หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง ที่นั่งในสภาของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมไปถึงผลโหวตนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากคะแนนเสียงในการรวบรวมพรรคเล็กเพื่อจัดตั้งรัฐบาล 19 พรรคร่วมและมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำเพียง 254 เสียง ในขณะที่ฝั่งฝ่ายค้านนั้นมี 245 (+1 ธนาธรที่ยังถูกแขวนไว้) เสียงนั้น ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าแม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลแต่คงจะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และอาจจะเกิดการยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่นาน 

ความไร้เสถียรภาพของฝั่งรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาลดี โดยเฉพาะประเด็นการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีที่ทำให้เกิดการระหองระแหง ตั้งแต่ ‘อาการงอน’ ของพรรคเล็กอย่างพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย การตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีการรั้งรอความแน่นอนของพรรคภูมิใจไทยที่รอจนถึงวินาทีสุดท้ายว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐเอง กับการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ทำให้เห็นว่าบางทีรอยร้าวที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะปริแตกอาจจะไม่ต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเลยก็ได้ และที่สำคัญนอกจากรอยร้าวนี้จะส่งผลในการทำงานในฐานะรัฐบาลแล้ว ยังส่งผลถึงอนาคตในเลือกตั้งครั้งใหม่อีกด้วย

พรรคพลังประชารัฐ

จากความไม่ลงตัวของโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี จนทำให้ ‘กลุ่มสามมิตร’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักการเมืองที่มีอิทธิพลในการก่อตั้งและหาเสียงของพรรค จนถึงขั้นต้องออกมาขู่ไล่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ออกจากตำแหน่ง พร้อมกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อพรรค และพร้อมที่จะยกขบวน ส.ส. 30 กว่าคนซึ่งอยู่ในกลุ่มสามมิตรออกจากพรรค ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นที่หมายปองของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (ในขณะที่ข่าวลือกล่าวว่าเขาได้เก้าอี้กระทรวงอุตสาหกรรมไปแทน) จนในที่สุดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ยอมถอยขอไม่รับเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และข่าวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้กับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่วางตัวไว้ว่าน่าจะเป็นนายอนุชา นาคาศัย สมาชิกในกลุ่มสามมิตร แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่า “เก้าอี้หลุด” 

ซึ่งเค้าลางแต่งรอยร้าวนั้นเกิดมาตั้งแต่ดีล ‘เก้าอี้ประธานสภา’ ที่พรรคพลังประชารัฐทำดีลไว้กับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ซึ่งทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ ผู้ที่ถูกวางตัวไว้เนิ่นนานสำหรับตำแหน่งนี้ต้องกลายมาเป็นเพียงแค่รองประธานสภาแทน 

หากย้อนกลับไปถึงวันก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐจะพบว่า พรรคพลังประชารัฐซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี  2561 เพื่อพิชิตการเลือกตั้งในปี 2562 โดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยกลุ่มก้อนทางการเมืองสามกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ซึ่งเป็นแกนนำหลักของพรรค 

ในขณะที่กลุ่มทางการเมืองที่มี ส.ส. และฐานเสียงในมือก็คือ กลุ่มสามมิตร ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือจะเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มไทยรักไทยเดิมก็ได้ 

และอีกหนึ่งกลุ่มที่มีฐานเสียงไม่น้อยก็คือ แกนนำ กปปส. คือสามทหารเสือ กปปส. ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช., นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค

การรวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ และมีเป้าหมายเพื่อได้คะแนนเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงการเลือกตั้งนั้น น่าจะเป็นภารกิจร่วมที่ผสานทุกกลุ่มก้อนทางการเมืองไว้ด้วยกันได้อย่างดี เพราะในครั้งนั้นยังไม่มีใครรู้ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญในขั้นหาเสียง ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้อง “แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี” ให้พรรคอื่นเป็นจำนวนเท่าใด และกระทรวงไหนบ้าง

และเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงยามคับขันที่ถ้าไม่แบ่งเก้าอี้ให้พรรคร่วมพรรคอื่น โดยเฉพาะสองพรรคซึ่งเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ก็ทำให้เห็นได้ว่าการผสานรวมกันในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันด้วยการต่อรองด้านผลประโยชน์เป็นหลัก ทำให้พรรคพลังประชารัฐที่แม้จะดึงพรรคร่วมอีก 18 พรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่เพียงแต่จะเลี้ยงงูเห่าไว้ถึง 18 ตัว แต่ยังมีงูเห่าในพรรคอีกหลายตัวที่พร้อมจะยก ‘ข้อต่อรอง’ นี้ขึ้นมาเป็นไม้ตายเมื่อไรก็ได้ หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว

