1.

เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในช่วงปี 1918-1919 เกิดวิกฤตโรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตราว 50 ล้านคน สาเหตุที่เชื้อแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างนั้นก็เพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการส่งทหารและบุคลากรในด้านต่างๆ ร่วมรบ จนเกิดการกระจายตัวของเชื้อ ยิ่งพอสงครามเลิก ทหารต่างกลับบ้านเกิด เชื้อเหล่านี้ก็เริ่มแพร่ระบาดลุกลามเป็นวงกว้าง

ในยุคสมัยที่หน้ากากผ้ายังไม่เป็นที่นิยม ในยุคสมัยที่การห้ามรวมตัวกันยังจำกัดไม่ให้เกิน 20 คนและยังไม่ต้องเว้นระยะห่าง ในยุคสมัยที่ห้างร้านธุรกิจต่างมองเห็นโอกาสในการเฉลิมฉลองสุดสิ้นสุดของสงคราม เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย สิ่งเหล่านี้ทำให้โรคระบาดแพร่ขยายจนกลายเป็นฝันร้ายของคนทั้งโลก

ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเพลงแจ๊ซ ประชาชนในเมืองแห่งนี้ต้องอยู่ในความสะพรึงกลัวยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะต้องกังวลกับโรคไข้หวัดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วแล้ว พวกเขายังต้องกลัวอกสั่นขวัญแขวนกับฆาตกรต่อเนื่องที่ใช้ขวานเป็นอาวุธ ที่ผู้คนเรียกขานว่า The Axeman of New Orleans หรือไอ้สันขวานแห่งนิวออร์ลีนส์นั่นเอง

2.

ในเดือนสิงหาคม 1918 ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้จะสิ้นสุด ขณะที่โรคไข้หวัดกำลังแพร่ระบาด คนร้ายคนหนึ่งได้บุกเข้าไปในร้านสะดวกซื้อของผู้อพยพชาวอิตาเลียนผู้พักอาศัยอยู่กับภรรยา คนร้ายหยิบขวานซึ่งเป็นของครอบครัวเหยื่อ แล้วพุ่งตรงเข้าไปทุบกะโหลกศีรษะ โจเซฟ แม็คจีโอ หัวหน้าครอบครัวจนกะโหลกร้าว ก่อนจะเชือดคอด้วยมีดโกน ขณะที่ภรรยาแคทเธอรีนนั้นถูกเชือดคอเกือบขาดด้วยมีดโกนเช่นกัน จนเลือดไหลหมดตัวเสียชีวิต

น้องชายของโจเซฟเดินทางมาพบเหตุดังกล่าวก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่ โจเซฟและแคทเธอรีนเป็น 2 ศพแรกที่ถูกระบุในประวัติศาสตร์ว่าถูกฆ่าด้วยฝีมือของไอ้สันขวานแห่งนิวส์ออร์ลีน ตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างไม่ละเอียด ตามยุคสมัยที่ระบบนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้า ดีเอ็นเอยังไม่มีการค้นพบ

เจ้าหน้าที่พบว่ามีดโกนที่ก่อเหตุนั้นถูกโยนไปในสวนของเพื่อนบ้าน และเป็นของน้องชายโจเซฟซึ่งเป็นช่างตัดผม เลยสันนิษฐานว่าเหตุการณ์นี้เป็นการฆาตกรรมระหว่างพี่น้อง จึงได้สอบปากคำน้องชายคนตาย รวมถึงกวาดจับผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจตั้งข้อหาได้ เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แม้จะพบว่าฆาตกรที่ก่อเหตุได้เข้าไปใช้เสื้อผ้าคนตายเช็ดเลือด แต่สมัยนั้นการหาลายนิ้วมือแฝง หรือเก็บหลักฐานอื่นๆ ยังไม่มีเช่นในปัจจุบัน

หลักฐานเดียวที่ตำรวจพบคือชอล์กที่เขียนตรงทางเท้าใกล้กับจุดเกิดเหตุที่บอกว่า “นางแม็คจีโอจะมีสภาพเหมือนนางโทเนีย” ตำรวจไปค้นข้อมูลพบว่านางโทเนียคนนี้เคยเป็นเจ้าของร้านชำในเมืองและถูกฆ่าด้วยขวานเมื่อหลายปีก่อนโดยเธอเป็นคนเชื้อสายอิตาเลียนด้วย

