วันนี้ (18 ก.ย. 2562) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’
คำวินิจฉัยยนี้เกิดจากคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยในคำร้องกล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาถือเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ เพราะเป็นหัวหน้า คสช. จึงไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ที่ระบุว่ารัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งในมาตรา 98 (15) เขียนไว้ว่า ต้องไม่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ“
โดยในคำวินิจฉัยของศาลกล่าวว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานอื่น และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 โดยในข้อ 10 มีการบัญญัติเรื่องการ ‘ห้ามวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริต’ และมีคำว่า ‘บิดเบือนข้อเท็จจริง’ ซึ่งเขียนไว้ว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคําสั่งหรือคําวินิจฉัยของศาล หรือวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย”
โดยจะมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือในวันที่ 17 ตุลาคม 2562
ทั้งนี้ เว็บไซต์ไอลอว์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 โดยในข้อ 10 มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกับมาตรา 38 วรรคสาม ของพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ แต่ในพ.ร.ป.กำหนดว่า
“การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล”
ซึ่งผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อาจยกมาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่ตัวเองถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/thailand-49724202
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10162477316375551
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/097/T_0012.PDF
ภาพ : Reuters/Soe Zeya Tun
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