่’

ทว่าปริศนาก็คือ ระเบิดเอ็ม 79 ที่ลงไปยังสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เวลา 05.30 น. นั้น เริ่มตั้งแต่ก่อนที่ตำรวจพลร่มจะเดินทางไปถึง ฉะนั้นย่อมหมายความว่ามีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับคำสั่งให้ก่อเหตุเช่นกัน และให้ ‘เริ่ม’ ก่อนได้

สารคดีที่ฉายในนิทรรศการ มีการไปสัมภาษณ์ตำรวจตระเวนชายแดนคนหนึ่ง ระบุว่าสาเหตุมาจากความแตกแยกของคนไทย การใช้อาวุธเป็นเรื่อง ‘เกินเหตุ’ และสุดท้าย การใช้กำลังในวันนั้น มาจากคำสั่งที่ไม่เป็นระบบ-ระเบียบ จนทำให้เกิดเหตุดังกล่าว

เป็นคำอธิบายแบบคร่าวๆ ที่ดูจะคร่าวเกินไป ตอบคำถามอะไรไม่ได้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าความ ‘มั่ว’ ในเช้าวันนั้นมีอยู่จริง

(2) 

ชายลึกลับสวมหมวกเบเรต์

อย่างที่บอกว่าครั้งนี้มีข้อค้นพบใหม่ผ่านฟิล์มรูปที่ถูกนำมาอัด ปรากฏให้เห็นชายลึกลับสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ขาบาน และหมวกเบเรต์ ปะปนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยชายลึกลับคนดังกล่าวถือวิทยุสื่อสาร และถือ ‘กล่อง’ บางอย่างเดินตามเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน และพลตำรวจที่ถือปืนไร้แรงสะท้อนต่อสู้ถอยหลัง (ปรส.) ใช้สำหรับต่อสู้กับรถถัง ซึ่งแม้จะไม่ได้สวมเครื่องแบบ ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การที่เดินตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซ้ำยังปรากฏอยู่ในภาพถ่ายหลายภาพ ย่อมสะท้อนว่าบุคคลนี้ไม่ธรรมดา

ในงานเสวนาตอนเปิดเทศกาลนี้ บรรดาช่างภาพที่อยู่ร่วมสมัยบอกว่าชายคนดังกล่าวเป็น ‘คนดัง’ สมัยนั้น เป็นนักเลงแถวบางลำพู เป็นสารวัตรทหารเรือ เป็น ‘มือขวา’ ของ พลเอก สายหยุด เกิดผล นายทหารผู้มีอิทธิพลต่อฝ่ายขวาในเวลานั้น โดยมีชื่อนิกเนมว่า ‘จ่าวาน’ แต่ไม่มีใครทราบและจำชื่อจริงๆ ได้ ยังคงเป็นปริศนาจนถึงตอนนี้

สำหรับปืนไร้แรงสะท้อนต่อสู้ถอยหลังนั้น มีข้อมูลว่า ณ ปี 2519 มีในประเทศไทยเพียง 4 กระบอก โดย 2 กระบอก ถูกนำมาใช้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีการป้อนข้อมูลบางอย่าง เพื่อให้เกิดการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหด

(3) 

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่

แน่นอนว่าตำรวจที่อยู่ตรงกลางภาพที่สวมชุดซาฟารีนั้นคือ พลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจนครบาล บิดาของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน แต่ตำรวจที่อยู่รายล้อมก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น พลตำรวจโท ณรงค์ มหานนท์ (ชุดซาฟารี มือไขว้หลัง) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และพลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ (เสื้อขาว) ที่มีข้อมูลในภายหลังว่าเขาคือผู้ที่ไฟเขียวให้สังหารนักศึกษาได้ในวันนั้น ปรากฏตัวอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ติดกับรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ บันทึกของ สุรินทร์ มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นบันทึกฉบับเดียวจากฝั่งรัฐบาลก่อนที่จะโดนรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บันทึกไว้ว่าเช้าวันนั้น ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรี พลตำรวจโทชุมพลเป็นผู้เข้ามารายงานคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร้องไห้โฮๆ ว่า “ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธสงครามร้ายแรงยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายเยอะ ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปปราบปราม” แต่หลังจากนั้น เมื่อมีนายตำรวจรายอื่นเข้ามารายงานสถานการณ์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ยืนยันตรงกันว่าเป็นฝ่ายตำรวจที่ยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ฝ่ายนักศึกษายิงตำรวจ

