หลังการกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ธุรกรรมออนไลน์ก็ไม่ต้องการสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นตัวกลางในการยืนยันความถูกต้องอีกต่อไปในบทความ Cryptonian สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านอุตสาหกรรมการเงินเกิดขึ้นอย่างมากมาย เพราะเรามีระบบการเงินที่กระจายตัว (Decentralization) ไม่ได้กระจุกอยู่ในมือภาครัฐเพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว 

หลังจากที่บิตคอยน์ (Bitcoin) เถลิงราชย์สู่ตำแหน่งราชาแห่งเหรียญคริปโต บริษัทใหญ่ๆ นายทุนทั่วโลกได้ให้ความสนใจ และมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากสกุลเงินดิจิทัล ทว่าโอกาสที่กลุ่มผู้มีวิสัยทัศน์เหล่านี้กลับไม่ได้หยุดแค่การลงทุนในบิตคอยน์เท่านั้น แต่มองไกลไปถึงการ ‘ออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง’ เพื่อกระชากบิตคอยน์ลงมาจากบัลลังก์ เพราะในเมื่อ ‘ซาโตชิ นาคาโมโตะ’ ผู้เป็นโปรแกรมเมอร์นิรนามสามารถทำได้ ทำไมบริษัทใหญ่ๆ ผู้มีทรัพยากรทางเทคโนโลยีที่พร้อมอย่างพวกเขาจะทำไม่ได้ 

ด้วยความทะเยอทะยานนี้เอง จึงได้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆ นอกจากบิตคอยน์ขึ้นมา เราเรียกสกุลเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาภายหลังนี้ว่า ‘Altcoin’ หรือ ‘Alternative Coin’ ที่แปลได้ว่าเป็นเหรียญทางเลือก โดย Altcoin จำนวนมากนั้นยังคงถูกสร้างมาจากพื้นฐานของบิตคอยน์ แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในโลกดิจิทัลที่แตกต่างกันไป ทำให้ปัจจุบันโลกของเรามี Altcoin มากถึง 5,000 กว่าชนิดทั่วโลก คิดเป็น 35% ของตลาดคริปโตทั้งหมด

แต่อย่าลืมไปว่าลักษณะที่สำคัญที่สุดของการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) คือการได้รับการยอมรับของผู้คนในเครือข่าย เพราะมูลค่าของเหรียญนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานของคนในเครือข่าย อย่างในยุคแรกก่อนที่สกุลเงินดิจิทัลจะเป็นที่นิยมนั้น ต้องใช้บิตคอยน์ถึง 10,000 เหรียญ สำหรับการซื้อพิซซ่าเพียงแค่ 2 ถาด หากทุกคนต่างออกสกุลเงินของตัวเองออกมา แล้วเราจะเลือกใช้สกุลเงินใดดีล่ะจึงจะเหมาะสมที่สุด

เนื่องจากลักษณะพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่นั้นมีความคล้ายคลึงกันได้แก่ มีจำนวนเหรียญที่จำกัด และระบบการเงินที่กระจายตัวยังไม่ถูกควบคุมจากใครคนใดคนหนึ่งเนื่องจากสร้างโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แต่ ‘วัตถุประสงค์’ ของการออกเหรียญนี้เอง ที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัลแต่ละตัวมีความแตกต่างกันไป 

ยกตัวอย่างเช่น บิตคอยน์นั้นถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการโอนมูลค่าระหว่างกัน เหรียญบิตคอยน์จึงได้รับการยอมรับว่า ตราบใดที่เทคโนโลยีตัวนี้ยังถูกใช้งานก็จะมีเหรียญถูกขุดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปล่อยให้มูลค่าของตัวเหรียญขึ้นลงตามการแลกเปลี่ยนของผู้คนในเครือข่าย 

เหรียญ Altcoin ก็มีหลักการที่คล้ายกัน ไม่ใช่ทุกเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นเหรียญที่ได้รับการยอมรับ จึงจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ของการใช้งานมารองรับด้วย ถึงจะทำให้เหรียญตัวนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต

เมื่อปัญหาทางด้านการโอนมูลค่านั้นถูกบิตคอยน์แก้ไขปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต หากพวกเขาต้องการที่จะออกสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองนั้น จำเป็นต้องรู้ว่า 1. เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของเหรียญที่คุณจะสร้างขึ้นมามีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไร 2. กลไกการได้มาของเหรียญนั้นจะเป็นอย่างไร และ 3. คนในเครือข่ายผู้ถือครองเหรียญจะได้ประโยชน์อย่างไร 

ผู้เขียนจึงจะขอยกตัวอย่างเหรียญ Altcoin 2 ตัว เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ แตกต่างกับสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉยๆ อย่างไร

 

 

