แผนกฉุกเฉินเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ผมยังสงสัยอยู่เลยว่าหลอดไฟเพดานที่ถูกเปิดตั้งแต่วันแรกย้ายมาอยู่ที่ตึกใหม่จะเคยดับลงบ้างรึเปล่า

มันส่องสว่างให้เห็น ‘ห้อง’ ฉุกเฉินซึ่งใหญ่จนน่าจะเรียกว่า ‘โถงฉุกเฉิน’ เสียมากว่า ถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน คือโซนผู้ป่วยวิกฤติ ที่ด้านหน้า และโซนสังเกตอาการ อยู่ด้านหลัง โดยมีเคาน์เตอร์ทำงานตั้งอยู่ตรงกึ่งกลาง

นอกจากประตูทางเข้าด้านหน้า ก็มีประตูทางด้านข้างด้วย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ถึงขั้นวิกฤติสามารถเดินหรือนั่งรถเข็นเข้ามาโซนด้านหลังได้โดยตรง ว่าแล้วประตูกระจกด้านที่ว่าก็ถูกดึงเปิดออกไป ขณะเดียวกันเวรเปล (พี่เจ้าหน้าที่เปล) ก็เข็นเปลคนไข้เข้ามา

“คนไข้หมดสติครับ” เขารายงานอินชาร์จ (พยาบาลหัวหน้าทีม) เพื่อตัดสินใจว่าจะให้เข็นคนไข้ไปไว้ตรงไหนต่อ ถึงจะไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่ก็มักจะแบ่งตามอาการ เช่น ถ้ารุนแรงมาก ก็ควรอยู่ใกล้เคาน์เตอร์ จะได้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือถ้าหอบเหนื่อยมาก็ต้องอยู่ใกล้กับท่อออกซิเจน

ผมเงยหน้าจากจอคอมพิวเตอร์มองตามหลังเวรเปลเห็นคนไข้นอนนิ่งอยู่ ไม่แน่ใจตัวเขียวหรือผิวคล้ำก็พูดทีเล่นทีจริงกับพยาบาลว่า “ยังมี pulse (ชีพจร) อยู่ใช่มั้ย” แต่พยาบาลก็เอาจริงคลำชีพจรให้ ทว่ากลับตอบด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจว่า “พี่ว่า… พี่คลำไม่ได้นะ”

ผมรีบลุกจากโต๊ะทำงาน เดินเข้าไปคลำชีพจรยืนยันอีกคน ก็เห็นตรงกัน จึงรีบบอกเวรเปลให้ “ย้ายโซนเลยครับ” เข็นคนไข้ไปยังอีกฝั่งของห้อง เพราะการคลำชีพจรไม่ได้ก็เท่ากับว่าหัวใจหยุดเต้น!

ทุกวินาทีคือความเป็น-ตาย

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก พอย้ายคนไข้ลงเตียงที่เตรียมไว้เสร็จ พี่เวรเปลก็ขึ้นปั๊มหัวใจต่อทันที ส่วนพยาบาลคนอื่นก็ผละจากเคสที่ตัวเองกำลังทำอยู่มาช่วยที่โซนวิกฤติกันหมด บางคนกำลังวัดความดันโลหิตอยู่ บางคนกำลังทำแผลอยู่ แต่ก็ต้องหยุดค้างไว้มาช่วยคนไข้รายนี้ก่อน

คนที่ 1 จับหน้ากากออกซิเจนครอบจมูกและปากของคนไข้ พร้อมกับบีบถุงอากาศเป็นจังหวะ… คนที่ 2 ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจลงบนหน้าอก… คนที่ 3 แทงเข็มเข้าเส้นเลือดที่ข้อพับไว้ให้น้ำเกลือและยากระตุ้นหัวใจ

พอคนที่ 2 ติดตั้งเสร็จแล้ว ก็หันมาเตรียมท่อช่วยหายใจยื่นให้ผม ซึ่งยืนถืออุปกรณ์งัดลิ้นรอพร้อมแล้วอยู่ตรงหัวเตียง

