สหภาพยุโรปเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่เชื่อมโยงกับเอเชีย ครอบคลุมสาธารณูปโภค 4 ด้าน แม้อียูบอกปัดว่าไม่มีเจตนาแข่งขันกับจีน แต่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นการประชันกับแผน ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอแผนนโยบายต่างประเทศฉบับใหม่ เรียกชื่อว่า ‘Asia connectivity strategy’ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการเชื่อมโยงยุโรปกับเอเชียใน 4 มิติ นั่นคือ การขนส่ง พลังงาน เครือข่ายดิจิทัล และมิติมนุษย์
คงยังจำกันได้ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม สหรัฐฯร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศแผนที่เรียกว่า ‘Free and Open Indo-Pacific strategy’ ฉะนั้น แผนการของยุโรปดังกล่าว อาจพูดได้ว่า เป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ออกมาประชันกับแผน ‘One Belt, One Road’ ของจีน
ยุทธศาสตร์ของอียูที่ว่านี้เผยแพร่ใน เอกสารความยาว 13 หน้า อธิบายความริเริ่มของยุโรปที่เสนอตัวเข้ามาในย่านเอเชีย หลังจากจีนทุ่มเงินไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ทำโครงการสาธารณูปโภคสารพัด เช่น ระบบราง ถนน ท่าเรือ และอื่นๆ
แผนการ 4 มิติ
อียูบอกว่า ในมิติการขนส่ง จะมีทั้งการเชื่อมโยงทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
ในมิติของเครือข่ายดิจิทัล จะมีทั้งระบบเคลื่อนที่และระบบติดตั้งอยู่กับที่ ตั้งแต่สายเคเบิลจนถึงดาวเทียม รูปแบบหลักก็คือ อินเทอร์เน็ต
ในมิติพลังงาน มีทั้งเรื่องก๊าซธรรมชาติเหลว สายส่งกระแสไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
และสุดท้าย ในมิติมนุษย์ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม ไปจนถึงการเดินทางและการท่องเที่ยว
รูปแบบความร่วมมือ
อย่างที่รู้กัน โมเดลของจีนเน้นการปล่อยเงินกู้แก่รัฐบาลที่ตกลงทำโครงการร่วมกับจีน ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่ามีความเสี่ยงที่ประเทศผู้กู้จะติดกับดักหนี้สิน กู้เงินก้อนมหึมาแล้วไม่มีปัญญาชำระคืน
แต่ภายใต้แผนของอียูนั้น ยุโรปเสนอตัวแบบใหม่ คือ เริ่มตั้งแต่ปี 2021 อียูจะมีกองทุนจำนวน 60,000 ล้านยูโร หรือกว่า 2.27 ล้านล้านบาท ทำหน้าที่เป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุนในกรณีโครงการเกิดความล้มเหลว
อียูไม่ได้ระบุว่า จะใช้เงินจำนวนเท่าใดกับแผนยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเอเชียที่ว่านี้ แต่บอกว่า การที่มีกองทุนดังกล่าวเป็นหลักค้ำประกันจะช่วยให้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนและบรรดาธนาคารเพื่อการพัฒนาได้ ซึ่งอาจระดมได้มากถึง 300,000 ล้านยูโรในช่วงปี 2021-2027
บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอียูมีกำหนดที่จะให้ความเห็นชอบแผนการนี้ในการประชุมในวันที่ 15 ตุลาคม แล้วถัดจากนั้นอีก 3 วัน ผู้นำยุโรปและเอเชียก็จะพบหารือกันที่กรุงบรัสเซลส์
เน้นหลักความยั่งยืน
นับแต่ปี 2013 จีนทำโครงการก่อสร้างตามแผนเส้นทางสายไหมใหม่แล้วในกว่า 60 ประเทศ เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป จนถึงแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม แม้ทุนจีนหลั่งไหลไปครึ่งค่อนโลก แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประเมินว่า แต่ละปี ชาติเอเชียต้องใช้เงินกว่า 1.3 ล้านล้านยูโรในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทุนจีนอย่างเดียวไม่เพียงพอตอบสนองความต้องการนี้ สหภาพยุโรปจึงเสนอตัวให้ความช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง
แม้กระนั้น อียูบอกว่า ยุโรปจะไม่ใช้โมเดลการลงทุนแบบจีน เพราะมองว่า หลายกรณีเป็นการปล่อยเงินกู้ในโครงการที่ไม่ได้จำเป็นสำหรับประเทศเจ้าบ้านอย่างแท้จริง หลายกรณีเป็นโครงการที่ใหญ่โตเกินกว่าเจ้าบ้านจะแบกภาระไหว ทำให้ต้องพึ่งพาจีน
อียูบอกว่า ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเอเชียจะคำนึงถึงกฎกติการะหว่างประเทศ มาตรฐานสากล และบรรทัดฐานต่างๆ เช่น การดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน ความยั่งยืนในด้านการเงินและการบริหารงบประมาณของโครงการ
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า อียูต้องการหันเหทิศทางนโยบายของจีน แจน ไวเดนเฟลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ยุโรป-จีน แห่งสถาบันจีนศึกษาแมร์กาตอร์ในกรุงเบอร์ลิน ให้ความเห็นว่า แผนของอียูเป็นการตอบโต้แผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ยุโรปส่งสารว่า เมื่อทำโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ จีนควรปฏิบัติตามบรรทัดฐาน มาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อมหรือการงบประมาณ อียูมองเห็นโอกาสที่จะสะกิดบอกจีนด้วยโมเดลแบบยุโรป
หลังจากอียูเปิดตัวยุทธศาสตร์นี้ ปักกิ่งแสดงท่าทีขานรับอย่างระมัดระวัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เก็งชวง แถลงเมื่อวันพฤหัสฯว่า จีนหวังว่าอียูจะดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงกับเอเชีย และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างยุโรปกับเอเชีย รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง
เอเชียกำลังเนื้อหอม พี่เบิ้มน้อยใหญ่ต่างเสนอตัวเข้าชิงเค้กใน ‘ตลาดการพัฒนา’ ประเทศเจ้าบ้านดูจะมีตัวเลือกแหล่งทุนมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการทำเมกะโปรเจ็กต์
จากนี้ไป ขึ้นกับรัฐบาลของแต่ละประเทศในเอเชีย ว่าจะเลือกหุ้นส่วนอย่างชาญฉลาดแค่ไหน
อ้างอิง:
- European Commission, 19 September 2018
- Reuters, 19 September 2018
- AFP, 19 September 2018
- GBTimes, 21 September 2018
แฟ้มภาพ: โครงการก่อสร้างรถไฟใต้ดินในเมืองหูหนาน ประเทศจีน ภาพเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 จาก Reuters
Tags: สหภาพยุโรป, Asia connectivity strategy’, สาธารณูปโภค, หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง, One Belt One Road