ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนมีกล้องดิจิทัล ทุกคนกูเกิลสิ่งที่อยากรู้ได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีได้ แค่นี้พวกเราก็เหมือนเป็นไซบอร์กไปครึ่งตัวแล้ว

คือคำบอกเล่าของ ‘ธนัช ตั้งสุวรรณ’ ศิลปินรุ่นใหม่วัย 25 ปีที่ทำให้เราอยากจะชวนทุกคนเดินทางเข้าไปสำรวจแง่มุมความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ของผู้ชายคนนี้ในงาน Exhibition “Corruption” by Dhanut Tungsuwan นิทรรศการเดี่ยวในประเทศไทยครั้งที่ 3 ของเขาซึ่งอัดแน่นไปด้วยความหลงใหลและความตั้งใจที่จะสื่อสารเรื่องราว ‘ความวิบัติ’ ของการรับข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตและโลกดิจิทัล ที่ถึงแม้จะมากไปด้วยประโยชน์ที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาความรู้และความสามารถไปได้ไกลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ข้อมูลและความรู้สึกมากมายสูญหายไประหว่างกระบวนการอัปโหลดและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว

ธนัชเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านชุดภาพจิตรกรรมเหนือจริงที่รวบรวม ‘ความวิบัติ’ แบบต่างๆ ในสายตาของเขาเอาไว้ และร้อยเรียงให้กลายเป็นเสมือนนิตยสารไซไฟที่เขาอยากให้ทุกคนไม่ใช่แค่อ่าน แต่ได้ใช้ ‘ความคิด’ ในการค้นหาความหมายของแต่ละภาพอย่างระแวดระวัง

Corruption เกิดขึ้นจากอะไร

มันเริ่มมาจากความสนใจส่วนตัวของผมก่อนเลย เพราะผมรู้สึกว่าพวกเราทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกว่าวิธีที่ผมอ่านข้อมูลและเก็บข้อมูลในหัวมันไม่เหมือนเดิม เรามีข้อมูลให้เสพเยอะขึ้น หลากหลายขึ้น แต่ทุกอย่างมันรวดเร็วและสะท้อนถึงความสนใจของมนุษย์ที่สั้นลงอย่างเห็นได้ชัด

ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่ ที่มันเป็นแบบนั้น และผมเชื่อว่ามันเป็นอะไรที่ทุกคนต้องสนใจ เพราะไม่ใช่แค่ในอนาคต แต่ในปัจจุบันยังไงเราก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลพวกนี้ ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนมีกล้องดิจิทัล ทุกคนกูเกิลสิ่งที่อยากรู้ได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถมีชีวิตโดยการไม่พึ่งพาเทคโนโลยีได้ แค่นี้พวกเราก็เหมือนเป็นไซบอร์กไปครึ่งตัวแล้ว

เราจะได้เห็นอะไรใน Corruption

จริงๆ แล้วผมมองงานนี้เป็นแม็กกาซีนไซไฟในยุค 70s มันมีเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องในแต่ละรูปภาพมาอยู่รวมกันอย่างไม่มีแบบแผน และมันก็จะถูกขั้นด้วยรูปภูเขาพวกนี้ที่ผมตั้งใจวางแทรกเอาไว้ เพื่อให้มันเปรียบเสมือนเป็นโฆษณาในยุคดิจิทัล ที่เวลาเรากำลังอ่านข้อมูลบางอย่าง มันก็มักจะมีอะไรบ้าๆ มาขั้นอยู่ตลอด เป็นโฆษณาที่อาจจะสวยแต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ส่วนในแต่ละรูปที่เป็นตัวเนื้อหา มันก็จะมีเรื่องราวที่ผมตั้งใจอยากจะบอกถึงผลกระทบของเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่มันมีต่อมนุษย์ซ่อนอยู่

