ภาพที่ 1 คุณหาจุดเสี่ยงสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 จุดได้หรือไม่?

ทุกคนที่เห็นภาพนี้แล้วก็คงนึกถึงอีกภาพคือตอนที่เด็กพลัดตกลงไปในน้ำแล้ว ภาพนี้ผมนำมาจากแบบทดสอบท้ายคำประกาศนโยบาย (Policy statement) การป้องกันการจมน้ำ ของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP: American Academy of Pediatrics) ซึ่งหลายคนน่าจะพอเดาได้แล้วว่าในภาพมีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง แต่พออ่านบทความนี้จบก็น่าจะจับผิดภาพได้มากขึ้นอีก

แม้ทางสมาคมฯ ได้ประกาศคำแนะนำนี้มาตั้งแต่ปี 2010 และใช้มาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศปรับปรุงเพิ่มเติมอีก และปัญหาเด็กจมน้ำก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กทั้งโลกเป็นอันดับต้นๆ โดยข้อมูลในอเมริกาเผยว่า กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือวัยเตาะแตะอายุน้อยกว่า 4 ปี และวัยรุ่นผู้ชายอายุ 15-19 ปี

ประเด็นสำคัญ 3 ประการ

คำแนะนำในการป้องกันเด็กจมน้ำของสมาคมฯ ที่ในปี 2010 มีประเด็นสำคัญที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมจากเดิม 3 ประการ ได้แก่

  1. การติดในท่อระบายน้ำและการติดพันของเส้นผม ระหว่างปี 1990-2004 มีกรณีเด็กลงเล่นน้ำแล้วแหย่มือหรือเท้าเข้าไปในท่อระบายน้ำจนอวัยวะบวมติดอยู่ในนั้น 74 ครั้ง และผมของเด็กผู้หญิงพันติดเข้าไปในท่อสูบน้ำจำนวน 43 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ 12 รายเสียชีวิต เจ้าของสระว่ายน้ำจึงควรป้องกันด้วยการใช้ฝาปิดท่อระบายชนิดพิเศษ หรือระบบดูดน้ำที่ปลอดภัย (SVR: Safety Vacuum Release Systems)
  2. สระน้ำเป่าลมชนิดพกพา ในปี 2004-2006 มีเด็กอเมริกาเสียชีวิตจากสระน้ำแบบนี้ 47 ราย เนื่องจากสระน้ำถูกตั้งทิ้งไว้โดยยังมีน้ำเติมอยู่เป็นสัปดาห์หลังจากใช้งานเสร็จ เด็กจึงอาจลงไปเล่นโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล และขอบยางที่อ่อนอาจทำให้เด็กพลัดตกลงไปได้ง่าย
  3. การเรียนว่ายน้ำ สมาคมฯ ไม่แนะนำให้เด็กเรียนว่ายน้ำจนกว่าจะมีอายุครบ 4 ขวบ เนื่องจาก (1) ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าการเรียนว่ายน้ำในเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ช่วยป้องกันการจมน้ำได้  (2) มีความกังวลว่าจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการเล่นใกล้แหล่งน้ำโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย และ (3) มีหลักฐานว่าการเริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุยังน้อยไม่พัฒนาทักษะการว่ายน้ำให้ดีขึ้น

และขอย้ำว่าสำหรับเด็กทุกช่วงอายุ การเรียนว่ายน้ำไม่ใช่การป้องกันการจมน้ำ (drowning-proofing) เพราะเป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่ใช้ป้องกันการจมน้ำซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การป้องกันการจมน้ำต้องใช้หลายๆ มาตรการร่วมกัน และการว่ายน้ำเป็นใน ‘สระว่ายน้ำ’ ไม่ได้รับรองความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำใน ‘แหล่งน้ำธรรมชาติ’

คำแนะนำที่สำคัญอีก 6 ข้อ

คำแนะนำของสมาคมฯ มีด้วยกันทั้งหมด 14 ข้อ ซึ่งรวม 3 ข้อที่ผมพูดถึงไปแล้ว จึงขอเลือกเฉพาะข้อที่เห็นว่าสำคัญอีก 6 ข้อมาเขียนเตือนผู้อ่านนะครับ