‘Ethereum’ หรือ ETH ผู้ท้าชิงตำแหน่งเจ้าแห่งคริปโตจากบิตคอยน์

อีเธอเรียม (Ethereum) คือ altcoin ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 รองจากบิตคอยน์ในปัจจุบัน ถูกสร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยใน ‘การเก็บข้อมูล’ บนโลกออนไลน์ เนื่องจากในโลกยุคปัจจุบันข้อมูลส่วนตัวของเราอย่างรหัสบัญชี จะถูกเก็บบนฐานข้อมูลของเจ้าของของแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Facebook, Google หรือแม้กระทั่ง Amazon ที่เราเคยไปเปิดบัญชีเพื่อใช้บริการ แต่การเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลไว้บนฐานข้อมูลเพียงแค่เซิร์ฟเวอร์เดียวนั้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูก ‘เจาะเข้าระบบ’ เพื่อขโมยข้อมูลจากเหล่าแฮ็กเกอร์ไปได้

อีเธอเรียมจึงใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาแทนที่บุคคลที่สามบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ โดยได้รับการดูแลจากอาสาสมัครทั่วโลก และให้รางวัลเป็นเหรียญ ETH เช่นเดียวกับบิตคอยน์ ซึ่งการที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของฐานข้อมูลของคุณนี่แหละ ที่จะช่วยเปิดโอกาสการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างมหาศาล

ลองนึกภาพว่าหากคุณต้องการที่จะสร้างแอพพลิเคชันซักตัวหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือ ตัวเลือกของคุณจะประกอบไปด้วย App Store, Google หรือ Play Store เท่านั้น และการสร้างแอพฯ จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทเหล่านี้ให้เขาเก็บข้อมูลสำคัญของลูกค้าคุณไม่ว่าจะเป็น หมายเลขบัตรเครดิต ประวัติการซื้อ และข้อมูลส่วนตัว ซึ่งล้วนตกอยู่ในเงื้อมมือของบริษัทผู้ให้บริการเหล่านี้ 

แต่เทคโนโลยีของอีเธอเรียมจะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ควบคุมระบบเอกสารข้อมูลหลังบ้านของแอพฯ คุณได้ และอำนาจต่อรองในการบริหารแอพฯ ของคุณจะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะถูกสั่งปิดจากตัวแพลตฟอร์ม มีเพียงแค่ตัวผู้ใช้งานแอพฯ และอาสาสมัครที่ดูแลเท่านั้นที่จะเป็นปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา 

ทุกครั้งที่ผู้ใช้แอพฯ เปลี่ยนแปลงข้อมูลจะถูกส่งผ่านไปยังคอมพิวเตอร์ทุกระบบในเครือข่าย และอาสาสมัครมีหน้าที่ยืนยันความถูกต้องข้อมูลของคุณเท่านั้น เพียงแต่ทุกครั้งที่คุณเปิดแอพฯ บนอีเธอเรียมสามารถที่จะจ่ายเหรียญ ETH เป็นค่าดำเนินการได้ แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด

จะเห็นได้ว่าอีเธอเรียมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยการสร้างแอพพลิเคชันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ใช้เหรียญ ETH เป็นค่าดำเนินการในการรันแอพฯ  และอาสาสมัครที่ช่วยยืนยันความถูกต้องจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญ ETH ซึ่งมีองค์ประกอบครบตามทั้ง 3 ข้อที่ได้อธิบายไปก่อนหน้า ทำให้ความนิยมของการถือครองอีเธอเรียมเพิ่มขึ้นทุกปี ราคาอยู่ที่ประมาณ 55,000 บาทต่อ 1 เหรียญ ETH

Dogecoin เหรียญ ‘มีม’ (Meme) ขวัญใจชาวเน็ต

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าหลังจากการประสบความสำเร็จของบิตคอยน์ทำให้มีกระแส การกำเนิดของสกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ในยุคแรกเริ่มบิทนั้น เหรียญกลับถูกใช้งานในตลาดมืด เนื่องจากทางภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ 

ในปี 2013 โปรแกรมเมอร์ที่มีชื่อว่า บิลลี มาร์คัส อยากให้สกุลเงินดิจิทัลมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น และทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ จึงได้สร้างสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้และได้นำภาพของหมาชิบะอินุที่เป็นมีม (Meme) ที่โด่งดังในอินเทอร์เน็ตมาเป็นโลโก้ของเหรียญ เพื่อให้เหรียญมีความ ‘น่ารัก’ และความเป็นมิตร น่าครอบครอง