ขณะที่คดีหนึ่งจบไปไม่ทันไร ในเดือนต่อมาก็เกิดเหตุฆาตกรรมในลักษณะคล้ายกันอีก โดยผู้ตายเป็นเจ้าของร้านขายของชำอิตาเลียนพร้อมกับเมียน้อย อีกไม่กี่เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่เหยื่อหญิงสาวกลับรอดมาได้ แต่ก็ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล

ถึงจุดนี้หนังสือพิมพ์ในเมืองได้ตั้งฉายาให้กับคนร้ายในคดีนี้แล้วว่า ไอ้สันขวาน การสังหารของเขาสร้างความตกตะลึงให้กับคนในเมืองมาก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับเหตุหรือจับคนร้ายได้ การฆ่าด้วยขวานยังคงเกิดขึ้นกับผู้อพยพชาวอิตาเลียนอย่างต่อเนื่อง

สถิติบันทึกอย่างเป็นทางการคือ ไอ้สันขวานฆ่าคนไป 6 ศพ บาดเจ็บอีก 6 ราย แน่นอนว่าตัวเลขสถิติของฆาตกรต่อเนื่องที่แท้จริงคงจะสูงกว่านี้ จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าไอ้สันขวานเริ่มก่อเหตุจริงๆ ในปี 1910 ในตอนนั้นหนังสือพิมพ์เรียกฆาตกรรายนี้ว่าไอ้ปังตอตามอาวุธที่ใช้ ก่อนที่เขาจะหายไป 6 ปีแล้วกลับมาใหม่ในฐานะไอ้สันขวาน

อาวุธเปลี่ยน หากเป้าหมายยังคงเป็นชาวอิตาเลียนในอเมริกาเช่นเดิม

3.

การพุ่งเป้าสังหารของฆาตกรไปที่ชาวอิตาเลียน ทั้งที่อพยพมาจากประเทศอิตาลี และคนอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนสร้างความสะพรึงกับคนในเมืองมาก เพราะนิวออร์ลีนส์มีผู้อพยพอิตาลีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากเมืองซิซิลี

ทีแรกตำรวจเชื่อว่าการฆาตกรรมเหล่านี้เป็นการสังหารระหว่างแก๊งของมาเฟียอิตาเลียนในเมือง แต่เมื่อตรวจสอบไปจึงพบว่ามาเฟียอิตาเลียนเวลาคิดจะฆ่าใครนั้น เขาไม่ลำบากต้องเอาขวานไล่สับ เอามีดโกนไล่เชือดแน่ ใช้ปืนหรือระเบิดจะเหมาะกว่า ที่สำคัญคือมือสังหารของมาเฟียเหล่านี้ไม่เคยฆ่าผู้หญิงและเด็ก

ถึงจุดนี้นักประวัติศาสตร์ฆาตกรต่อเนื่องในยุคต่อมา เชื่อว่าไอ้สันขวานมีปมกับชาวอิตาเลียน อาจเคยย่องเบาเข้าไปในร้านขายของชำของผู้อพยพเหล่านี้แล้วโดนแจ้งจับกุม จึงเก็บกดความคับแค้นใจไว้มาก และอีกจุดหนึ่งคือการที่เมืองเต็มไปด้วยผู้อพยพอิตาเลียนก็ได้สร้างความลำบากให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะพวกคนผิวขาวเจ้าถิ่น เพราะชาวอิตาเลียนได้เข้ามาทำงานในโรงปั่นฝ้าย เป็นแรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้แตกต่างจากคนผิวสี ที่ในตอนนั้นถูกเลือกปฏิบัติไม่ให้ข้องเกี่ยวกับคนขาวได้ แต่ผู้อพยพชาวอิตาเลียนเหล่านี้ไม่ใช่คนผิวสี แต่ครั้นจะยอมรับว่าเป็นพวกผิวขาวเหมือนคนพื้นที่ก็ยากจะทำใจ

สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในสังคมของพวกคนผิวขาว ที่สำคัญคือแรงงานอิตาเลียนเหล่านี้พร้อมที่จะทำงานกับคนผิวสี คนเอเชีย หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผิวขาว ซึ่งในรัฐลุยเซียนานั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะมีการเหยียดผิวภายใต้โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่  สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความคับแค้นใจแก่คนพื้นผิวขาวในพื้นที่อย่างมาก จนนำไปสู่การเหยียดผิวพวกอิตาเลียนนี้ไปด้วย แต่พวกผู้อพยพเหล่านี้ก็อาศัยโครงสร้างสังคมที่มีช่องโหว่คือพวกเขาไม่ใช่คนดำ คนเอเชีย และมีผิวขาว จนสามารถสะสมทุน ตั้งตัวเปิดร้านขายของชำที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง

ประมาณการว่าในช่วงก่อนปี 1920 ร้านขายของชำในเมืองนิวออร์ลีนส์จำนวนครึ่งหนึ่งมีคนอิตาเลียนเป็นเจ้าของ จึงยิ่งสร้างความไม่พอใจกับคนผิวขาวดั้งเดิม สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ว่า มันน่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนท้องถิ่นอย่างมาก และไอ้สันขวานของเราก็รับเอาความเกลียดชังนี้มากพอจนลงมือก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง พยานที่รอดชีวิตหลายคนยืนยันว่าไอ้สันขวานเป็นคนขาว แต่เป็นพวกคนขาวที่ใช้แรงงาน ไม่ใช่คนมีฐานะร่ำรวยแน่นอน

4.

ในวันที่ 13 มีนาคม 1919 ในช่วงที่ไข้หวัดกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมโดยไอ้สันขวาน ท่ามกลางความหวาดกลัวก็มีจดหมายฉบับหนึ่งลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยหัวจดหมายจั่วว่าเป็นการเขียนของไอ้สันขวานเอง

“พวกแกจะไม่มีวันจับข้าได้และจะไม่มีทางเห็นข้า เพราะข้าล่องหนได้ ข้าไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นวิญญาณและปีศาจจากขุมนรกสุดโลกันต์ ข้าคือสิ่งที่คนนิวออร์ลีนส์และตำรวจหน้าโง่ทั้งหลายเรียกว่า ไอ้สันขวาน”

แน่นอนว่าจดหมายจากฆาตกรต่อเนื่องมักเต็มไปด้วยเรื่องราวโม้พร่ำถึงอัตตาตัวเองที่ยิ่งใหญ่ทรงพลังของตน เนื้อความเต็มไปด้วยคำขู่สารพัดว่าการสังหารโหดจะรุนแรงยิ่งไปกว่านี้ได้อีก

แต่ที่ทำให้ทั้งเมืองตื่นตกใจก็คือ ฆาตกรได้เขียนลงไปว่า ในเวลาเที่ยงคืนสิบห้านาทีของวันอังคารหน้า (ซึ่งก็คือวันที่ 18 มีนาคม) เขาจะเดินไปทั่วเมืองนิวออร์ลีนส์ โดยไอ้สันขวานได้บอกในจดหมายก่อนแล้วว่าชอบดนตรีแจ๊ซมาก จึงมีการตั้งเงื่อนไขคำขู่ฆ่ามาว่า

“หากบ้านไหนที่เปิดเพลงแจ๊ซฟังจะไม่โดนฆ่า แต่หากบ้านไหนไม่เปิดเพลงแจ๊ซฟัง จะต้องโดนจามด้วยขวานอย่างแน่นอน”

คำขู่สุดสยองนี้ทำให้พอถึงช่วงเวลาดึกของวันจันทร์ที่ 17 ต่อเนื่องวันอังคารที่ 18 นิวออร์ลีนส์ เมืองแห่งดนตรีแจ๊ซจึงได้กระหึ่มด้วยการบรรเลงของดนตรีแจ๊ซ วงดนตรีสดเล่นเพลงในห้องโถง ผู้คนได้ออกมาพบปะกัน คนก็แห่ไปเข้าร่วมฟังดนตรีกันอย่างคึกคัก ผับบาร์ต่างเล่นเพลงกัน บ้านไหนมีเปียโนก็จะเล่นเพลงแจ๊ซกันถ้วนหน้า

