สัปดาห์นี้นับเป็นช่วงเวลาสำคัญเกี่ยวกับการหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หนึ่งในวาระเร่งด่วนของโลก เริ่มด้วยการประชุมของผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประชุมสหประชาชาติ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน โดยมีผู้นำโลกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งหมด 120 ประเทศ เข้าร่วมงานมากกว่า 2.5 หมื่นคน 

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 80% ของโลก ทว่าการประชุม ณ กรุงโรมก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5  องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสได้ มีเพียงการเห็นพ้องให้ประเทศพัฒนาแล้ว ยกเลิกเงินอุดหนุนสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีผลต่อ จีน รัสเซีย และอินเดีย แต่บรรดาผู้นำกลุ่ม G20 กลับไม่เห็นด้วยที่จะยุติการผลิตถ่านหินในประเทศตัวเอง และมีเพียง 12 ประเทศเท่านั้นที่สัญญาว่าจะลดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 

การประชุมยังมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจัดเก็บภาษี 15% ในบริษัทขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี คาดว่ากฎหมายนี้จะบังคับใช้ภายในปี 2023 พร้อมตกลงจะเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนราว 1 แสนล้านดอลลาร์ ต่อปีเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไปจนถึงปี 2025 

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างแสดงความผิดหวังต่อการประชุม G20 เพราะข้อตกลงคล้ายกับที่ประเทศต่างๆ เคยให้สัญญาไว้ในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015 จึงไม่มั่นใจว่าการเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อมใน COP26 จะคืบหน้าขนาดไหน เพราะการตัดสินใจในการประชุม G20 ล้วนมีผลต่อความสำเร็จของการประชุม COP26 

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ของสหราชอาณาจักร ยอมรับว่าการประชุม COP26 เพื่อหาหนทางดำเนินการตามเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นเรื่องยาก มีโอกาสสำเร็จเพียง 6 ต่อ 10 เท่านั้น แต่หากปราศจากการกระทำที่กล้าหาญ อารยธรรมโลกอาจล่มสลายอย่างรวดเร็วเหมือนจักรวรรดิโรมันโบราณ และเข้าสู่ยุคมืดครั้งใหม่

ในการประชุม COP26 ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจอย่าง ‘จีน’ ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจีนเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่ที่สุดในโลก แต่เนื่องจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมงานได้ เขาจึงแถลงผ่านทางวีดีโอว่าจีนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอยู่ระดับสูงที่สุดให้ได้ก่อนปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 พร้อมสัญญาจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในปี  2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 

ส่วนอินเดีย ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2070 ซึ่งช้ากว่าที่ประเทศพัฒนากำหนดไว้ปี 2050 ถึง 20 ปี

นอกจากนี้ ผู้นำกว่า 100 ประเทศ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่มีพื้นที่ป่าครอบคลุม 85% ของโลก เพิ่งให้คำมั่นว่าพวกเขาจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ภายในปี 2030 แต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่าเคยมีความร่วมมือลักษณะนี้มาก่อนในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests) เมื่อปี 2014 แต่ไม่สามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าได้เลย

สำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงบนเวทีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมระบุว่าไทยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อย 7% ภายในปี 2020 โดยในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 17% ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า

แต่เครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมไทยมองว่าอีกเป้าหมายหนึ่งของไทยที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 ของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤต ควรตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 มากกว่า

รายงานล่าสุดจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP) ชี้ให้เห็นว่าคำมั่นสัญญาและแผนดำเนินงานที่ประเทศต่างๆ นำเสนอไว้เมื่อปี 2015 อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสอีกต่อไป เพราะศตวรรษนี้ โลกกำลังจะร้อนขึ้นประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส และก่อให้เกิดก่อหายนะทางสิ่งแวดล้อมมหาศาลตามมา เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกเอาไว้ แต่ละประเทศมีเวลาเพียง 8 ปี เท่านั้นในการวางแผน วางนโยบาย และดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงครึ่งเดียว 

ระหว่างการประชุมทั้ง 2 ครั้ง ด้านนอกกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้เดินขบวนไปตามท้องถนนตามเมืองใหญ่ต่างๆ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม รวมถึงเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ 

เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 18 ปี แม้จะไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที COP26 แต่เธอก็เดินทางมาเข้าร่วมการประท้วงที่กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร และไปสบทบในเมืองกลาสโกว์ ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่มารอต้อนรับ 

ธันเบิร์กยังขอให้ผู้ติดตามทวิตเตอร์ของเธอหลายล้านคนลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อกดดันผู้นำให้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเร่งด่วนที่สุด “ในฐานะพลเมืองทั่วโลก เราขอแนะนำให้คุณเผชิญหน้ากับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ไม่ใช่ปีหน้า ไม่ใช่เดือนหน้า แต่เป็นตอนนี้” เธอโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัว 

การประชุม COP26 ที่กำลังดำเนินอยู่จึงเป็นความหวังของคนรุ่นหลังที่ฝากเอาไว้ในมือของเหล่าผู้นำ ก่อนจะถึงวันสิ้นสุดการประชุม ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายความหวังของเราจะถูกบดขยี้ หรือได้รับการสานต่อ 

ที่มา: 

https://www.bbc.com/news/world-59109186

https://www.bbc.com/news/world-59101218

https://www.bbc.com/thai/international-59121888

https://www.bbc.com/news/science-environment-59049770

https://www.reuters.com/world/global-climate-talks-open-cries-betrayal-blame-2021-11-01/

https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/01/cop26-xi-jinping-china-president-sidesteps-videolink-written-statement

https://www.theguardian.com/environment/2021/oct/31/cop26-summit-at-serious-risk-of-failure-says-boris-johnson

Tags: , , ,