นี่เป็นบทความที่สองของ Money Buffalo ที่ได้มาทักทายชาว The MOMENTUM อีกครั้ง แน่นอนว่ามีความรู้การเงินดีๆ รอบตัวมาชวนคิดชวนคุยอีกอย่างแน่นอน

เรามาลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้เราใช้สินค้าการเงินตัวไหนอยู่บ้าง? ส่วนใหญ่น่าจะต้องตอบว่า ‘เงินฝาก’ แน่นอน แล้วอีกสินค้านึงที่น่าจะมีก็คือ ‘บัตรเครดิต’ ตอนนี้ถ้าพูดถึงเรื่อง ‘บัตรเครดิต’ คงไม่มีใครไม่รู้จัก แล้วเดี๋ยวนี้การสมัครบัตรเครดิตก็ไม่ได้ยากเหมือนสมัยก่อน 

เหล่าบริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายแข่งขันกันเพื่อครอบครองพื้นที่ตลาดเป็นการใหญ่ ตอนนี้ก็เลยมีบัตรเครดิตหลากหลายประเภท ชนิดที่ว่าเงินเดือนไม่ต้องสูงมากก็มีบัตรเครดิตเป็นของตัวเองได้ไม่ยาก แล้วที่สำคัญดันมีกันได้หลายใบอีก ทาง Money Buffalo เองมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่มีปัญหาเรื่องการเงินอยู่ไม่น้อย บอกได้เลยว่าปัญหาเรื่องการเงินส่วนใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ล้วนเกิดจากบัตรเครดิตทั้งสิ้น 

แล้วทำไม ‘บัตรเครดิต’ ถึงกลายเป็นศัตรูตัวร้ายที่ทำให้หลายๆ คนมีปัญหาเรื่องการเงิน?

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเงิน คือ โรงเรียนสอนเราทุกคนแค่ว่าเราจะ “หาเงินอย่างไร” แต่ไม่เคยสอนเลยว่าเราจะต้อง “ใช้เงินอย่างไร”

ลองคิดดูว่าทุกวันตอนที่เราไปเรียน ปลายทางของการสอน คือ การที่ทำให้เราจบไปมีอาชีพที่สามารถทำมาหากินได้ รู้ว่าตัวเราถนัดอะไร ไม่ชอบอะไร ไปทำอะไรถึงเหมาะสมกับความชอบความถนัดของเรา นั่นก็คือ สอนให้เรา “หาเงินอย่างไร” แต่กลับไม่มีการเรียนการสอน หรือถ้ามีก็น้อยมากจนแทบจะจำไม่ได้เลยว่า แล้วหลังจากที่เราหาเงินเป็นแล้วเราจะต้องใช้เงินที่หามาอย่างไรถึงจะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน

‘บัตรเครดิต’ ถ้ามองเรื่องประโยชน์การใช้สอย ต้องยอมรับเลยว่าเป็นสินค้าการเงินตัวนึงที่ดีมากจริงๆ เวลาที่เราไปไหนมาไหนก็ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดจำนวนมากเดินไปเดินมาก็สามารถซื้อของได้ แถมเวลาที่เราซื้อของยังได้รับส่วนลดจากบัตรเครดิตอีก หรือบางทีมีแต้มให้สะสมเพื่อแลกของกำนัลต่างๆ ตามที่เราต้องการได้อีก นอกจากนี้การรูดบัตรเครดิตทำให้เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทันที รอให้ถึงรอบจ่ายตามรอบบิลของบัตรเครดิตก่อนค่อยชำระก็ได้ เรียกได้ว่าใช้ก่อนจ่ายทีหลัง คิดง่ายๆ ว่าถ้าระหว่างนั้น แทนที่เราจะเอาเงินสดไปจ่ายร้านค้า แต่เอาเงินไปฝากธนาคารก่อน อย่างน้อยก็ได้ดอกเบี้ยมาซื้อลูกอมกินขนมเล่นได้เลยนะ

แต่ก็แน่นอนว่าไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่มีแต่ข้อดี ข้อเสียหรือข้อควรระวังของบัตรเครดิตก็ไม่ก็เบาเหมือนกัน

