หลังจากที่ Cryptonian EP ก่อน ได้อธิบายถึงการเกิดขึ้นของคู่แข่งสถาบันการเงินและธนาคารอย่างโลก DeFi หรือ Decentralize Finance ที่กระจายอำนาจทางการเงินให้แก่ทุกคนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืม ทำธุรกรรม ค้ำประกัน ก็สามารถทำได้สะดวกกว่าเดิม อีกทั้งยังได้รับดอกเบี้ยเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ถูกหักหัวคิวจากธนาคารอีกต่างหาก
เมื่ออำนาจทางการเงินถูกกระจายไป จึงไม่เป็นที่แปลกใจหากจะเกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้น เพราะในเมื่อจะทำอะไรก็ไม่ติดข้อจำกัดทางด้าน ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘กฎระเบียบของธนาคาร’ อีกต่อไป จึงทำให้เกิดหนึ่งในนวัตกรรมการเงินแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘การทำฟาร์ม’ หรือ ‘Yield Farming’ ที่ให้ผลตอบแทนต่อปีได้สูงถึง 500% ต่อปีเลยทีเดียว
การทำฟาร์มคืออะไรกันแน่ แล้วผลตอบแทนที่มากขนาดนั้น ความเสี่ยงที่ตามมาคืออะไรกันล่ะ?
ต้องอธิบายย้อนความไปถึงระบบการเงินดั้งเดิมด้วยว่า ในโลกการเงินปกติ ตลาดหลักทรัพย์จะเกิดสภาพคล่องจากการที่เงินของนักลงทุนเข้ามาซื้อขายในตลาด และผู้ที่เป็นตัวกลางอย่างตัวตลาดจะนำเม็ดเงินไปต่อยอด เช่น การปล่อยกู้ สร้างตราสารอนุพันธ์ เพื่อนำดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกค้ามาเป็นรายได้ให้แก่ทางตลาดหลักทรัพย์
หลักการของการทำฟาร์ม Yield Farming ก็คล้ายๆ กัน คือการที่ให้นักลงทุนนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นหลักประกัน และแหล่งเงินทุนให้กับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์อย่างสกุลเงินดิจิทัล (Decentralize Exchange) ที่ยังคงมีสภาพคล่องไม่มากเท่าตัวกลางอย่างตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำให้เกิดสภาพคล่องภายในแพลตฟอร์ม โดยจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาค้ำประกันในรูปแบบของดอกเบี้ย
ทำให้แพลตฟอร์มได้รับเงินทุนมาใช้ในการสร้างสภาพคล่อง โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องระดมทุน หรือขอทุนจากใครเลย และนักลงทุนที่นำสินทรัพย์มาเป็นแหล่งเงินทุนให้จะได้รับผลตอบแทนตามระยะเวลาที่นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากไว้ แต่สิ่งที่ทำให้ Yield Farming เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วเพราะว่า ‘ผลตอบแทน’ ที่สูงเอาเสียมากๆ อีกทั้งบางแพลตฟอร์มให้ผลตอบแทนได้มากที่สุดถึง ‘1,000%’ ต่อปีเลยทีเดียว จึงทำให้ในโลกของ DeFi การทำฟาร์มจึงเป็นที่นิยมเอาเสียมากๆ เพราะดีกว่าการเงินยุคดั้งเดิมที่ให้ผลตอบแทนในระดับไม่ถึงเลขหลักหน่วยเลยด้วยซ้ำ
สำหรับเหล่าชาวนาที่สนใจอยากจะมาทำฟาร์มนั้น จำเป็นที่จะต้องระวังถึงความเสี่ยงซึ่งจะแบ่งได้ออกเป็น 4 ประการใหญ่ เรื่องแรกคือการโดนโจรกรรม (Hack) กระเป๋าเงินออนไลน์หรือ Wallet ของคุณ โดยสามารถแก้ไขได้โดยการใช้ Hardware Wallet หรือกระเป๋าเงินที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบกลาง เป็นกระเป๋าเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่กับคุณแต่เพียงผู้เดียว
เรื่องแรกคือความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาบน Smart Contract เนื่องจากแพลตฟอร์มที่เปิดให้เราทำฟาร์มต่างๆ มักจะทำงานอยู่บนระบบ Smart Contract จึงอาจให้การตรวจสอบเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านโปรแกรมมิ่ง ซึ่งจำเป็นที่ต้องแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้โดนชิ่งเงินไป
ประการที่ 3 คือความผันผวนของราคาเหรียญที่จะได้รับเป็นผลตอบแทน เนื่องจากการทำ Yield Farming นั้น เราสามารถเลือกได้ว่าผลตอบแทนที่เราเลือกจะเป็นเหรียญในรูปแบบใด หากเลือกเป็นเหรียญที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความผันผวนของราคา ก็อาจทำให้มูลค่าของเหรียญ ขึ้นลงตามอุปสงค์-อุปทานของตลาด
และประการสุดท้ายคือค่าเสียโอกาสในการนำสินทรัพย์เข้าไปทำฟาร์ม เนื่องจากราคาของเหรียญขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้พลาดโอกาสในการทำกำไรไปได้
ที่มา
https://siamblockchain.com/2020/06/29/yield-farming-defi-beginners-guide-earning-interest-crypto/
https://bitcoinaddict.org/2020/09/04/what-is-yield-farming-the-way-to-make-profit-on-defi/
https://www.blockdit.com/posts/6050daa29316b80a05bdb524
https://www.supercryptonews.com/th/yield-farming-ในโลก-defi-นวัตรกรรมการเงิ/
Tags: Cryptocurrency, Cryptonian, Decentralize Finance, DeFi