ว่ากันว่าคืนนั้น เป็นสวรรค์ของนักดนตรีที่ได้บรรเลงแจ๊ซกันทั้งคืนจนถึงเช้า สร้างรายได้มหาศาล ท่ามกลางผู้คนที่แห่แหนกันออกมาฟังเพราะกลัวถูกฆ่าอย่างคึกคักผสมความหวาดกลัว โดยทุกคนต่างกลัวโดนฆาตกรต่อเนื่องสังหารด้วยขวาน จนลืมไปว่าการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดยังอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่ในขณะนี้

คืนนั้นผ่านพ้นไป โดยที่ไม่มีการสังหารโหดจากไอ้สันขวานแต่อย่างใด

5.

หลังจากคำขู่อันแสนพิลึกปนน่ากลัวนั้นผ่านไป ดูเหมือนว่าไอ้สันขวานจะหยุดปฏิบัติการไปเฉยๆ ท่ามกลางไข้หวัดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง แต่แล้วในช่วงเดือนสิงหาคม เขาก็กลับมาสังหารเหยื่ออย่างเหี้ยมโหดอีกครั้ง จนถึงเดือนตุลาคม ก็ยังมีศพถูกขวานจามสับอย่างรุนแรงเกิดขึ้น แต่หลังจากเดือนตุลาคมผ่านพ้นไป ดูเหมือนว่า ไอ้สันขวานจะหายไปจากข่าวคราวการรับรู้ของคนนิวออร์ลีนส์ ไม่มีการฆาตกรรมด้วยขวานเกิดขึ้นอีกในเมืองแห่งนี้

อย่างไรก็ดีมีบันทึกอยู่ว่า ไอ้สันขวานยังคงก่อเหตุในเมืองอื่นๆ จนถึงปี 1921 โดยยังคงเลือกคนอิตาเลียนที่เป็นเจ้าของร้านชำ เวลาการสังหารก็ตอนกลางคืน อาวุธก็คือขวาน แต่หลังปี 1921 ผ่านพ้นไป เรื่องราวของไอ้สันขวานก็หายสาบสูญไปทันที พร้อมกับปริศนาคดีที่ยังปิดไม่ลง เพราะแม้ตำรวจจะคุมตัวสอบปากคำผู้ต้องสงสัยหลายคน แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอจะโน้มน้าวให้สังคมเข้าใจได้ว่าเป็นไอ้สันขวานตัวจริง

ความอัปยศของตำรวจในการตามล่าฆาตกรต่อเนื่องคดีนี้ ยังมีการจับคนดำที่ไม่รู้ภาษา ไม่รู้กฎหมาย มารับโทษถูกส่งขึ้นศาลเพื่อหวังจะปิดคดี แม้จะอยู่ในยุคสมัยการเหยียดผิวในรัฐทางใต้ แต่หลักฐานที่อ่อนยวบทำให้ต้องยกฟ้องไปในที่สุด

แม้จะมีข้อสันนิษฐานมากมายว่าใครคือฆาตกรไอ้สันขวานกันแน่ แต่คดีก็ยังเป็นปริศนาปิดไม่ลงตราบจนวันนี้

จึงเหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องราวเล่าขานความโหดเหี้ยม โรคระบาด และเพลงแจ๊ซซึ่งไอ้สันขวานโปรดปรานจนต้องข่มขู่ให้คนทั้งเมืองต้องฟังเพียงเพื่อจะได้รอดจากการถูกสังหารด้วยขวานจากฆาตกรต่อเนื่องรายนี้นี่เอง

 

ข้อมูลอ้างอิง

www.vice.com/en/article/jpnxxy/how-the-axeman-of-new-orleans-terrorized-a-city-and-escaped-the-law

www.smithsonianmag.com/history/axeman-new-orleans-preyed-italian-immigrants-180968037/

www.crimeandinvestigation.co.uk/article/the-axeman-of-new-orleans