อย่างรูปหมาที่มันนอนอยู่หน้ากองไฟ ถ้าดูผ่านๆ อาจจะไม่รู้ว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ แต่จริงๆ สตอรี่ของมันคือโลกในยุคที่มี AI คอยทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ แล้วคนซึ่งเป็นเจ้าของหมาตัวนี้ก็สั่ง AI ให้ช่วยป้อนอาหารให้หมาหน่อย แต่ปรากฎว่าด้วยความฉลาดของ AI ที่มันคำนวณออกมาจนรู้ว่าหมาตัวนี้กำลังจะตายในอีก 2 ปี เพราะมันอายุเยอะแล้ว แทนที่จะให้อาหาร AI เลยเปลี่ยนไปเอาไฟฟ้าช็อตให้หมาตัวนี้ตายซะเลย เพื่อให้ไม่เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรเพราะให้ไปมันก็จะตายอยู่ดี ภาพอื่นๆ มันก็พูดถึงอะไรคล้ายๆ กัน โดยมีจุดร่วมอยู่ตรงการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีที่มันฉลาดและรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ระบบประมวลผลของมันกลับแตกต่างจากความคิดและความรู้สึกของมนุษย์

ขอบเขตของคำว่า Corruption ในความหมายของคุณคืออะไร

Corruption ในที่นี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องการบิดเบือนข้อมูล แต่มันคือการบิดเบือนของเจตนารมย์ (intention) ในการใช้ชีวิตของเรามากกว่า อย่างเช่นที่อินเตอร์เน็ตมันทำให้เราติดต่อกันง่ายขึ้น มีข้อมูลเยอะขึ้น แต่จริงๆ มันกลับทำให้คนเหงาและห่างเหินจากกันมากขึ้น เพราะทุกอย่างมันง่าย มันเลยมาแทนที่สิ่งที่ลำบากกว่าอย่างการออกมาเจอกัน พูดคุยกันแบบตัวเป็นๆ มันเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของเราไปเลย

เมื่ออินเทอร์เน็ตหรือโลกดิจิทัลมันฟังดูมีผลกระทบในแง่กับมนุษย์ขนาดนี้ คุณยังอยากให้โลกมีมันอยู่ไหม?

อยากครับ เพราะแง่ร้ายในที่นี้มันเป็นแง่ร้ายที่มาจากมุมมองของผู้คน แต่ผมเชื่อว่าหุ่นยนต์มันจะเป็น next step of evolution ถ้าเราอยากอยู่รอดในโลกนี้ได้ เราอยากไปกาแล็กซี่อื่น เราต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ดีและน่าค้นหานะ ผมเลยเลือกทำงานเกี่ยวกับด้านที่ไม่ดีของมันบ้างเพื่อเป็นการบาลานซ์ความเข้าใจของคน

แล้วในฐานะมนุษย์ที่ต้องเสพสื่อเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เราควรปฏิบัติตัวยังไงเพื่อให้ผลกระทบในทางลบของมันส่งผลกับเราน้อยที่สุด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องอย่าลืม ‘คิด’ ครับ ความคิดมันมีหลายระดับ แต่ด้วยข้อมูลที่เยอะแยะมากมายและวิธีที่เราถูกบังคับให้เสพ เราเลยไม่ได้ไปใส่ใจกับมันขนาดนั้น เราก็อาจจะคิดแค่ระดับ 1 หรือ 2 อย่างเช่นเวลาเห็นรูปในอินสตาแกรม เราคิดว่า รูปนี้สวย ได้ 1,000 ไลค์ อีกรูปนึงก็สวย อันนี้ได้ 10,000 ไลค์ แต่จริงๆ แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่ทำให้คนเราชอบรูป 10,000 ไลค์มากกว่า อะไรคือความแตกต่างของมัน คนเราไม่ค่อยได้คิดไปถึงขั้นนั้น ไม่ต้องคิดให้ลึกหรือยากก็ได้ แต่คิดหน่อยว่าทำไมเราถึงชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เชื่ออะไร ไม่เชื่ออะไร และในสิ่งต่างๆ มันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่

ตามไปชมนิทรรศการของ ธนัช ตั้งสุวรรณ ได้ที่

Exhibition “Corruption” by Dhanut Tungsuwan ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2562

CASE Space Revolution ชั้น 2 ของร้าน Broccoli Revolution สุขุมวิท 49

หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/403289307180541/