และยังมีคนที่ 4 เป็นคนจับเวลาและคอยจดบันทึก

การปั๊มหัวใจ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ’ หรือ CPR (cadiopulmonary resuscitation) เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งทั้งแบบพื้นฐานสำหรับคนทั่วไป และแบบขั้นสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์มีหลักการเหมือนกันคือ C – A – B

โดย C-chest compression คือการกดหน้าอกเป็นอย่างแรก เพื่อช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดแทนการทำหน้าที่ของหัวใจ จากนั้นค่อย  A-airway คือการเปิดทางเดินหายใจ และ B-breathing คือการช่วยหายใจให้มีการไหลเวียนของอากาศแทนการทำหน้าที่ของปอด ด้วยอัตราการกดหน้าอก 30 ครั้งต่อการผายปอด 2 ครั้ง

แต่การปั๊มหัวใจในโรงพยาบาลจะมีการใช้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ ยารักษาภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมโดยตรง รวมถึงการช็อคไฟฟ้าแบบที่หลายคนน่าจะเคยเห็นในละครด้วย

“ผมเคลียร์” พอเห็นคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผมรีบกดปุ่มชาร์จไฟฟ้า หยิบแผ่นปล่อยกระแสไฟมาวางทาบลงบนหน้าอก แล้วก้มดูว่าตัวผมไม่ได้แตะกับคนไข้

“คุณเคลียร์” เป็นการบอกทีม—พี่เวรเปลที่ปั๊มหัวใจและพยาบาลที่อยู่ช่วยเหลือรอบเตียงตรวจสอบว่าตัวเองไม่ได้สัมผัสกับตัวคนไข้

“ทุกคนเคลียร์” ผมมองรอบตัวคนไข้ซ้ำอีกครั้งว่าทุกคนถอยออกไปหมดแล้วถึงกดปุ่มช็อค

“ปั๊มต่อเลยครับ” การกดหน้าอก, การฉีดยา, การช็อคไฟฟ้าเป็นวงจรทำซ้ำคู่ขนานกันจนกว่าหัวใจคนไข้จะกลับมาเต้นเองอีกครั้ง

.

.

เวลาผ่านไป 10 นาที ความเหน็ดเหนื่อยเริ่มแสดงให้เห็นผ่านสีหน้าของเวรเปลซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องออกแรงมากที่สุดในทีม การกดหน้าอกเป็นจังหวะ 100-150 ครั้ง/นาทีติดต่อกันรอบละ 2 นาที ทำให้รู้สึกเหนื่อยไม่แพ้การวิ่งรอบสนามฟุตบอลเลย ในขณะที่ผลัดเปลี่ยนกันอยู่แค่ 2 คน ส่วนพยาบาล 3-4 คนก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนเดิมอย่างมีความหวัง

โดยทั่วไปการปั๊มหัวใจจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที หากคนไข้ไม่ตอบสนองก็จะถือว่า ‘เสียชีวิต’ เนื่องจากหากเกินกว่านี้นอกจากจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว ยังทำให้ร่างกายฟกช้ำและเสียชีวิตอย่างทรมาน และมีการศึกษาพบว่าคนไข้ที่ได้รับการปั๊มหัวใจนานเกิน 20 นาที จะมีโอกาสฟื้นกลับบ้านเพียง 5% เท่านั้น

“หมอออกไปแจ้งอาการกับญาติสักหน่อยดีไหม” พี่พยาบาลเสนอหลังจากที่ผมเพิ่งประเมินคนไข้ซ้ำหลังครบรอบการกดหน้าอกรอบล่าสุดไป “เป็น PEA (เครื่องตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ แต่หัวใจยังไม่เต้น) เผื่อญาติจะได้ปรึกษากันว่าจะให้ปั๊มต่อรึเปล่า”

.

.

คนไข้ยังไม่สูงอายุมาก แข็งแรงดีมาตลอด ในความหมายที่ว่าไม่เคยเจ็บป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล จึงไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน ถึงแม้จะ ‘ผ่านมาครึ่งทางแล้ว…’ แต่ยังไม่มีญาติคนไหนทำใจได้

ผมได้กลับเข้ามาพร้อมกับความคาดหวัง ซึ่งทันใดนั้นเองพี่พยาบาลคนที่ทำหน้าที่ฉีดยาก็พูดด้วยความตื่นเต้นว่า “หมอคะ… พี่คลำ pulse ได้แล้ว”

พี่เวรเปลหยุดปั๊มหัวใจ ผมรีบคลำชีพจรยืนยัน ถ้าตั้งใจสังเกตที่หน้าอกข้างซ้ายจะเห็นหน้าอกกระเพื่อมเป็นจังหวะการเต้นของหัวใจ!

ตุ๊บ… ตุ๊บ… เช่นกันกับหัวใจของผมที่เต้นแรงด้วยความตื้นตันใจ

เส้นแบ่งระหว่างความเป็น-ความตายบางยิ่งกว่าเส้นยาแดงผ่าแปด และไม่มีทางรู้ได้เลยจนกว่าคนที่อาจถือได้ว่าเสียชีวิตไปแล้วฟื้นกลับมาใหม่

ต่อจากนี้ต้องใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมง-วันกว่าคนไข้จะได้สติ และมีโอกาสที่หัวใจจะหยุดเต้นอีกครั้งได้ทุกเมื่อ คนไข้จึงได้รับการส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด

.

.

ผมกลับมานั่งเขียนใบรีเฟอร์ (ส่งต่อ) ตรงเคาน์เตอร์ ลำดับเหตุการณ์และสรุปการรักษาตั้งแต่แรกให้แพทย์ที่รับผิดชอบดูแลคนไข้ต่อ แต่ผมก็ยังเหลือบมองไปยังคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนหน้าจอเป็นพักๆ เกรงว่าหัวใจจะหยุดเต้นขึ้นมาอีก ทว่าเห็นเป็นเส้นสีเขียวขึ้นลงตามปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จนอดคิดไม่ได้ว่า ‘มนุษย์’ สามารถสวมบทบาท ‘พระเจ้า’ ได้สมจริงเหลือเกิน

ด้วยคุณสมบัติที่ช่างสังเกต ช่างจดบันทึก ช่างสงสัย ช่างทดลอง ช่างประดิษฐ์-คิดค้น กระทั่งรวบรวมเป็นองค์ความรู้ในการกู้ฟื้นคืนชีพเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาได้ และยังมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอด

อย่างตอนผมสอบการปั๊มหัวใจครั้งแรกตอนชั้นปีที่ 5 ยังเป็นฉบับปี 2010 ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือหลักการ C-A-B ในขณะที่ฉบับก่อนหน้าจะลำดับขั้นตอนเป็น A-B-C แต่พอก่อนเรียนจบก็มีการออกฉบับปรับปรุงปี 2015 ขึ้นมา ซึ่งมีความแตกต่างจากฉบับเดิมบางประเด็น เช่น อัตราการกดหน้าอกเพิ่มจาก 100 เป็น 100-120 ครั้ง/นาที

แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อจำกัดว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนคนไข้รายนี้ เพราะความตายยังคงเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

.

“ทำไมวันนี้ดูห้องมืดๆ” ผมเข้าไปในห้องฉุกเฉินด้วยความแปลกใจ เพราะทุกทีห้องนี้จะสว่างโร่ตลอดเวลา

“ก็หลอดไฟน่ะสิหมอ” พี่พยาบาลบอกพร้อมกับชี้ให้ผมมองไปที่เพดาน “เปิดไม่ติด” ก็คงจะหลอดขาด ผมสันนิษฐานในใจ แต่คงต้องรอช่างไฟปีนขึ้นไปวินิจฉัยอีกที ซึ่งถึงอย่างนั้นห้องฉุกเฉินก็ยังเปิด 24 ชั่วโมงอยู่วันยังค่ำ

Tags: , , , , ,