ประชุมสหประชาชาติ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ หลังดำเนินมาตั้งแต่ 31 ตุลาคม ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่รวมผู้นำโลกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า 120 ประเทศ มาถกเถียงหาหนทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน ชวนย้อนดูกันว่าไฮไลต์การประชุม COP26 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอะไรน่าจับตามองบ้าง (สามารถอ่านความคืบหน้าของการประชุม COP26 ก่อนหน้านี้ได้ทาง https://themomentum.co/g20-to-cop26/)
เริ่มด้วยการที่กว่า 100 ประเทศตกลงเข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 ขณะจีน รัสเซีย และอินเดีย ไม่ได้เข้าร่วม ตามมาด้วยการลงนามยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในทศวรรษ 2030 ที่มีผู้ลงนามกว่า 40 ประเทศ แต่กลุ่มประเทศที่พึ่งพาถ่านหินมากที่สุดอย่างจีน, สหรัฐฯ, อินเดีย และออสเตรเลีย ไม่ได้ลงนามด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากภาคการดูแลสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 5% ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 42 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี จึงกล่าวว่าพวกเขาจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วทั้งภาคการดูแลสุขภาพ โดย 12 ประเทศให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้เป็นศูนย์ก่อนปี 2050
ขณะประเทศในแอฟริกาที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกน้อยกว่า 4% แต่ได้รับผลกระทบจากการภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุด ต้องการให้ COP26 เปิดการอภิปรายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องข้อตกลงทางการเงินขนาดใหญ่ที่จะเริ่มให้เงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป สำหรับช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2009 ประเทศร่ำรวยเคยสัญญาจะส่งมอบเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีให้พวกเขา แต่จนถึงปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงที่สัญญาไว้เพียง 80% เท่านั้น
ความคืบหน้าเล็กน้อยของการประชุม COP26 ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาวิจารณ์ว่านี่เป็นเพียงการประชุมปาหี่ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 พฤศจิกายน 2021) ผู้ประท้วงกว่าแสนคนจึงไปรวมตัวกันที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เพื่อเดินขบวนเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างจริงจัง ทั้งยังมีการประท้วงในพื้นที่อื่นของโลก เช่น ลอนดอน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส โดยการประท้วงที่กลาสโกว์ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนดังชาวสวีเดนขึ้นกล่าวกับฝูงชนว่า
“มันไม่ใช่ความลับที่ว่า COP26 เป็นความล้มเหลว และมันชัดเจนว่าเราไม่สามารถแก้ไขวิกฤตด้วยวิธีการเดียวกับที่พาเราเข้ามาอยู่ในวิกฤตตั้งแต่แรก เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีลงทันที…ผู้มีอำนาจสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปในฟองสบู่ที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน เช่น การเติบโตชั่วนิรันดร์บนดาวเคราะห์ที่มีขอบเขตจำกัดอย่างโลก และการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีที่อยู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาอย่างไร้จุดหมาย และจะลบล้างวิกฤตเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้ง่ายๆ ในขณะที่โลกกำลังลุกเป็นไฟ และในขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่แนวหน้ายังคงเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง”
เธออธิบายด้วยว่า COP26 ไม่ได้เป็นการประชุมด้านสภาพอากาศอีกต่อไป แต่เป็นเทศกาล ฟอกเขียวโลก (Greenwashing) “เป็นการเฉลิมฉลองธุรกิจที่ยาวนานถึง 2 สัปดาห์ตามปกติ และบลาบลาบลา เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และสร้างช่องโหว่เพื่อประโยชน์ของตนเอง” ธันเบิร์กกล่าว
สำหรับไฮไลต์อื่นในการประชุม COP26 ช่วงครึ่งหลัง คงต้องยกให้คลิปวีดีโอของ ไซมอน โคเฟ (Simon Kofe) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของตูวาลู ที่ผูกไท ใส่สูท พับขากางเกง ยืนกล่าวสุนทรพจน์อยู่กลางทะเล เพื่อเน้นย้ำว่าประเทศของตนเป็นแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับปัญหาระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตสภาพอากาศ และตูวาลูกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คลิปวีดีโอดังกล่าวถูกแชร์ต่อบนโซเซียลมีเดียจำนวนมาก จนทำให้ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ บนมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้เป็นที่รู้จักทันที
การกล่าวสุนทรพจน์อีกคนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดความตกลงปารีส ปี 2015 ที่ตั้งเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
โอบามากล่าวถึงความคืบหน้าของ COP26 ว่า เราไม่ได้เข้าใกล้จุดที่จำเป็นต้องไปให้ถึง วิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าอันตรายจากภาวะโลกร้อนรุนแรงมากกว่าที่เราคิด แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังขาดความทะเยอทะยานที่จะแก้ไขปัญหานี้ พร้อมวิจารณ์จีนและรัสเซีย สองประเทศในกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่ส่งผู้นำมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นท่าทีไม่รีบร้อนในการแก้ไขปัญหา
อีกทั้งโอบามายังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวในหมู่เยาวชนด้วยว่า “ถึงคนหนุ่มสาวทุกคน ผมต้องการให้คุณคงความโกรธ ผมต้องการให้คุณคงความท้อแท้เอาไว้ แต่ระบายความโกรธและใช้ประโยชน์จากความท้อแท้นั้นด้วยการพยายามผลักดันให้มากขึ้น และมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเผชิญกับความท้าทายเหล่านั้น เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น”
เหลือเวลาอีกไม่มากสำหรับการประชุม COP26 วาระใหญ่ของโลกที่ตอนนี้ดูเหมือนจะยังไม่ใช่ใหญ่จริงในสายตาผู้นำ แต่ก่อนจะถอดใจ คงต้องรอดูต่อไปว่าพวกเขาจะมีข้อตกลงน่าชื่นใจอะไรทิ้งทวนก่อนปิดการประชุมหรือไม่
ที่มา:
– https://www.nytimes.com/2021/11/08/climate/emissions-climate-change.html
– https://www.bbc.com/news/science-environment-59210395
– https://www.bbc.com/news/uk-scotland-glasgow-west-59165781
Tags: climate change, COP26, Environment