  1. ผู้ปกครองและพี่เลี้ยงไม่ควรปล่อยเด็กให้อยู่คนเดียวหรืออยู่กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่าแม้แต่วินาทีเดียว ในขณะที่อยู่ในอ่างอาบน้ำ ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ สระน้ำที่เด็กเดินได้ เนื่องจากที่นั่งอาบน้ำอาจพลิกคว่ำ และต้องป้องกันไม่ให้เด็กเข้าห้องน้ำโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย รวมถึงในขณะที่อยู่ใกล้ท้องร่องหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากเด็กอาจลื่นไถลลงไปได้
  2. เมื่อเด็กเล็กหรือเด็กที่ว่ายน้ำไม่แข็งเล่นอยู่ในน้ำ ต้องมีผู้ปกครองที่ว่ายน้ำเป็นอยู่ในน้ำด้วยในระยะที่เอื้อมถึง (touch supervision) และถึงแม้จะเป็นเด็กโตหรือเด็กที่ว่ายน้ำคล่องแล้ว ก็ไม่ควรละสายตา (eye supervision) จากเด็ก ผู้ปกครองจึงต้องไม่ทำกิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การคุยโทรศัพท์ การสังสรรค์ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ในกรณีที่มีสระว่ายน้ำหรือสระน้ำในบริเวณบ้าน ควรมีรั้วกั้นสระน้ำ โดยสร้างรั้วตาม ‘กฎเลข 4’ ที่กำหนดขึ้นมาให้จำง่าย ได้แก่ เป็นรั้วกั้นทั้ง 4 ด้าน สูงอย่างน้อย 4 ฟุต (1.2 เมตร) ช่องที่ด้านล่างที่ติดกับพื้นกว้างไม่เกิน 4 นิ้ว (10 ซม.) และช่องระหว่างซี่รั้วกว้างไม่เกิน 4 นิ้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้รั้วแบบตาข่ายถัก (chain-link fence) เนื่องจากเด็กสามารถไต่ขึ้นได้ แต่ให้ใช้เป็นรั้วเหล็กเส้น (iron-bar fence) แทน ที่สำคัญ ประตูรั้วควรปิดและสลักกลอนได้เอง และกลอนควรอยู่สูงจากพื้น 54 นิ้ว (1.3 เมตร)

ภาพที่ 2 รูปใดเหมือนสระว่ายน้ำในสวนหลังบ้านของคุณมากที่สุด?

  1. ผู้ปกครอง พี่เลี้ยงเด็ก และเจ้าของสระว่ายน้ำควรเรียนวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR: cardiopulmonary resuscitation) จัดหาโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่สำคัญเตรียมไว้ที่สระน้ำ เช่น ทุ่นช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ไม้เกี่ยว (Shepherd’s crook) สำหรับใช้ดึงเด็กที่กำลังจมน้ำขึ้นมา สำหรับโรงเรียน ควรมีการเรียนการสอนเรื่อง CPR ให้กับเด็กโตและวัยรุ่น
  2. ขณะอยู่บนเรือ เด็กควรได้รับการสวมอุปกรณ์ช่วยลอยตัวส่วนตัว (PFD: personal floatation devices) สำหรับเด็กเล็กหรือเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น ควรได้รับการสวม PFD แม้กระทั่งตอนอยู่ที่ท่าเรือ หรือริมฝั่งแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้เครื่องช่วยลอยตัวที่มีการเติมอากาศ เช่น ปลอกแขนชนิดเป่าลม เนื่องจากลมสามารถรั่วจนแฟบได้ และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยในการว่ายน้ำ
  3. การกระโดดหรือดำน้ำมีโอกาสได้รับบาดเจ็บได้ ผู้ปกครองควรทราบความลึกของน้ำและสภาพพื้นที่ใต้น้ำก่อนที่จะอนุญาตให้บุตรหลานกระโดดหรือดำน้ำได้ โดยส่วนที่สัมผัสน้ำได้เป็นอย่างแรกคือเท้า (feetfirst)

 

มาตรการของไทย

ข้อมูลของไทยพบว่า ทุกวันจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน กลุ่มเสี่ยงคือเด็กอายุ 5-9 ปี และช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมจะเป็นช่วงที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนและเป็นฤดูร้อน เด็กจึงชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม

ประเด็นที่น่าสนใจ (ในทางสถิติ แต่ในความเป็นจริงควรน่าสลดใจ) คือในปี 2560 มีเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปีจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 140 คน และมักจมน้ำในภาชนะภายในบ้าน เช่น ถัง กะละมัง โอ่ง ดังนั้นผู้ปกครองและพี่เลี้ยงเด็กจึงต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและใส่ใจดูแลเด็กตลอดเวลา

