วง BTS บอยแบนด์จากเกาหลีใต้สร้างประวัติศาสตร์ไปมากมายในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ทางวงมาพร้อมโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดนั่นคือ ‘Connect, BTS’ โปรเจกต์สนับสนุนงานศิลปะระดับโลก ที่จะจัดแสดงผลงานของศิลปินนานาชาติ 22 คน เปิดให้เข้าชมฟรีใน 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ ลอนดอน เบอร์ลิน บัวโนสไอเรส โซล และนิวยอร์ก ตามลำดับ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2020 มีการแถลงเปิดตัวโปรเจกต์อย่างเป็นทางการที่แกลเลอรีเซอร์เพนไทน์ กรุงลอนดอน พร้อมแสดงชิ้นงาน ‘Carthasis’ ดิจิทัลอาร์ตโดยเจค็อบ คุดส์ก์ สตีนเซน (Jacob Kudsk Steensen) ศิลปินชาวเดนมาร์ก ที่จะพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสป่าไม้โบราณเสมือนจริง ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าชมในแกลเลอรี หรือจะเข้าชมผ่านเว็บไซต์ได้ที่ https://catharsis.live/

ในโปรเจกต์นี้ เรายังจะได้เห็นงานประติมากรรมชิ้นใหม่ล่าสุดของเซอร์แอนโทนี กอร์มเลย์ (Antony Gormley) ศิลปินชื่อดังจากอังกฤษ ที่คราวนี้สร้างงานจากเส้นอะลูมิเนียมยาว 60 ฟุต ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ท่าเรือสวนบรูคลินบริดจ์ นิวยอร์ก ซึ่งกอร์มเลย์สารภาพว่าเขาไม่เคยรู้จักวง BTS มาก่อน จนกระทั่งได้เข้าร่วมโปรเจกต์นี้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และเขาต้องทำการบ้านเกี่ยวกับเคป๊อปอย่างหนักทีเดียว

ขณะที่ศิลปินโทมัส ซาราเซโน (Tomas Saraceno) จะสร้างสถิติส่งมนุษย์ขึ้นไปบนบอลลูนที่ใช้เพียงพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยจะจัดแสดงในกรุงบัวโนสไอเรส หรือศิลปิน คัง ยียุน ที่จะแปลงท่าเต้นของวง BTS เป็นงานศิลปะบนกำแพงย่านทงแดมุน กรุงโซล นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินท่านอื่นๆ อีกมากมายในเมืองต่างๆ ซึ่งทั้งหมดได้รับเงินสนับสนุนจากสมาชิกวง BTS ทั้งเจ็ดคน

โปรเจกต์นี้น่าจะทำให้ให้ศิลปะร่วมสมัยได้เข้าสู่สายตาผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ อย่างน้อยก็ในกลุ่มแฟนคลับของวงโดย คิม นัมจุน หัวหน้าวง BTS กล่าวถึงโปรเจกต์นี้ว่า

“ศิลปะร่วมสมัยกับวงการดนตรีถือเป็นสองโลกที่แตกต่างกัน โปรเจกต์นี้จึงมีความหมายกับพวกเรามากๆ เพราะมันเป็นการแสดงออกถึงความแตกต่างหลากหลาย และยังสร้างกลุ่มก้อนใหม่ๆ ส่งพลังบวกออกไปสู่โลก พวกเราหวังว่าโปรเจกต์นี้จะสามารถตอบแทนความรักและการสนับสนุนให้กับอาร์มี่—แฟนคลับของเรา รวมถึงผู้ชมทุกๆ คน” 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวง BTS ได้พยายามสอดแทรกเนื้อหาทางวัฒนธรรมลงไปในผลงานของพวกเขาเสมอ และแฟนคลับของวงก็ตีความออกมาหลายต่อหลายข้อ เช่นการใส่กลิ่นอายของนวนิยาย Damian โดยเออร์มาน เฮสเส ลงในมิวสิกวิดีโอ Blood, Sweat and Tears หรือในอัลบั้มล่าสุด Map of the Soul: Persona ก็มีคนตีความว่าได้อ้างอิงมาจากทฤษฎีบุคลิกภาพของนักจิตวิทยาชื่อดัง คาร์ล ยุง 

 

ที่มา:

https://www.connect-bts.com/footer/about_connect.jsp

https://www.dazeddigital.com/music/article/47462/1/connect-bts-global-art-exhibition-project-what-you-need-to-know

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-51106206

https://www.nytimes.com/2020/01/14/arts/design/bts-antony-gormley.html

Tags: