จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ขอให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่
วันนี้ (8 พ.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา โดยมีมติว่าวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยกล่าวว่า แม้บทบัญญัติ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 มีการบัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 เป็นแต่เพียงวิธีการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ คิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยกำหนดวิธีการคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบ 150 คนดังปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแล้ว จึงวินิจฉัยว่า พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า มติดังกล่าว จะส่งผลให้การคิดคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้เป็นดุลยพินิจของ กกต.
โดย กกต. สามารถใช้สูตรใดก็ได้ในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งหากพิจารณาจากประเด็นข่าวก่อนหน้านี้จะพบว่า กกต. ใช้การคำนวณโดยคิดแบบเอาเศษไปกระจายให้กับพรรคที่มีคะแนนเสียงต่ำกว่า 71,057.4980 คะแนน หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นำมาคำนวณ ส.ส. พึงมีหนึ่งคน
ดังนั้นหาก กกต. ยังยึดสูตรคำนวณเดิม มติของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะส่งผลให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อถึง 27 พรรคการเมือง ซึ่งทำให้มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 71,057.4980 คะแนน จำนวน 14 พรรคที่ได้ที่นั่งไป 1 ที่นั่ง โดยพรรคที่ได้คะแนนต่ำสุดที่ 27,799 เสียง ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไป 1 ที่นั่ง และการคิดคำนวณครั้งนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่อาจยกข้อโต้แย้งว่าขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องคะแนนดิบของ ส.ส. พึงมีได้อีก
Tags: ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์, กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, เลือกตั้ง62, ผู้ตรวจการแผ่นดิน