เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลวินิจฉัยกรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนใน ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2563 ของ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นายสมบูรณ์ ชารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สุมทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ โดยมีมติ ‘ไม่โมฆะ’ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับดังกล่าว ด้วยมติ 5 ต่อ 4 แต่ให้ลงคะแนนใหม่ในวาระ 2 และ 3 

ปมในกรณีเกิดขึ้นเมื่อ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส. พัทลุงและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดประเด็นว่า มี ส.ส. สองคนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม แต่กลับมีชื่อลงมติรับร่าง พรบ. งบประมาณ 63 ซึ่งได้แก่ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ที่อ้างว่าเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อไปร่วมงานวันเด็ก และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่อ้างว่าเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนประเด็นการเสียบบัตรแทนของ ภริมและสมบูรณ์นั้นเกิดจากกรณีที่สื่อมวลชนจับภาพการเสียบบัตรแทนได้พอดี

ต่อมา ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 90 คน ได้ยื่นเรื่องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ส่งความเห็นของ ส.ส. ต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563  ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์กรพิทักรัฐธรรมนูญ ได้เดินทางไปร้องเรียนแก่ ป.ป.ช. ในพฤติกรรมของ 4 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลว่าอาจเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 การก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น และอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 และเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 8 ในประเด็นที่ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ ซึ่งหาก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาข้างต้น ก็อาจนำไปสู่การสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ส.ส. ทั้งสี่คนได้

ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 ท่ามกล่างสภาพการณ์ของการเมืองไทยที่คุกรุ่น และความพยายามผลักดันร่าง พรบ. เงินกู้สองล้านล้านเพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของพรรคเพื่อไทย เกิดกรณี นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทยในเวลานั้น ทำการเสียบบัตรแทน ส.ส. คนอื่นซึ่งไม่ได้มาร่วมประชุม จึงเป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าร่าง พรบ. ฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยต่อมาในปี 2559 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนริศรเข้าข่ายมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 และ 123/1 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นที่ว่า แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน 

อ้างอิง:

https://www.thairath.co.th/news/politic/1766088

https://www.isranews.org/isranews-scoop/84753-isranews-84753.html

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865406