อย่างที่เรารู้ว่าบัตรเครดิตมี ‘รอบการชำระเงิน’ ว่าเป็นวันที่เท่าไหร่ แต่ถ้าจ่ายไม่ตรงหรือแค่จ่ายไม่ครบก็จะเป็น “จุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเงิน” แล้วล่ะ สมมติว่าเราใช้บัตรเครดิตไปทั้งหมด 10,000 บาท แล้วพอถึงวันครบชำระเกิดเหตุอะไรสักอย่างที่ทำให้เราจ่ายไม่ครบ 10,000 บาท อาจจะเงินขาดมือ ลืมว่าต้องจ่าย หรือว่าลืมว่ายอดบัตรเท่าไหร่แล้ว การที่เราจ่ายไม่ครบ ไม่ว่าจะจ่าย 1,000 บาทหรือ 9,000 บาทก็ตาม เราจะถูกคิดดอกเบี้ยจากยอด 10,000 บาทที่เราใช้เต็มเลยทีเดียว

แล้วดอกเบี้ยของบัตรเครดิตก็อย่างที่เรารู้กัน มันสูงถึงปีละ 18% แค่นี้ยังไม่พอ ยังคิดดอกเบี้ยทบต้นรายวันเข้าไปอีก สุทธิแล้วเราต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทบัตรเครดิตสูงถึง 21-22% ต่อปี ลองคิดเล่นๆ ดูว่า เราต้องฝากเงินทั้งปีถึงจะได้ดอกเบี้ยเงินฝาก 1.5% แต่บัตรเครดิตเก็บเงิน 21-22% ถึงได้บอกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

ดอกเบี้ยของบัตรเครดิตสูงถึงปีละ 18% แค่นี้ยังไม่พอ ยังคิดดอกเบี้ยทบต้นรายวันเข้าไปอีก สุทธิแล้วเราต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทบัตรเครดิตสูงถึง 21-22% ต่อปี

เพราะการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ใช่แบบปกติ แล้วหลายๆ คนก็ไม่รู้ว่าถ้าจ่ายไม่ตรงตามกำหนดเวลาจะโดนเบี้ยปรับสูงขนาดนี้ เชื่อว่าทุกคนก็ไม่ได้คิดว่าใช้แล้วจะไม่จ่ายหรอก แต่บางครั้งอาจมีเรื่องเดือดร้อน มีความจำเป็นที่ทำให้เราต้องรูดบัตรเครดิตไปก่อนแล้วคิดว่าช่วงเวลาครบรอบน่าจะมีจ่าย หรือบางคนก็เดินไปเจอสินค้าลดราคาหรืออะไรที่ถูกใจเข้าก็รูดซื้อมา โดยไม่ได้คิดว่าเราจะมีเงินจ่ายคืนบัตรเครดิตหรือไม่

ส่วนบางคนก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาของตัวเองด้วยการไปกดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตอีกใบเพื่อไปจ่ายบัตรเครดิตอีกใบแล้วก็หมุนแบบนี้ไปเรื่อยๆ แบบทบต้นทบดอก ยิ่งทำแบบนี้จะยิ่งทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเป็นทวีคูณเลย รู้ตัวอีกที บางทีเงินเดือนที่เราหามาได้ก็ไม่พอจ่ายค่าบัตรเครดิตเสียแล้ว

หลักการใช้บัตรเครดิตที่ง่ายและได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ “ถ้าเราไม่มีเงินสดมากพอที่จะจ่ายซื้อของในวันนั้นเลย ห้ามรูดบัตรเครดิตเด็ดขาด” ไม่ว่าเราจะอยากได้แค่ไหน จำเป็นแค่ไหนก็ห้ามรูดเด็ดขาด ต้องคิดว่าบัตรเครดิตมีไว้เพื่อความสะดวกและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น เพราะบัตรเครดิตไม่ใช่แหล่งเงินกู้ที่ควรเสียเบี้ยปรับให้ด้วยซ้ำไป แล้วการที่เราไปหวังพึ่งเงินในอนาคตว่าเราจะมีมาจ่ายก็มีความเสี่ยงแล้ว และถ้าเกิดเงินก้อนนั้นไม่เข้ามาหรือเข้ามาไม่พอ เราก็จะเข้าวังวนของการเป็นหนี้บัตรเครดิตแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยทันที

ทีนี้ถ้าเราอยากจะทำบัตรเครดิตสักใบนึง เราจะเลือกบัตรเครดิตใบไหนดีล่ะ? จริงๆ แล้ว กว่าที่เราจะเลือกบัตรเครดิตที่เหมาะสมได้ก็ใช้เวลาเยอะอยู่เหมือนกัน เพราะว่าบัตรเครดิตมีหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายประเภท บทความนี้จึงเลือกบัตรเครดิตมาแบ่งปันกันว่าเลือกยังไงดี

1. สำรวจไลฟ์สไตล์ของตัวเราเอง

ก่อนอื่นลองสำรวจร้านค้า ร้านอาหารหรือใช้บริการอะไรที่เราใช้บ่อยๆ แล้วที่นั่นเข้าร่วมโปรโมชันกับบัตรเครดิตอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด เอาคะแนนสะสมลดแลก สิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ หรือจะเป็นสินค้าผ่อนชำระ 0% นาน 3 เดือน 10 เดือนว่ากันไป อันนี้สังเกตได้ไม่ยาก ไม่ต้องถามพนักงานที่ให้บริการด้วยซ้ำ เหล่าบริษัทบัตรเครดิตมักจะมีป้ายตั้งที่โต๊ะหรือว่าตรงเคาน์เตอร์ต่างๆ อยู่แล้ว เราก็ส่องๆ ไปดูก็จะเห็นได้โดยทันที

2. อย่าลืมดูเงื่อนไขค่าธรรมเนียมรายปี

บัตรเครดิตส่วนใหญ่จะมีค่าธรรมเนียมรายปี แค่เรามียอดใช้จ่ายถึงตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เราก็จะสามารถได้รับฟรีค่าธรรมเนียมแล้วล่ะ ดังนั้นตรงนี้อย่าลืมดูด้วยว่าเราต้องใช้ปีละเท่าไหร่ถึงจะได้สิทธิฟรีค่าธรรมเนียม เผื่อเรามีหลายใบจะได้แบ่งใช้ถูกยังไงล่ะ

แต่ก็มีบางบัตรที่ต้องเราใช้เยอะแค่ไหนก็ไม่ฟรีค่าธรรมเนียมให้ แต่ก็ไม่เสมอไปว่าเราไม่ควรทำบัตรแบบที่ไม่ฟรีค่าธรรมเนียมพวกนี้เลย เพราะจะต้องดูสิทธิประโยชน์ที่ได้เพิ่มมาจากค่าธรรมเนียมที่จ่ายไปว่าคุ้มกับเราหรือเปล่า?  ถ้าคุ้มก็สามารถทำได้ ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะบัตรเครดิตที่เสียค่าธรรมเนียมก็จะมีสิทธประโยชน์ที่บัตรอื่นๆ ไม่มี อย่างเช่นมีรถรับส่งบ้านเรากับสนามบินให้ มีบัตรสิทธิพิเศษต่างๆ ให้ หรือสะสมแต้มแลกได้เร็วกว่าบัตรอื่นๆ เป็นต้น ถ้าเราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้คุ้มค่าก็จัดได้เลย

3. ช่องทางการชำระเงินก็สำคัญ

ข้อนี้ก็สำคัญเหมือนกันนะ เพราะว่าหลักการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง นอกจากจะต้อง “จ่ายเต็มจำนวน” เสมอแล้ว เราจะต้อง “จ่ายให้ตรงเวลา” เสมอด้วย!! เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือนเสมอ ถ้าช่องทางการชำระไม่สะดวกเราก็มีโอกาสที่จะลืมจ่ายได้เช่นกัน แต่ปัญหานี้มีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะหลายๆ ธนาคารเปิดโอกาสให้เราจ่ายชำระบัตรเครดิตได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ทำให้สามารถจ่ายออนไลน์ได้แม้เรานอนเล่นอยู่บนเตียง

ป.ล. การสมัคร SMS Alert หรือว่าเดี๋ยวนี้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของบัตรเครดิตนั้นๆ แล้วตั้งเตือนวันที่จ่ายด้วย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่เราจะจ่ายไม่ตรงเวลาได้มากขึ้นเหมือนกัน

Tags: , , ,