.บันทึกของสุรินทร์ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ นำโดย ธรรมนูญ เทียนเงิน และสมัคร สุนทรเวช ที่อีกด้านหนึ่งได้เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาลกดดันให้รัฐมนตรีบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ ลาออก เรื่อยไปจนถึงกดดัน สร้างเงื่อนไขให้มีการรัฐประหาร แต่จนแล้วจนรอด กว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นก็ต้องรอจนถึงช่วงค่ำ ที่ฝ่าย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งน่าสนใจว่าระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้น มีความพยายามรัฐประหารเกิดขึ้นกี่รอบ และจากคนกี่กลุ่ม 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ได้ทาง https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2803182463306773/

(4)

ลูกเสือชาวบ้าน

ข้อสำคัญก็คือ แล้ว ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างไรบ้าง… ในนิทรรศการพยายามจะขยายบทบาทของลูกเสือชาวบ้านทั้งในเชิงสังคม-วัฒนธรรม ผ่านบทสัมภาษณ์อดีตลูกเสือ ทั้งยังนำเครื่องแบบลูกเสือ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ วอล์กเกอร์ มาจัดแสดงให้เห็นความสำคัญของลูกเสือชาวบ้าน ในฐานะมวลชนผู้พิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 

ที่แน่ๆ ก็คือในพื้นที่ลานสังหารนั้น มีลูกเสือชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการนำมวลชนลูกเสือชาวบ้านมารวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2519 แล้ว ก่อนที่จะบุกไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมทบกับมวลชนกลุ่มอื่นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม ภายใต้การนำของ พลตำรวจตรี เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และธรรมนูญ เทียนเงิน โดยเป็นส่วนหนึ่งของพล็อตเพื่อการสังหารและการรัฐประหาร

แต่จากการรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏในนิทรรศการ ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่ามีการสังหารหรือการยึดอำนาจ ขณะเดียวกันยังมีลูกเสือชาวบ้านบางคนเข้าไปห้ามไม่ให้มวลชนฝ่ายขวารุมกระทืบนักศึกษาด้วยซ้ำ

(5) 

พระบารมียุติความขัดแย้ง

ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงปรากฏพระวรกายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมกับมีพระราชดำรัสกับลูกเสือชาวบ้านว่า “ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย”

ในวิกฤต 6 ตุลาฯ นั้น หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่ามีการ ‘สร้างสถานการณ์’ อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การให้ จอมพล ถนอม กิตติขจร บวชเป็นพระเข้ามาในประเทศไทย ให้มีขบวนการชุมนุมต่อต้าน แล้วใช้โอกาสนี้กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคอมมิวนิสต์ ต้านศาสนา มีแผนในการเผาวัดบวรนิเวศวิหาร และฟางเส้นสุดท้ายคือการทำ ‘ละครล้อเลียน’ องค์รัชทายาท ซึ่งเป็นต้นเหตุของการล้อมปราบในเวลาต่อมา

ก่อนเหตุการณ์ไม่นาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จกลับจากประเทศออสเตรเลียอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 และหลังจากเหตุการณ์สงบลง พระองค์ได้ทรงขอให้ลูกเสือชาวบ้านกลับบ้าน เป็นการยุติการชุมนุมของ ‘ฝ่ายขวา’ ในเวลาเดียวกับที่มีการรัฐประหาร พร้อมด้วยพระราชดำรัสดังกล่าว

เป็นที่รู้กันว่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้มีโทษรุนแรงขึ้นเป็น 3-15 ปี โดยเป็นการใช้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขกฎหมาย

และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

(6)

เผชิญหน้าปีศาจ

ตลอดการจัดงานราว 1 เดือนเศษ นอกเหนือจากนิทรรศการหลักว่าด้วย 6 ตุลาฯ แล้ว ยังมีนิทรรศการเสริมบนดาดฟ้า ว่าด้วยการขยายพระราชอำนาจ และบทบาทของ ‘ทหารคอแดง’ ในรัชกาลปัจจุบัน พร้อมทั้งยังมีอาสาสมัครเดินนำชมนิทรรศการทุกเย็นในเวลา 17.00 น. 

ก่อนนิทรรศการจะจบลงในวันที่ 20 พฤศจิกายน ยังคงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงโค้งสุดท้าย โดยในวันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จะเป็นผู้เดินนำชมนิทรรศการ และหลังจากนั้น ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะยังคงมีวงเสวนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ: Kinjai Contemporary

Fact Box

  • สามารถติดตามรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ: Kinjai Contemporary
  • สำหรับการเดินทางไปยัง Kinjai Contemporary วิธีที่ง่ายที่สุดคือนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินลงสถานีสิรินธร หรือหากใช้รถส่วนตัว สามารถจอดรถได้ที่สถานที่จอดรถเอกชน ข้างธนาคารกสิกรไทย ชั่วโมงละ 25 บาท

Tags: , , ,