รอยร้าวที่เกิดขึ้นนี้ แน่นอนว่ามันจะค่อยๆ ขยายความรุนแรงมากขึ้น จนกว่าจะแตกสลาย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คืออนาคตของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร หากกลุ่มสามมิตรยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองในพรรค แน่นอนว่าจากเหตุการณ์การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ย่อมทำให้พรรคไม่ไว้วางใจกลุ่มสามมิตรอย่างแน่นอน แต่จะอยู่กันอย่างไรโดยที่ยังประสานผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายไว้ได้ กลุ่มสามมิตรมีฐานคะแนนเสียงขนาดใหญ่ให้กับพรรค ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องมีเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ให้กลุ่มสามมิตรเลือก มันก็คงอย่างที่โบราณเขาว่าไว้ว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร” นั่นเอง

ในขณะที่อีกหนึ่งซีนาริโอที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ หากรอยร้าวนั้นมันปริแตกจนเกินจะเยียวยารักษา กลุ่มสามมิตรก็อาจจะต้องแยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ เหมือนอย่างที่เคยแยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทย และพรรคภูมิใจไทย 

แต่ว่าจะไปไหนล่ะ? ในเมื่อการเมืองมีเพียงสองขั้วและกลุ่มสามมิตรเองก็เคยอยู่มาทุกขั้วแล้ว ซึ่งหากออกจากพรรคพลังประชารัฐก็แทบจะไม่มีขั้วจะอยู่แล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือการจัดตั้งขั้วการเมืองใหม่ ดำเนินตามรอยการสร้างพรรคของทักษิณ ชินวัตร ที่ดูดกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นต่างๆ หรือที่เคยอยู่กับพรรคต่างๆ เข้ามาสู่พรรคตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทยเคยยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ใช้วิธีการ ‘ดูด’ เดียวกัน (แม้แต่ภูมิใจไทยเองก็ตาม) 

เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหากรอยร้าวมันเกินจะเยียวยารักษาแล้ว กลุ่มสามมิตรเองก็คงพร้อมที่จะออกมาสร้างพรรคของตัวเอง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการประเมินสถานการณ์ของตัวเองว่าพลังดูดนั้นพร้อมแค่ไหน จะเป็นพรรคใหญ่หรือจะเป็นพรรคขนาดกลาง และหากเป็นได้แค่พรรคขนาดกลางจะทำอย่างไร 

แม้ว่าจะดูเป็นซีนาริโอที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีพรรคเล็กพรรคน้อยที่อาจจะไม่พอใจในผลประโยชน์ที่ตัวเองไม่ได้รับจากพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ที่พร้อมจะเปลี่ยนข้างได้ทุกเมื่ออีกด้วย แต่อย่าลืมว่าเกมการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะอีกกี่ปีต่อจากนี้ มันยังไม่ใช่เกมของ ‘พรรคการเมือง’ ในการต่อสู้กัน เพราะทุกอย่างยังถูกล็อกไว้ด้วยการวางหมากของ คสช. ที่ทำไว้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. หรือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นแม้จะขัดแย้งกันอย่างไร การตีจากจากพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับกลุ่มสามมิตร แต่อาจจะยังรวมไปถึงพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ฯลฯ อีกด้วย แต่เชื่อว่าเมื่อถึงโอกาสที่เหมาะสม รอยร้าวที่เฝ้าประคองกันไว้ก็พร้อมจะแตกได้ทุกเมื่อ 

พรรคประชาธิปัตย์

อีกหนึ่งในพรรคที่มีรอยร้าวและแผลเหวอะหวะมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่นอกจากจากผลการเลือกตั้งที่ไม่ประสบดังเป้าจนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว และเมื่อได้หัวหน้าพรรคคนใหม่คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ยังก่อให้เกิดรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์อย่างใหญ่หลวง ทั้งการลาออกจากสมาชิกพรรคของอดีตรองนายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ร่วม 10 กว่าคน จนถึงการยุบกลุ่ม New Dem ซึ่งเคยหมายหมั้นปั้นมือว่าจะเป็นการปูทางสู่อนาคตทางการเมืองครั้งใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่จริงการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ไมไ่ด้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์สักเท่าไร แต่ปัญหาใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือทำอย่างไรถึงจะกลับมาท็อปฟอร์มเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เหมือนเดิม 

การผสานรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนมากขึ้นว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเป็นเช่นไร แน่นอนว่าผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปก็ย่อมลาออก ผู้ที่ยังสมัครใจอยู่กับพรรคก็น่าจะเป็นผู้ที่มีอุมการณ์ร่วมกัน หรืออย่างน้อยก็ยังมีความเป็นหนึ่ง ความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอยู่ 

หากมองในแง่นี้อาจจะเป็นการดีสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในการขับเคลื่อนพรรคในอนาคตก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างนั้นการที่หลายคนยังไม่ลาออกก็ใช่ว่าจะยังคงอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดไป ดังเช่น กรณ์ จาติกวณิช ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะไม่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดไป แต่ก็อย่าลืมว่านั่นยังอยู่ในช่วงการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคต่างๆ

สำหรับรอยร้าวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลนั้น อาจจะมีน้อย เพราะในขณะที่รายชื่อโผคณะรัฐมนตรียังไม่นิ่ง พรรคที่ดูมีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุดก็เห็นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคาดว่าอาจจะได้ ‘ดีล’ ที่ลงตัวตั้งแต่แรก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีการพูดกันอย่างหนาหูโดยเฉพาะในช่วงการตัดสินใจร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือสัญญาประชาคมที่ที่อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวไว้ในช่วงเลือกตั้งว่าไม่สนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ซึ่งกลายมาเป็นอีกหนึ่งรอยร้าวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์เองกับมวลชน 

แม้ว่ากระแสจะไม่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่ากระแสนี้เกิดจากกลุ่มคนที่เป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วหรือไม่ เพราะถ้าไม่…เสียงในโลกโซเชียลมีเดียก็ไม่มีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์มากนัก แต่ที่แน่ๆ เรารู้อยู่แล้วว่าคะแนนความนิยมของพรรคนั้นลดลงอย่างมากจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้ว่าอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ จะกล่าวว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม

ซึ่งเท่ากับว่าหากมวลชนหรือฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือฝั่งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปแย่งคะแนนเสียงมาจากทางฝั่งพรรคพลังประชาชนซึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุดให้ได้ โดยวิธีการใดนั้นก็สุดแล้วแต่นโยบายของหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพราะจะหวังคะแนนเสียงจากฐานเสียงของฝั่งฝ่ายค้านนั่นคงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เมื่อพิจารณาในแง่นี้จะเห็นว่าอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์นั้นดูท่าจะหนักสุดทั้งในแง่รอยร้าวภายในพรรคและรอยร้าวกับฐานเสียงมวลชน เว้นเสียแต่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลุกขึ้นมาเล่นการเมืองแบบ ‘พลังดูด’ เหมือนที่ไทยรักไทยหรือพลังประชารัฐทำ เพื่อให้พรรคเติบโตและได้คะแนนเสียงที่นั่งมากขึ้น 

และอีกหนึ่งสิ่งที่เรายังไม่อาจคาดการณ์ได้ก็คือ ใช่ว่าประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยที่ถูกหมายหัวจากโซเชียลมีเดีย (ซึ่งเป็นฐานเสียงจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้) ว่าครั้งหน้าจะไม่เลือก จะสูญพันธ์ุไปจริงๆ เหตุการณ์ทางการเมืองของไทยอาจพลิกผันได้ทุกเมื่อ ไม่แน่ว่าในอนาคต หากเกิดเรื่องร้ายแรงซึ่งกระทำการโดยรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็อาจพร้อมที่จะเป็น ‘งูเห่า’ แต่เป็นงูเห่าดี ในนามเพื่อประเทศชาติ และประชาชนอะไรก็ว่ากันไป เพื่อพลิกจากพรรคที่ถูกสาปส่งมาสู่การเป็นพรรคฮีโร่อีกครั้งและสามารถกลับมาชนะใจมวลชนได้อีกครั้งก็เป็นไปได้ 

โฉมหน้าการเมืองไทยก็เพียงแต่เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ แต่ตัวละครเดิม เพราะหน้าตาว่าที่คณะรัฐมนตรีหลายคนในยุครัฐบาลใหม่นี้ก็แทบจะเป็นหน้าเดิมของคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ บางทีรอยร้าวที่ว่าถึงจะแตกหักก็ยังสามารถเก็บเศษขึ้นมาต่อกันใหม่ได้ในนามของผลประโยชน์ร่วมกัน 

Tags: , , , , , , ,