แต่ดอดจ์คอยน์ (Dogecoin) นั้นถูกสร้างมาด้วยแนวคิดขั้วตรงข้ามจากบิตคอยน์อย่างสิ้นเชิงเนื่องจากดอดจ์คอยน์เป็นเหรียญที่ไม่มีการจำกัดจำนวน ในช่วงแรกของการเปิดตัวผู้พัฒนาได้สร้างเหรียญดอดจ์คอยน์ขึ้นมา 50,000 ล้านเหรียญขึ้นมาในทันที ซึ่งต่างจากบิตคอยน์ที่กว่าจะได้มาแต่ละเหรียญนั้นแสนจะยากเย็นเหลือเกิน

ดอดจ์คอยน์จึงเป็นเหรียญที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยที่ไม่รู้เลยว่าการใช้งานของเหรียญนั้นคืออะไร และถูกสร้างออกมาเพื่อแก้ปัญหาใด จะมีก็เพียงแต่ความน่ารักของหมาชิบะอินุที่เป็นโลโก้ แต่ด้วยความ ‘มีม’ ของเหรียญทำให้ดอดจ์คอยน์ถูกนำไปใช้งานในชุมชนบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง Reddit และ Twitch โดยหลักๆ จะใช้ในการ ‘ให้ทิป’ แก่ผู้ที่ทำคอนเทนต์ หรือแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจในโซเชียลฯ นั่นเอง และพื้นฐานของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มทั้งสองเป็นผู้ที่นิยมชมชอบในการเสพ ‘มีม’ อยู่แล้ว ดอดจ์คอยน์จึงกลายเป็นเหรียญมหาชนโดยปริยาย 

นั่นหมายความว่า มูลค่าของดอดจ์คอยน์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาใดอย่างจริงจัง ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่อยู่เบื้องหลังเลย มูลค่าของเหรียญมาจากการใช้งานของคนในเครือข่ายจึงมีการขึ้นลงของราคาที่ผันผวนอยู่ตลอด และเป็นเหรียญที่ถูกสร้างมาเพราะ ‘อยากจะสร้าง’ เท่านั้นเอง

ในปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัลจึงทำหน้าที่เป็นเพียง ‘สินทรัพย์ทางดิจิทัล’ เท่านั้น ด้วยราคาที่ยังคงผันผวนจากแต่ละระบบของสกุลเงินด้วยที่ยังคงมีการพัฒนาอยู่ตลอด แต่ภายใต้การเติบโตนั้นก็ยังคงมีเหรียญที่ไม่มีการใช้งานออกมาให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเหรียญเหล่านี้เป็นเหรียญที่ไม่สามารถลงทุนได้

จึงขอแบ่งประเภทของเหรียญ Altcoin ไว้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

1.เหรียญที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

เหรียญเหล่านี้จะมีการใช้งานอยู่บ่อยครั้ง และมีระบบเป็นของตัวเอง ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์ของเหรียญในการดำเนินการในโลกดิจิทัลได้ ส่งผลให้เหรียญประเภทนี้มีความต้องการ ‘ที่แท้จริง’ ในเครือข่าย ซึ่งแสดงว่ายิ่งเทคโนโลยีดี คนยิ่งใช้ และราคายิ่งสูงนั่นเอง เหรียญที่อยู่ในหมวดนี้ได้แก่เหรียญ ETH (Ethereum), BNB (Binance Coin) และ ADA (Cardano Coin) เป็นต้น

2.เหรียญสำหรับ ‘สายซิ่ง’ เน้นเก็งกำไร

อย่างที่กล่าวไปว่า ตลาดของสกุลเงินดิจิทัลยังคงมีความผันผวน และยิ่งเป็นเหรียญที่ไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ที่ได้อธิบายไปนั้น ราคาจะขึ้นอยู่กับคนในตลาดเพียงอย่างเดียว จึงทำให้สามารถเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาที่รุนแรงได้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เหรียญประเภทนี้มักจะเป็นเหรียญที่ไม่มีการใช้งานอย่างเช่น DOGE (Dogecoin) หรือ XRP (Ripple) เป็นต้น

การลงทุนในเหรียญทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจถึงพื้นฐานของเหรียญ และนี่เป็นอีกเหตุผลที่ผู้คนให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดคริปโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการใช้งานที่แท้จริงของเหรียญรองรับอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ตลาดเก็งกำไรที่เข้ามา ‘ซิ่งแล้วซี้’ อย่างที่นักวิเคราะห์หลายท่านเอ่ยไว้แต่อย่างใด

.

.

.

ที่มา:

https://siamblockchain.com/2021/02/02/keep-an-eye-on-3-cryptocurrency-sectors/ 

https://bitcoinaddict.org/beginner-guide-for-bitcoin-starter/ 

https://zipmex.co.th/learn/what-is-altcoin/ 

https://www.investopedia.com/terms/a/altcoin.asp 

https://siamblockchain.com/2018/10/30/is-create-crypto-hard/ 

https://coinman.co/2017/06/30/invest-ethereum/ 

Tags: , , , , ,