ภาพที่ 3 คำแนะนำป้องกันการจมน้ำและการช่วยเหลือคนจมน้ำของไทย

สำหรับมาตรการป้องกันของไทยดำเนินการตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ได้แก่

  1. จัดให้มีสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ซึ่งต้องอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ จึงมีคำแนะนำให้ผู้ปกครองสอนเด็กว่า “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ซึ่งหมายความว่าอย่าเดินใกล้แหล่งน้ำ อย่าเดินตามสัตว์ลงไปในน้ำ อย่าเก็บสิ่งของหรือของเล่นที่ตกลงไปในน้ำ และอย่าก้มหรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ
  2. ติดตั้งเครื่องกีดขวาง รั้ว หรือคอกกั้นเด็ก เพื่อป้องกันการเข้าถึงแหล่งน้ำ เป็นที่มาของโครงการ 1 ครัวเรือน 1 คอกกั้นเด็ก (playpen) ช่วยป้องกันเด็กเล็กจมน้ำ
  3. สอนเด็กวัยเรียนอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไปให้ว่ายน้ำเป็น และมีทักษะด้านความปลอดภัยทางน้ำ ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรทำให้ยังไม่สามารถกำหนดหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดลงในหลักสูตรภาคบังคับ แต่บางโรงเรียนจัดโครงการสอนว่ายน้ำเองหรือร่วมมือกับองค์กรอื่น เช่น ยูนิเซฟ (UNICEF)
  4. สร้างความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาวะปกติและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
  5. ฝึกให้ผู้เห็นเหตุการณ์รู้จักวิธีให้การช่วยเหลือและกู้ชีพที่ปลอดภัย โดยมีขั้นตอนที่จำง่ายคือ “ตะโกน โยน ยื่น” หมายถึงเมื่อพบคนตกน้ำ ขั้นแรกให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ จากนั้นโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ถังแกลอนพลาสติกเปล่าให้จับ หรือยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เชือก เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า เข็มขัด แล้วสาวไม้ดึงเข้าหาฝั่ง
  6. กำหนดและบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือ การขนส่งทางน้ำ และการโดยสารเรือข้ามฟาก

ในระดับนโยบายมีโครงการ บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ให้ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำและมีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ส่วนชุมชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การสร้างรั้วหรือติดป้ายเตือน การจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมถึงโครงการ “ผู้ก่อการดี (Merit Maker)” ซึ่งให้ชุมชมสร้างทีมเครือข่ายขึ้นมาเพื่อดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในพื้นที่ที่มีอัตราการจมน้ำสูง โดยในปี 2561 มีทีมครอบคลุม 444 อำเภอ รวม 69 จังหวัดแล้ว

เฉลย

กลับมาที่ภาพแรก (อนุญาตให้เลื่อนกลับไปดูภาพอีกรอบครับ) จะพบจุดเสี่ยงทั้งหมด 5 จุดด้วยกัน ได้แก่ (1) ประตูถูกเปิดทิ้งไว้ ควรเปลี่ยนเป็นประตูที่ปิดได้เองและลงกลอนได้เองด้วย (2) ลูกบอลและของเล่นดึงดูดให้เด็กลงไปที่สระน้ำ (3) ม้านั่ง เพราะเด็กสามารถปีนม้านั่งข้ามรั้วเข้าไปในสระได้ จึงควรย้ายเข้าไปตั้งภายในรั้วแทน (4) ไม่ควรมีแก้วหรือของที่แตกง่ายอยู่ในบริเวณสระน้ำ และ (5) รั้วตาข่าย เพราะเด็กสามารถปีนเข้าได้

ส่วนภาพที่ 2 เฉลยข้อ ก. และข. เพราะมีการสร้างรั้วกั้นแยกตัวบ้าน สวนและสระน้ำออกจากกันชัดเจน คงไม่ง่ายเกินไปใช่มั้ยครับ เพราะภาพนี้ผมก็ดัดแปลงมาจากคำถามท้ายประกาศเช่นกัน

อ่านจบแล้ว… หวังว่าทุกท่านจะได้นำคำแนะนำจากสมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกา และมาตรการของไทยไปดูแลลูกหลานที่บ้านตลอดปิดภาคเรียนนี้นะครับ

Tags: ,